ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 11 กุมภาพันธ์ 2566  (อ่าน 128 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84531
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 169.39 จุด ขานรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่ม
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ดัชนี Nasdaq ปิดลบจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประสานเสียงเตือนว่า เฟดยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
          ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,869.27 จุด เพิ่มขึ้น 169.39 จุด หรือ +0.50% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,090.46 จุด เพิ่มขึ้น 8.96 จุด หรือ +0.22% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,718.12 จุด ลดลง 71.46 จุด หรือ -0.61%
          ข้อมูลจาก Dow Jones Market Data บ่งชี้ว่า ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.2%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.1% และดัชนี Nasdaq ลดลง 2.4%
          ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันและเป็นการปรับตัวลงเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 16 ธ.ค. ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดลบในสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกหลังจากปิดบวก 5 สัปดาห์ติดต่อกัน
          ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ หลังการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 66.4 ในเดือนก.พ. โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.1 จากระดับ 64.9 ในเดือนม.ค.
          นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 72.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 62.3
          แต่ดัชนี Nasdaq ปิดลดลง หลังหุ้นเติบโตรายใหญ่ ๆ เผชิญแรงกดดัน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้น และหุ้นลิฟต์ (Lyft) ซึ่งให้บริการเรียกรถรับส่ง ร่วงลง หลังคาดการณ์แนวโน้มผลกำไรที่ซบเซา
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน หลังการประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปีเมื่อวันพฤหัสบดีเป็นไปอย่างซบเซา
          หุ้นส่วนใหญ่ในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 3.92% ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง 1.22%
          หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามราคาน้ำมันในวันศุกร์ หลังจากรัสเซียเปิดเผยแผนการที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันดิบ
          หุ้นลิฟต์ ร่วง 36.44% ขณะที่หุ้นอูเบอร์ ซึ่งเป็นคู่แข่ง ร่วง 4.43%
          ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) บ่งชี้ว่า บริษัทในดัชนี S&P500 มากกว่าครึ่งรายงานผลประกอบการออกมาแล้ว โดย 69% รายงานผลกำไรสูงกว่าคาดในไตรมาส 4/2565
          บรรดานักลงทุนจะรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐประจำเดือนม.ค.ในวันอังคารหน้า
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง 1.66 ดอลลาร์ หลังรัสเซียประกาศแผนลดการผลิตน้ำมัน
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (10 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากความกังวลว่าตลาดน้ำมันจะตึงตัว หลังจากรัสเซียประกาศแผนการที่จะปรับลดการผลิตน้ำมัน
          ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 79.72 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 8.6% ในรอบสัปดาห์นี้
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.89 ดอลลาร์ หรือ 2.24% ปิดที่ 86.39 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.1% ในรอบสัปดาห์นี้
          ตลาดน้ำมันได้แรงหนุน หลังนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า รัสเซียจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
          ขณะเดียวกัน นายโนวัคกล่าวว่า รัสเซียจะไม่จำหน่ายน้ำมันให้แก่ชาติที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซีย
          นายโนวัคระบุว่า การกำหนดเพดานราคาดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงความสัมพันธ์ในตลาด และเป็นนโยบายของชาติตะวันตกในการทำลายตลาดพลังงาน
          นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการที่ตุรกีสั่งปิดท่าเรือเจย์ฮันหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยท่าเรือเจย์ฮันนั้นเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่ส่งออกน้ำมันดิบมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนม.ค. หรือคิดเป็น 1% ของปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก และส่วนใหญ่มีการส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $4 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์เพิ่มถ่วงราคา
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (10 ก.พ.) โดยราคาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 1,874.5 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 6.8 เซนต์ หรือ 0.31% ปิดที่ 22.075 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.4 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 951.8 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 91.8 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 1,524.9 ดอลลาร์/ออนซ์
          ดอลลาร์ที่แข็งค่าจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
          ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% สู่ระดับ 103.6290 โดยดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 66.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.1 จากระดับ 64.9 ในเดือนม.ค.
          นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 72.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 62.3
          นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคาทองจะยังคงปรับตัวในกรอบแคบ ๆ ขณะนักลงทุนรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันอังคารหน้า (14 ก.พ.)
          นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช