ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 19 มกราคม 2566  (อ่าน 135 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85111
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 613.89 จุด วิตกศก.ถดถอย-เฟดเดินหน้าขึ้นดบ.
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (18 ม.ค.) โดยดาวโจนส์ และ S&P500 ต่างก็ดิ่งลงเกือบ 2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,296.96 จุด ร่วงลง 613.89 จุด หรือ -1.81%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,928.86 จุด ลดลง 62.11 จุด หรือ -1.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,957.01 จุด ร่วงลง 138.10 จุด หรือ -1.24%
          ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค. ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.8% เนื่องจากผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง รวมทั้งการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งกระทบต่อยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน
          ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.8% และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.7% ในเดือนธ.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.6% ในเดือนพ.ย.
          มิเชล เรย์โนลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Glenmede กล่าวว่า ข้อมูลที่มีการเปิดเผยล่าสุดทำให้นักลงทุนกังวลว่า การที่เฟดพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินนั้น กำลังส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
          นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งรวมถึงนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟด สาขาคลีฟแลนด์ ที่ออกมาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 5% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย
          หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคดิ่งลง 2.65% และดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลง 2.41% ทั้งนี้ หุ้นพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ดิ่งลง 2.69% หุ้นโคคา-โคลา ร่วงลง 3.02% หุ้นคิมเบอร์ลีย์-คล้าค ร่วงลง 2.97% หุ้นพีจีแอนด์อี คอร์ปอเรชั่น ร่วงลง 1.64%
          หุ้นโมเดอร์นา พุ่งขึ้น 3.32% หลังจากโมเดอร์นาเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เพื่อป้องกันโรคไวรัสทางเดินหายใจ (RSV) ซึ่งพบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 83.7% ในการป้องกันอาการป่วยได้อย่างน้อยสองอาการ อาทิ อาการไอและมีไข้ ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป โดยไวรัส RSV ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคหวัด แต่อาจมีอันตรายถึงชีวิตสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
โดย รัตนา พงศ์ทวิช

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ 70 เซนต์ กังวลเศรษฐกิจถดถอย
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (18 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ซึ่งบดบังปัจจัยบวกจากความหวังที่ว่าการเปิดประเทศของจีนจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมัน
          ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 79.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 84.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
          ในช่วงแรกนั้น สัญญาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นขานรับความหวังที่ว่า การเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้ปัจจัยหนุนในช่วงแรกจากการคาดการณ์ที่ว่า มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันซึ่งชาติตะวันตกบังคับใช้กับรัสเซียนั้นจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง
          แต่สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงในเวลาต่อมา หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค. ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.8% เนื่องจากผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง รวมทั้งการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งกระทบต่อยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน
          ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.8% และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.7% ในเดือนธ.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.6% ในเดือนพ.ย.
          นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟด สาขาคลีฟแลนด์ ต่างก็ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 5% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย
          นักลงทุนจับตาตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้
โดย รัตนา พงศ์ทวิช

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $2.9 กังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (18 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 2.9 ดอลลาร์ หรือ 0.15% ปิดที่ระดับ 1,907 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 42.1 เซนต์ หรือ 1.75% ปิดที่ 23.647 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3.2 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,043.7 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 28 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,706 ดอลลาร์/ออนซ์
          ในช่วงแรกนั้น สัญญาทองคำพุ่งขึ้นทะลุระดับ 1,920 ดอลลาร์ โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
          แต่สัญญาทองคำอ่อนแรงลงในเวลาต่อมา หลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ต่างก็ออกมาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 5% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย
          ทางด้านนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียได้แสดงความเห็นล่าสุดว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยสนับสนุนให้เฟดชะลอความเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัวลง
โดย รัตนา พงศ์ทวิช