ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 986 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83154
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันศุกร์ที่  9  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


-  ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้บางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนในเกณฑ์กระจายร้อยละ 40 ของพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- สมาคมผู้นำเข้ารถยนต์ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์นำเข้าของญี่ปุ่นในปี 2557 ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ปรับตัวลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสู่ระดับ 335,960 คัน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการผลิตในต่างประเทศ


- จีนได้อนุมัติมาตรฐานใหม่สำหรับยางคอมปาวด์ (Compound rubber) ที่จะลดปริมาณยางธรรมชาติที่ใส่ลงในส่วนผสมซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่โดยการเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์ของจีน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎคม 2558 จะกำหนดเพดานส่วนผสมยางธรรมชาติในยางคอมปาวด์ไว้ที่ร้อยละ 88.0 ลดลงจากร้อยละ 95.0 - 99.5 ก่อนหน้านี้


3. สต๊อคยาง


- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีจำนวน 11,471 ตัน เพิ่มขึ้น 327 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 จากระดับ 11,090 ตัน ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2557


4.เศรษฐกิจโลก


- รัฐบาลเยอรมนี เปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคการผลิตของเยอรมนีปรับตัวลดลงอย่างมากในเดือนพฤศจิกายน โดยเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนก่อนหน้า โดยรายงานระบุว่าคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.8 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในเดือนตุลาคม


- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่าแนวโน้มเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าวิตกมากขึ้น และสหรัฐฯอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ได้จนกว่าจะครบปี 2561 เข้าจึงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่าไม่ควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนกว่าปี 2559 เพราะถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวแข็งแกร่งแต่เฟดควรคำนึงถึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่าตัวเลขยอดค้าปลีกของยูโรโซนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในเดือนพฤศจิยายน ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ในอียู


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่สหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 0.4 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนลดลงร้อยละ 1.6 และลดลงร้อยละ 1.8 ในอียู โดยการลดลงดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง


- ธนาคารกลางอังกฤษ (BOJ) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.5 เมื่อวานนี้ นอกจากนี้ยังได้คงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ (5.6 แสนล้านดอลลาร์) ทั้งนี้ BOJ ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 70 ติดต่อกัน (ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2009)


5. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.85 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่า 0.02 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 119.58 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่า 0.10 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- ยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี เมื่อวานนี้ โดยอ่อนค่าลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหม่ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดในยูโรโซน


6. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือน กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 48.79 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ระบุว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลง ซึ่งบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ  อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในกรอบจำกัด เพราะได้รับแรงกดดันจากสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันล้นตลาด


-นายจอร์จ โซรอส นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีฉายาพ่อมดการเงิน ออกมาเตือนว่ารัสเซียมีความจำเป็นที่จะให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อให้งบประมาณสมดุลและหากรัสเซียผิดนัดชำระหนี้ก็จะส่งผลให้ระบบการเงินของโลกหยุดชะงักลง


7. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 196.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.7เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 206.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 164.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


8. ข่าว


- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งใหม่ลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้สัญญาณตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้กระทรวงระบุว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นของสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 294,000 ราย สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 3 มกราคม


- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (สแตนดาร์ด) ประกาศปรับกลยุทธ์ของทางธนาคารครั้งใหม่ด้วยการปิดธุรกิจหลักทรัพย์ทั่วโลกและปลดพนักงานในธุรกิจลูกค้ารายย่อย(รีเทลแบงกิ้ง) หลังจากกำไรในปีที่แล้วลดลงจากการทรุดตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการชะลอตัวในประเทศตลาดเกิดใหม่


- ผลการสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่าชาวญี่ปุ่นที่ถูกสำรวจส่วนใหญ่รู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตที่ย่ำแย่ลงมากกว่าในช่วงใดๆ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากรายได้ที่ลดลงและราคาสินค้าที่สูงขึ้น


9. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้ เพราะโดยภาพรวมผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดน้อย หลังจากที่เกิดภาวะฝนตกหนักทางภาคใต้ของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายยังมีความต้องการซื้อเพื่อสต๊อคใช้ส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า


แนวโน้ม   ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโตเกียว เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลด้านแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซน  นอกจากนี้ราคายางยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อย หลังจากพื้นที่ปลูกยางในไทยและมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงสิ้นปี  ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยออกมาเพื่อกระตุ้นราคายาง   อย่างไรก็ตามราคายางยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ และความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยางธรรมชาติของจีนลดลง หลังจากจีนปรับลดส่วนผสมยางธรรมชาติในการผลิตยางคอมปาวด์


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 09, 2015, 12:51:39 PM โดย Rakayang.Com »