ผู้เขียน หัวข้อ: ลดภาษีดีเซล ทำสรรพสามิตจัดเก็บรายได้พลาดเป้า  (อ่าน 135 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

ลดภาษีดีเซล ทำสรรพสามิตจัดเก็บรายได้พลาดเป้า
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 2566)--นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ม.ค.66) ว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายราว 10% จากเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 5.67 แสนล้านบาท สาเหตุหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จึงทำให้สูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
           ตั้งแต่ ต.ค.65 ถึง ม.ค.66 กรมฯ สูญเสียรายได้จากการลดภาษีน้ำมันไปแล้ว 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งภาษีน้ำมัน คิดเป็น 40% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต  นายเอกนิติกล่าว
          ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้จากภาษีอื่น ๆ นั้น สามารถทำได้เกินกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะภาษีรถยนต์ ที่ช่วงนี้การจำหน่ายรถยนต์กลับมาคึกคักมากขึ้น สามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายถึง 10% เช่นเดียวกับภาษีสุรา-เบียร์ ที่เก็บได้เกินเป้าหมาย 10% และภาษีเครื่องดื่ม ที่เก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมาย 10% เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ด้วยการดึงระบบดิจิทัลเข้ามาเสริม
          นายเอกนิติ กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าว่า ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้เห็นชอบหลักการเรียบร้อยแล้ว โดยจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 1% รวมทั้งให้วงเงินสนับสนุน 2.4 หมื่นล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า
          ขณะที่กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างศึกษาว่าการลดภาษีแบตเตอรี่ดังกล่าว ควรต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในเงื่อนไข อาจจะให้มีเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานด้วย
           ตอนนี้กำลังทำโครงสร้างภาษี หลังจากบอร์ดอีวีได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเร่งเสนอให้ ครม. พิจารณา คาดว่าจะออกมาในรูปของกฎกระทรวง ส่วนเรื่องเงินสนับสนุนนั้น บอร์ดอีวีมอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นผู้ของบประมาณ คาดว่าปีแรกจะใช้งบกลาง ส่วนการลดภาษีเหลือ 1% นั้น จะไม่กระทบกับรายได้ของกรมฯ มากนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่  นายเอกนิติ กล่าว
          อย่างไรก็ดี การลดภาษีแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% นี้ ยังไม่ครอบคลุมแบตเตอรี่ปกติที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยในส่วนนี้ยังคงเสียภาษีอัตรา 8% อยู่ แต่กรมฯ ก็จะมีการพิจารณาและศึกษาแนวทางในการลดภาษีดังกล่าวควบคู่กับไปด้วย โดยอยู่บนเงื่อนไขเดียวกันคือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิล โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปพร้อมกัน
โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา คงขุนเทียน