My Community
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว:
SMF - Just Installed!
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
My Community
»
ข่าวที่มีผลต่อราคายาง
»
ข่าวทั่วไป
»
กูรูวิเคราะห์ "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า: [
1
]
ผู้เขียน
หัวข้อ: กูรูวิเคราะห์ "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก (อ่าน 187 ครั้ง)
Rakayang.Com
Administrator
Hero Member
กระทู้: 85219
กูรูวิเคราะห์ "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก
«
เมื่อ:
พฤศจิกายน 02, 2024, 12:08:48 PM »
กูรูวิเคราะห์ "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก
เรื่องราวโดย Thansettakij ? 1 วัน ? อ่าน 2 นาที
?ฐานเศรษฐกิจ? รวบรวมความคิดเห็น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จากผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทย มองว่าทั้งเวทีการเลือกตั้งครั้งนี้ ?โดนัลด์ ทรัมป์? และ ?กมลา แฮร์ริส? ต่างมีแนวนโยบายที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งผลบวกและลบที่จำเป็นต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทรัมป์มาสงครามการค้าแรงขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลหาก ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ อาจสั่งให้มีการตรวจสอบประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ และใช้มาตรการทางการค้า เพื่อลดการขาดดุลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
ในครั้งนั้นได้ระบุไทยดำเนินมาตรการที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเกินจริง ทำให้ได้เปรียบการแข่งขันและได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มาก ในสมัยทรัมป์ ไทยอยู่ในลำดับที่ 14 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรที่รุนแรงกับไทยนัก แต่ใช้วิธีการเจรจาต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ขณะมุ่งไปที่จีนที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 โดยสั่งขึ้นภาษีสินค้าจากจีนหลายพันรายการ นำสู่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
?หากถามว่าถ้าทรัมป์กลับมาในรอบนี้ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่เป็นคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากอย่างน้อย 10-20% ตามที่เคยประกาศไว้ ซึ่งปัจจุบันไทยขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 12 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ และกรณีพิเศษคือจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอย่างน้อย 60% ถึง 100% แล้วแต่สินค้า แต่หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี การค้าไทย-สหรัฐฯ คงไม่กระทบมาก เพราะนโยบายโดยรวมคงไม่ต่างไปจากสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดียวกัน?
ส่วนสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ปัจจุบันยังมีหลายคู่ของโลก โดยที่เป็นสงครามจริงคือรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-อิหร่านที่ยังตอบโต้กันไปมา สงครามอิสราเอลกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง รวมถึงยังมีความขัดแย้งในหลายภูมิภาคที่สถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามด้วยอาวุธจริง
นายเกรียงไกร ให้ความเห็นว่า หากทรัมป์ได้รับชัยชนะกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทรัมป์ เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติภายในหนึ่งวัน โดยจะคุยกับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย จากที่มีความคุ้นเคยและสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวมานาน
หากทำได้จริงอาจทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายลง แต่อาจจะย้ายไปเป็นอิสราเอลกับอิหร่านในตะวันออกกลางที่อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้นแทน เพราะทรัมป์มีความสนิทสนมและยังให้การสนับสนุนอิสราเอล ภายใต้การนำของรัฐบาลเบนจามิน เนทันยาฮู
ส่วนความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน (ระหว่างไต้หวันกับจีน) ทรัมป์ประกาศว่า จากนี้หากไต้หวันต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปช่วยหรือคงการสนับสนุน ไต้หวันต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ซึ่งหมายถึงไต้หวันต้องมีต้นทุน และต้องมีผลตอบแทนให้สหรัฐฯ ตรงนี้อาจทำให้ผู้นำไต้หวันต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรหากทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี
ขณะที่ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทรัมป์ ในสมัยที่เป็นประธานาธิบดีได้ไปเยือนคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือแบบตัวต่อตัวมาแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ตรงนี้อาจจะคลี่คลายดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในกรณีแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ คาดจะยังคงไม่ต่างจากสมัยโจ ไบเดน มากนัก โดยสหรัฐฯ จะยังเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างประเทศในทุกๆ พื้นที่ของโลก และยังร่วมมือกับนาโต เพื่อยังคงเป็นผู้นำโลก
ทั้งนี้คาดสงครามในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังยืดเยื้อต่อไป ส่วนความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ คาดจะยังมีสูงเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่องแคบไต้หวัน ช่องแคบเกาหลี ทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ซึ่งความตึงเครียดอาจแปรเปลี่ยนไปสู่สงครามใหญ่ได้
มั่นใจไทยปรับตัวได้กับปธน.ใหม่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จะหันไปฟื้นฟูและพึ่งพาตัวเอง (America First) มากขึ้น ขณะที่ผู้นำของประเทศทางยุโรปหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า เอกภาพระหว่างสหรัฐฯ กับสมาชิกนาโตจะเปลี่ยนไปในทางลบ การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่ยูเครนจะสิ้นสุดลง นำสู่ความเปราะบางในภูมิภาคยุโรป
ขณะที่บทบาทของเกาหลีเหนือ และการพัฒนาทางการทหารของจีนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะกดดันให้ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มการลงทุนด้านการทหาร จะเขย่าสมการการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงไต้หวันซึ่งลงทุนในไทยจำนวนมาก จะส่งผลกระทบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ในไทย ที่จะถูกอุตสาหกรรมทหารแย่งชิงทุนไป
ส่วนสงครามการค้ากับจีน หากทรัมป์สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 60% ขึ้นไป จะทำให้สินค้าเพียงบางส่วนจากจีนเข้าสหรัฐฯ ได้ ที่เหลือต้องหาที่อื่นลง เนื่องจากจีนไม่มีนโยบายปรับลดการผลิต สินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทยต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลแฮร์ริสจะมีนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงสืบต่อจากยุคไบเดนอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีแรก และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของประธานาธิบดีแฮร์ริสเอง
?ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะมีผลออกมาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของประเทศไทยเรามั่นใจว่า จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้สหรัฐฯ เป็นตลาดและเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งต่อไป? นายสนั่นระบุ
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงในเรื่องของนโยบายทางการค้า
เบื้องต้นสงครามการค้ากับจีนจะยังคงดำเนินการต่อไปแม้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่เหมือนกัน และหากกรณีกมลา แฮร์ริส ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นโยบายหลายอย่างคงสานต่อจากนโยบายเดิมของโจ ไบเดน ความขัดแย้งต่างๆ ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ในการหาเสียงมีนโยบายปรับลดการสนับสนุนนาโต ความขัดแย้งทางฝั่งยูเครนและรัสเซียน่าจะมีทางออก และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่โซนตะวันออกกลางยังมองไม่เห็นหนทางเท่าไร
โอกาสเปลี่ยนสนามรบการค้าเป็นสนามลงทุน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความคิดเห็นกับ ?ฐานเศรษฐกิจ? ว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังเป็นที่จับตามองทั่วโลก หากวิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมา หาก ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง นโยบายการค้าก็จะมุ่งออกนอกระบบการค้าเสรีใช้ ?Trade Protectionist? ภายใต้ ?American First? เข้มงวดกับการค้าการลงทุนหลายประเทศ มีจีนเป็นเป้าหมาย สินค้าสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนจากสินค้าจีนได้
หากไทยนำกลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ใช้ประโยชน์จากการกีดกันทางการค้าการลงทุนดึงจีน และสหรัฐฯ มาใช้ฐานการผลิตของไทย ?เปลี่ยนสนามรบการค้าเป็นสนามลงทุนในประเทศไทย?
นโยบายการใช้กฎหมายในการแทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศที่ประเมินความเป็นภัยทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ โดยใช้กฎหมาย The International Emergency Economic Power Act (IEEPA) ในสมัยของทรัมป์ ประกาศใช้ถึง 13 ครั้ง จาก 69 ครั้งที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่ปี 1977 ขณะที่ไบเดนใช้ไปเพียง 6 ครั้ง
รับมือจุดเปลี่ยนส่งออก-ความมั่นคงโลก
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดำเนินมากว่า 7 ปี ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ก็ขยายตัว
?กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นดาวเด่น มียอดส่งออกเติบโตถึง 7 เท่าในรอบ 10 ปี ขณะที่ยางล้อรถยนต์ขยายตัว 2 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย? ดร.ชัยชาญกล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธาน สรท. ระบุว่า ความท้าทายของไทยคือการรักษาสมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน พร้อมสร้างความน่าสนใจด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการผลิต ทั้งด้านต้นทุน ค่าพลังงาน ค่าแรง และระบบโลจิสติกส์ เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้การขนส่งไปยุโรปต้องอ้อมแอฟริกาใต้ เพิ่มระยะเวลา 10-20 วัน ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนค่าระวางเรือในอนาคตหากอุปสงค์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ โดยควรเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและความยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของไทย
?ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ หรือกมลา แฮร์ริส นโยบายการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงมีความซับซ้อนและยืดเยื้อ ไทยจำเป็นต้องวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมและรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ? ดร.ชัยชาญกล่าวสรุป
บันทึกการเข้า
พิมพ์
หน้า: [
1
]
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
My Community
»
ข่าวที่มีผลต่อราคายาง
»
ข่าวทั่วไป
»
กูรูวิเคราะห์ "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก