วัดช่วงชก 3เสือยางพาราไทย ไขปม"วงศ์บัณฑิต"เสือลำบาก25 Aug 2019 ที่มา ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์ถอดสูตรคุยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3499 หน้า 7 วันที่ 25- 28 สิงหาคม 2562โดย บรรทัดเหล็ก กลายเป็นข่าวสะเทือนวงการยางพาราของไทย เมื่อบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกยางพารา ยางธรรมชาติอันดับ 3 ของประเทศ ไทย ตกอยู่ในภาวะเสือลำบาก ท่ามกลางการจับตาดูอย่างใกล้ชิดของคนในวงการอุตสาหกรรมยางพาราว่า ?ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต? จะสามารถนำพาธุรกิจของตระกูลที่ในอดีตเคยก้าวขึ้นไปยืนเป็นอันดับ 1 ผู้ส่งออกยางพาราในตลาดโลก ผ่านพ้นวิกฤติที่ถาโถมเข้ามาได้หรือไม่
ถ้าพลิกดูผลประกอบการของบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัทเริ่มมีปัญหาการดำเนินธุรกิจขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ที่มีรายได้รวม 25,297.67 ล้านบาท รายจ่ายรวม 25,266 ล้านบาท ส่ง ผลให้ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 76.33 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 32,718.38 ล้านบาท รายจ่าย 33,375.15 ล้านบาทส่งผลให้ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 893.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,071.12% เมื่อเทียบกับปี 2559
ปี 2561 มีรายได้ 28,735.62 ล้านบาท รายจ่ายรวม 29,985.02 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1,253.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.17% เมื่อเทียบกับปี 2560
23 เมษายน 2561 ?วงศ์บัณฑิต? ตัดสินใจปิดกิจการบริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานการผลิตใน 3 จังหวัด คือ 1. จังหวัดชุม พร ได้แจ้งเลิกกิจการ บริษัท วงศ์บัณฑิต ชุมพร จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และบริษัท วงศ์บัณฑิต ชุมพร เอ็น อาร์ จำกัด 2. จังหวัดสุราษฎร์ธานี แจ้งเลิกกิจการ บริษัท วงศ์บัณฑิต สุราษฎร์ธานี จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และ 3. จังหวัดอุดรธานี แจ้งเลิกกิจการบริษัท วงศ์บัณฑิต อุดรธานี จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ทพ.พงษ์ศักดิ์ ออกมาสยบกระแส ข่าวปิดกิจการ ยืนยัน ?บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ ข่าวที่ได้รับเป็นเพียงการปรับกำลังการผลิตตามสภาวะตลาด และผลผลิตที่ลดลงของประเทศไทยและของโลก ดังนั้นจำเป็นต้องปรับตัวให้ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพ ตามระบบเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว?
ว่ากันว่าความสั่นคลอนของ ?วงศ์บัณฑิต? เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปของ 5 เสือส่งออกยางพารา ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ท่ามกลางกระแสข่าว ?ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต? เข้าพบ ?เพิ่ม ธีรศานต์วงศ์? เจ้าของอาณาจักรเซาท์แลนด์รับเบอร์ผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของไทย เพื่อเจรจาซื้อขายธุรกิจ แต่ตกลงราคากันไม่ลงตัว
ต้องยอมรับว่ากว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราต้องเผชิญกับความท้าทาย และแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดโลกตกตํ่า ผู้ประกอบการยางพาราทั้งไทยและต่างประเทศหลายรายต้องม้วนเสื่อออกจากอุตสาหกรรม ขณะที่บางรายต้องตัดใจขายธุรกิจให้กับนักลงทุนรายอื่น
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ
แต่สำหรับวงศ์บัณฑิต กลับเป็นยักษ์ที่ปรับตัวช้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการทำธุรกิจแบบ ?กงสี? หรือธุรกิจครอบครัว
ที่สำคัญคือ สินค้าค้าหลักยังยึดติดกับยางแผ่นรมควัน ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตยางพาราและสินค้ายางพาราได้พัฒนาไปมากและผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ต่างจากกลุ่มบริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ฯ ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของไทย ภายใต้การนำของ ?เพิ่ม ธีรศานต์วงศ์? ที่ปรับตัวขยายอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ปัจจุบันเซาท์แลนด์รับเบอร์ฯ สยายปีกออกไปสร้างฐานการผลิตในหลายประเทศ ทั้ง เยอรมนี จีน แอฟริกา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม
ในปี 2561 ผลประกอบการ เซาท์แลนด์รับเบอร์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะบริษัท เซาท์แลนด์รีซอร์ซ จำกัด บริษัทในกลุ่มเซาท์แลนด์ บริษัทเดียวมีกำไรสูงถึง 1,660 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มจาก 289 ล้านบาท ในปี 2560
ขณะที่ บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 2 ของไทย ภายใต้การนำของทายาทรุ่น 2 "ดร. ไวยวุฒิ สินเจริญกุล" ก็ปรับตัวอย่างต่อเนื่องปัจจุบัน"ศรีตรัง" มีธุรกิจยางพาราที่ครอบ คลุมตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้า กลายเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2561 ประมาณ 10% ของยอดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติรวมทั่วโลก
?ศรีตรัง? ยังเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2561 ประมาณ 6% ของความต้องการบริโภคถุงมือยางทั่วโลก
นอกจากนี้ยังตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม เพื่อเป็นตัวแทนในการจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปยังผู้ผลิตยางล้อชั้นนํา
ถึงตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ความสั่นคลอนที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของวงศ์บัณฑิต เป็นหนึ่งบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการยางพาราไทย
ขอส่งกำลังใจให้ "ทพ.พงษ์ศักดิ์? ผ่านพ้นมรสุมลูกนี้โดยเร็ว