วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยทั่วไปยังคงมีอากาศเย็น ภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้องค์การสินค้า (อคส.) รับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ทั้งยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน รวมประมาณ 1 แสนตัน ในราคานำตลาด ซึ่งหลังจากรับซื้อแล้วจะนำยางเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานรัฐที่มีความต้องการ
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิตสหภาพยุโรประบุว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนปรับลดลงมากในเดือนพฤศจิกายน โดยลดลงร้อยละ 0.7 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ถึง 2 เท่า
- สถาบัน Ifo (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเยอรมัน) สำนักงานสถิติฝรั่งเศส และสำนักงานสถิติอิตาลี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังคงฟื้นตัวปานกลางแม้มีความเสี่ยง โดยสถาบันทั้ง 3 แห่งประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2558 และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับหลายไตรมาสก่อนหน้านี้
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป เดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี
- ธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่าตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อมูลเบื้องต้น
- สำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า ยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศปี 2558 อยู่ที่ 3.69 ล้านล้านหยวน (5.62 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.7 จากปีก่อน โดยรายงานระบุว่ายอดส่งออกของจีนปี 2558 ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 14.14 ล้านล้านหยวน ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 13.2 อยู่ที่ 10.45 ล้านล้านหยวน
- สำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า ยอดส่งออกเดือนธันวาคมปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลงร้อยละ 3.7 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลงร้อยละ 5.6 ในเดือนพฤศจิกายน
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาบอสตัน กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่กำลังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป
- ผลสำรวจของ Investors Intelligence (II) พบว่า ในสัปดาห์ที่แล้วความเชื่อมั่นของที่ปรึกษาทางการเงินในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับร้อยละ 28.6 จากร้อยละ 34.7 ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 35.7 จากร้อยละ 31.6
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า ภาวะผันผวนจากจีนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อาจเป็นสาเหตุทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หลังจากที่ได้ปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีในเดือนก่อน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลล 0.09 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 117.43 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.79 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 30.48 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.04 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในสัปดาห์ที่แล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 30.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.55 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2547
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 234,000 บาร์เรล สู่ระดับ 482.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 140.8 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.7 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 152.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.8 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 123.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 6.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนองของสหรัฐฯ (MBA) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 25.5 ในเดือนตุลาคม 2558
- บริษัทวิจัยของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ปี 2558 บริษัทล้มละลายในญี่ปุ่น ซึ่งมีหนี้อย่างน้อย 10 ล้านเยน มีจำนวนลดลงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับปี 2557 อยู่ที่ 8,812 แห่ง โดยเป็นการปรับลดลงเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และต่ำกว่าระดับ 9,000 แห่งเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้อีก จากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุปทานยางที่อาจจะลดลงเร็วเพราะความแห้งแล้ง และการประกาศซื้อยางของรัฐบาลจะทำให้ปริมาณยางในตลาดน้อยลงอีก ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเร่งซื้อเพื่อเก็บสต๊อคไว้ในช่วงฤดูยางผลัดใบ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าและความกังวลเกี่ยวกับอุปทานยางออกสู่ตลาดน้อย จากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ทำให้ฤดูยางผลัดใบเริ่มเร็วขึ้น ประกอบกับการประกาศรับซื้อยางของรัฐบาลไทยในราคานำตลาด ซึ่งมองว่าเป็นข่าวดีเชิงจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ และราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงจากการแข็งค่าของเงินเยน อีกทั้งการเทขายเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวานนี้ ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา