ทำไมหุ้นจีนดิ่งหนัก รอบ 4 ปี แม้รัฐบาลอัดมาตรการ "บาซูก้า" กระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วงเดือนกันยายน เราจะเห็นความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีนปรับดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายคนมองว่าช่วงขาขึ้นของหุ้นจีนมาถึงแล้ว หลังจากทำผลงานแย่ที่สุดในภูมิภาคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลามฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ โดยวันที่ 30 ก.ย. ดัชนี CSI 300 ปิดตลาดที่ 8.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
ทั้งนี้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนเป็นผลมาจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบรัวๆ ของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ Pan?s Package เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5% โดยเน้นไปที่การลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน ต่อมาในวันที่ 25 ก.ย. รัฐบาลกลางได้ประกาศมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม โดยแจกเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแบบให้ครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงหยุดยาววันชาติจีน (Golden week) ระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค.
นอกจากนี้ คณะกรรมการโปลิตบูโร นำโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้จัดการประชุมเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อรักษาเสถียรภาพในภาคอสังหาฯ ด้วยการสนับสนุนโครงการเดิมที่มีอยู่ และควบคุมโครงการใหม่ที่กำลังจะสร้าง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่น 3 เมืองใหญ่ของจีน กวางโจว เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ทยอยประกาศลดข้อจำกัดการซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
แต่แล้วกระแสเงินทุนที่เริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นจีนก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อนักลงทุนผิดหวังกับการแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (NDRC) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงเทขายอย่างหนักในวันต่อมา โดยดัชนี CSI 300 ร่วงลง 7.1% ในการปิดตลาด ซึ่งเป็นการลดลงรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563
นักลงทุนคาดหวังอะไร จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
ต้องท้าวความก่อนว่า สาเหตุที่รัฐบาลจีนต้องกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานใหญ่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เพราะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตไม่ถึงระดับเป้าหมายที่ 5% แม้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ไปแล้วเมื่อกลางปี แต่ก็ยังไม่สามารถฟื้น sentiment การบริโภคในประเทศที่ซบเซาได้
นับตั้งแต่ธนาคารกลางจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 3 มาตรการหลัก ได้แก่
1. การอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดหุ้น
2. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและการลดอัตราการกันสำรอง (RRR) เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม
3. ปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำและลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มสัดส่วนการกู้ยืมในโครงการ Re-lending เพื่อลดภาระหนี้ครัวเรือน กระตุ้นให้คนซื้อบ้านง่ายขึ้น
ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงก็กลับมาฟื้นตัวแรง นำโดยหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาฯ และเทคโนโลยี สะท้อนว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ทำให้นักลงทุนจับตามองการแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (NDRC) หลังพ้นช่วงวันหยุดยาวชาติจีนเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา
แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเมื่อ NDRC ไม่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย นอกจากใช้เครื่องมือเดิมๆ อย่างการออกพันธบัตรท้องถิ่นพิเศษ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้กับรัฐบาลท้องถิ่น สวนทางกับตลาดที่คาดหวังให้ออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคโดยตรง
โดยมีไฮไลท์สำคัญคือ การเร่งให้หน่วยงานท้องถิ่นออกพันธบัตรพิเศษ วงเงินจำหน่ายคงเหลือจำนวน 290,000 ล้านหยวน ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยยอดสะสม ณ สิ้นเดือนกันยายน มีการจำหน่ายพันธบัตรพิเศษท้องถิ่นไปแล้ว 2.83 ล้านล้านหยวน จากวงเงินจำหน่าย 3.12 ล้านล้านหยวน (4.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
รวมถึงเร่งให้เบิกจ่ายงบประมาณล่วงหน้า โดยรัฐบาลจีนจะนำงบประมาณกลางที่เตรียมไว้สำหรับปี 2569 จำนวน 100,000 ล้านหยวน มาใช้ในปีนี้เพื่อเร่งการลงทุนในโครงการต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนจะผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. หุ้นจีนปรับดีขึ้น โดยดัชนี CSI 300 ปรับเพิ่มขึ้น 3% ในการซื้อขายช่วงเช้า ก่อนจะปิดตลาดที่ 1% เนื่องจากสำนักงานสารนิเทศของสภาแห่งรัฐจีน (SCIO) เปิดเผยว่าจีนจะจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายการคลังในวันที่ 12 ต.ค. นี้ ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ความชัดเจนของนโยบายการคลังจะช่วยให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของ NDRC ดำเนินการได้ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดและใช้งบประมาณ ซึ่งหากมีการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจจริง
ด้านธนาคารต่างๆ เช่น Morgan Stanley และ HSBC คาดว่าในปีนี้ จีนจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์) ในขณะที่ Citigroup คาดการณ์ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ปัจจุบันขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จีนเผชิญอยู่ ทั้งนี้ ในปี 2551 ทางการจีนกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 15% ของ GDP จีน ในขณะที่แพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้เฉพาะที่เป็นตัวเงินคิดเป็น 3.3% ของ GDP