ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวสวนสุดช้ำ ราคายางตกต่อเนื่อง กยท. ผิดพลาด "ลุงกำนัน" นั่งร้าน คสช. ทำเมิน  (อ่าน 837 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ชาวสวนสุดช้ำ ราคายางตกต่อเนื่อง  กยท. ผิดพลาด  "ลุงกำนัน" นั่งร้าน คสช. ทำเมิน

เผยแพร่: 11 พ.ย. 2560 06:03:00   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังหาทางไปขายยางที่ดาวอังคารตามคำแนะนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สำเร็จ เวลานี้ ?เกษตรกรชาวสวนยางและผู้รับจ้างกรีด? ก็จำต้องบากหน้ามาขอร้องให้นายกฯ ช่วยเหลืออีกครั้ง ร่ำๆ กันว่าจะนัดชุมนุมใหญ่แบบไม่กลัวถูกจับไปปรับทัศนคติ เพราะอาการปากหิวท้องแห้งนี่มันน่ากลัวเสียยิ่งกว่าคุกทหาร

ปัญหาราคายางตกต่ำที่ต่อเนื่องกันมาแบบยาวๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะโงหัวขึ้นนั้นมีหลายสาเหตุ แต่การก่อตัวเตรียมปะทุขึ้นของม็อบชาวสวนยางรอบนี้บ่งชี้ว่ามาตรการเยียวยาและการพัฒนาการยางทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ งัดออกมาแก้ไขปัญหาเมื่อคราวก่อนนั้น มีข้อสรุปว่าล้มเหลว

มาตรการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศทั้งทำถนน ทำฝาย ฯลฯ หรือเพิ่มมูลค่า ที่นายกรัฐมนตรีเคยมีบัญชาลงไปถึงวันนี้ก็เป็นแต่เพียงลมๆ เท่านั้น ปัญหาจึงได้วนไปแล้ววนกลับมา

หากจะให้เกษตรกรชาวสวนยางทำความเข้าใจในปัญหาราคายางพาราตกต่ำแบบบมหภาคคือดูภาพรวมทั้งระบบโลกที่ราคายางผูกอยู่กับราคาน้ำมันอย่างที่นายกรัฐมนตรีว่านั่นก็อาจใช่สาเหตุส่วนหนึ่ง

?ไอ้ที่ราคามันตกมันมีหลายประเด็นด้วยกัน อย่างวันนี้ก็เรื่องยาง มันเป็นเรื่องของกลไกตลาด มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ อันที่สองก็เรื่องประเด็นน้ำมัน เขาลดการใช้ยางทุกประเทศ มันอาจจะเป็นสาเหตุไปใช้น้ำมันในการผลิตยางสังเคราะห์มากขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องสร้างการรับรู้เชิงมหภาคให้ได้ ถ้าเรามองแต่เสี้ยวเดียวมันก็มีปัญหา ก็ต้องมาแก้ปัญหาตรงนี้ ต้นทางว่าจะทำยังไง จะทำยังไงยางเราจะไม่มีปริมาณเกินความจำเป็น ยางไม่ซื้อจากต่างประเทศมากนัก การวิจัยภายในประเทศต้องใช้เวลา? พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แต่หลักใหญ่ใจความของปัญหาเฉพาะหน้าที่ซ้ำเติมวิกฤตคราวนี้ต้องบอกว่าเป็นความผิดพลาดและล้มเหลวจากบริหารงานของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดกยท.) และ นายธีธัช สุขสะอาด นั่งเป็นผู้ว่าฯ กยท. องค์กรที่ ?รัฐบาลบิ๊กตู่? เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาแก้ไขปัญหายาง ภายใต้วิสัยทัศน์ก้าวไกลโดยต้องการให้ ?กยท.เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ? นั่นเลยทีเดียว

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เกิดจากการรวม 3 หน่วย ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง ตาม พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  มีวัตถุประสงค์ให้เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับเงินของกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย พัฒนา เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพาราและดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปลูกแทนและการปลูกใหม่

 องค์กรนี้ ยังจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น บริหารงานโดยคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารสูงสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กยท. จะมาจากทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ซึ่งดูจากการรวมองค์กรการยางทั้งหมดเข้ามาเป็นองค์กรเดียวกัน ทั้งยังมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนอยู่ในบอร์ด กยท. ก็น่าจะช่วยยกระดับการผลิต ยกระดับอุตสาหกรรมยาง และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับไปในทิศทางตรงกันข้าม มิหนำซ้ำ บอร์ด กยท.ยังตกเป็นเป้าไล่ให้ลุกจากเก้าอี้ในเวลานี้อีกด้วย

ความผิดพลาดของ กยท. ซ้ำเติมวิกฤตราคายางตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ยกมาเป็นเหตุในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และบอร์ด กยท.ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดล้มเหลวในการดำเนินงานของ บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท 5 เสือการยางกับ กยท.

 เหตุที่เกษตรกรชาวสวนยางชี้ว่าผิดพลาดก็คือ เมื่อบริษัทร่วมทุนฯ เข้าไปประมูลยางในตลาดยางพาราในราคาชี้นำที่สูงเกินไป บริษัท 5 เสือ ที่ร่วมทุนกับ กทย. ก็ไม่เอายางที่บริษัท ร่วมทุนฯประมูล รับซื้อไว้ในราคาสูง แต่กลับไปกดดันซื้อยางนอกระบบตลาดกลาง กดราคาชาวสวน ส่วนยางที่บริษัท ร่วมทุนฯ ประมูลขายออกไม่ได้ ทำล้นโกดังตลาดกลาง กลายเป็นว่าการดำเนินการของบริษัทร่วมทุนฯ แทนที่จะช่วยพยุงราคาขึ้น กลับได้ผลตรงข้ามคือทำลายระบบกลไกของตลาดกลางยางพาราไทย และกดราคาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวสวนยางพารา

นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ จะหารือเรียกร้องให้ กยท. และรมว.เกษตรฯ รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากให้ กยท.ถอนหุ้นจากบริษัทร่วมทุนฯ ก่อน

อีกทั้งชาวสวนยางยังเตรียมการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อขับไล่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และบอร์ดการยาง เพราะมองว่าบริหารผิดพลาด ล้มเหลว เอื้อประโยชน์บริษัท 5 เสือการยาง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกเอกชนรายใหญ่ของประเทศทั้ง 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด

ความเดือดเนื้อร้อนใจของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมืองโดยเฉพาะชาวภาคใต้ ได้แต่ชะเง้อคอมองหาขาใหญ่อย่าง ?ลุงกำนัน? นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่อุทิศตัวเป็น ?นั่งร้าน? ให้รัฐบาลคสช. ว่าจะเข้ามาเหลียวแลกันบ้างหรือไม่ เพราะไหนๆ ก็ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจ และยังมีความเข้าอกเข้าใจในปัญหาของพี่น้องชาวสวนยางด้วยว่าเป็นคนบ้านเดียวกันอีกด้วย

 แต่จนแล้วจนรอดถึงวันนี้ ?ลุงกำนัน? ยังไม่เห็นหัว แต่ก็มีนักการเมืองค่ายสีฟ้าพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม พี่น้องชาวใต้ด้วยกันที่ออกมาชำแหละถึงปัญหาและสาเหตุราคายางตก รวมทั้งมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขเอาไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะรับฟังและรับเอาไปพิจารณาปฏิบัติหรือไม่ เพราะดูท่าทีจาก ?บิ๊กฉัตร? พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ก็ยังออกมาแบบกลบเกลื่อนปัญหาเสียมากกว่าจะเข้ามาแก้ไขจริงจัง

 


 



 
?... เท่าที่ทราบ ราคายางวันนี้ (7 พ.ย.) ดีขึ้น โดยตนได้สั่งการให้ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดกยท.) และ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าไปดำเนินการเรื่องนี้...? พล.อ.ฉัตรชัย ให้สัมภาษณ์แบบเห็นตรงข้ามขัดใจชาวสวนยางเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการชำแหละปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง นายถาวร เสนเนียม ได้โพสต์ นำเสนอสภาพปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เอาไว้ว่า ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีราคายางตกต่ำ หากมองตามสภาพปัญหาและข้อเท็จจริง จะพบว่า ช่วง 3 เดือนแรกของต้นปี 2560 ราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่รักษาระดับราคาเอาไว้ได้เลย จนปัจจุบันถือว่าต่ำมากเกษตรกรชาวสวนยางขายยางแผ่นดิบได้ที่ 40 บาท/กก. เศษ เท่านั้นในขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 60 บาท/กก. เศษ และกำลังจะถอยลงเรื่อยๆ จนเกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างน่าเป็นห่วง ในขณะที่อุปสงค์ อุปทาน ถือว่ายังปกติและตามประมาณการของ องค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) ยังมีปริมาณการใช้ยังสูงกว่าปริมาณการผลิตเสียด้วยซ้ำ

ส่วนสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ราคายางตกต่ำลงได้ขนาดนี้ นายถาวร ประมวลได้ ดังนี้

หนึ่ง ปริมาณยางมีในสต๊อกผู้ใช้สูงเนื่องจากช่วงต้นปีราคาปรับขึ้นสูงมีผู้ส่งออกหลายรายไปขายยางในตลาดล่วงหน้า (future market) แล้วใช้วิธีส่งมอบยางจริงซึ่งอยู่ในช่วงเดือนส.ค. ถึงต.ค.ปีนี้ ทำให้ยางไม่ขาดแคลนผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อยางเข้าสต๊อกในขณะนี้

 สอง ผู้ประกอบการขายยางล่วงหน้าไว้ในปริมาณที่มากและราคาไม่สูงจึงต้องออกมาซื้อในราคาที่ไม่ให้สูงกว่าต้นทุนขาย

 สาม บริษัทร่วมทุนที่รัฐบาล โดย กยท. ดำเนินการกิจการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการ โดยการเข้าซื้อยางในตลาดกลางของรัฐบาลทั้ง 6 ตลาด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา หนองคาย และบุรีรัมย์ จนทำให้ยางแผ่นรมควันที่ซื้อไว้เป็นหมื่นตันบางส่วนเกิดความเสียหายเนื่องจากไม่ได้ขนยางไปดำเนินการหีบห่อที่ถูกต้อง ทำให้ยางค้างอยู่ในตลาดกลางกินพื้นที่ของตลาดจนไม่สามารถดำเนินการเปิดตลาดได้ ต้องปิดตลาดทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่สามารถนำยางมาขายได้และถูกพ่อค้านอกตลาดกดราคาในที่สุดดังที่เป็นอยู่ขณะนี้

 ตามรายงานที่ปรากฏผ่านสื่อ เมื่อกลางเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานตลาดกลางยางพารา 3 แห่ง ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ประกาศหยุดให้บริการซื้อ-ขายยางเป็นการชั่วคราว ได้แก่ ตลาดกลางฯ จ.สงขลา (หยุด 19-20 ต.ค.), ตลาดกลางฯ สุราษฎร์ธานี (หยุด 19-24 ต.ค. เสาร์-อาทิตย์ ปกติตลาดปิด) และตลาดกลางฯ จ.บุรีรัมย์ (หยุดตั้งแต่ 18 ต.ค. ยังไม่มีกำหนดเปิด) เหตุผลพื้นที่เก็บยางไม่เพียงพอกับปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาด และต้องบริหารจัดการยางคงค้างของบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด (กยท. + 5 บริษัท ร่วมลงทุน)

 สี่ ความเอาใจใส่ของรัฐบาลไม่จริงจัง หวังพึ่งพาเพียงจากการดำเนินการของบริษัทร่วมทุนฯ และไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทผู้มาร่วมทุนซึ่งไม่ได้เต็มใจมาตั้งแต่ต้นจึงวางหมากเกม ไม่ยอมรับยางเข้าบริษัทดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อจะได้ดักตัดซื้อราคาต่ำๆ และรัฐบาลไม่มีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมทำให้สถานการณ์ด้านราคายางแย่ลงไปเรื่อยๆ

ส่วนแนวทางการแก้ไขนั้น นายถาวร ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและชาวบ้านทั่วไปรับทราบและเข้าใจปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอดรู้สึกอึดอัดกับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล และจะขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาล ดังนี้

หนึ่ง ทบทวนบทบาทหน้าที่และโครงสร้างองค์กรของบริษัทร่วมทุนฯ เสียใหม่เพื่อให้สนองตอบโจทย์ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

 สอง ควรนำผลการประชุมของบริษัทร่วมทุน 3 ประเทศ (ITRC) ระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ก.ย. 2560 มาเข้าสู่โหมดของการปฏิบัติ ในเรื่องการควบคุมการส่งออก และอื่นๆ

 สาม กองการยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมว. เกษตรฯ ต้องสร้างบทบาทในฐานะผู้รับผิดชอบ พรบ. ควบคุมยางปี 2542 ออกมาควบคุมราคาส่งออกยางของพ่อค้าที่แข่งกันเสนอขายไปต่างประเทศในราคาต่ำๆ แล้วมากดราคาซื้อจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางโดยอ้างราคาตลาดโลก

สี่ ควรขยายโครงการที่ช่วยดูดซับยางพาราออกจากตลาด ดังที่ดำเนินการกับสมาคมน้ำยางข้นไทยอยู่ขณะนี้ให้ครอบคลุมถึงยางแห้งด้วยเพราะลำพังปริมาณน้ำยางข้นมีเพียง 20% ของผลผลิตเท่านั้นคงไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดอย่างมีประสิทธิภาพได้

ห้า โครงการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศไม่เป็นรูปธรรม ท่านนายกรัฐมนตรี ควรลงมาขันน็อตหลาย ๆ รอบ และควรตั้งเป็นคณะทำงานติดตามรายงานผลความคืบหน้าตลอดเวลา เพราะเหตุว่าที่ผ่านมามีแต่มติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานนำยางพาราไปใช้ แต่มีแต่มติอยู่ในกระดาษเท่านั้น หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความจริงใจและจริงจังในการนำยางพาราไปใช้ ถ้านายกรัฐมนตรียังไม่ใช้สภาพบังคับลงโทษหน่วยงานที่เพิกเฉยก็จะเป็นสภาพการอย่างนี้ตลอดไป จึงขอให้นายกใช้ความเด็ดขาดในการสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้นำยางพาราไปใช้อย่างจริงจัง โดยกำหนดเชิงปริมาณ จำนวนงบประมาณและกรอบเวลา

ไม่ใช่แต่เสียงสะท้อนจากเกษตรกรและนักการเมืองที่ติดตามการบริหารจัดการยางทั้งระบบ ต่างมองว่า การตั้งบริษัทร่วมทุน เป็นความผิดพลาด นายชัยพจน์ เรืองอรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทยก็มองว่า การร่วมลงทุนของ กยท. กับ 5 บริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ เพื่อซื้อขายยางรักษาเสถียรภาพราคาในตลาดนั้น ล้มเหลว และกระทบกับเกษตรกรที่จะนำยางไปขายในตลาดซื้อขายจริงเช่นกัน

อันที่จริงแล้ว เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับการตั้งบริษัทร่วมทุนฯ ตั้งแต่ต้นและพยายามคัดค้านมาโดยตลอดที่ กยท. จะไปร่วมลงทุนกับ 5 บริษัท ซึ่งต่างเป็นคู่แข่งขันทางการค้ากันอยู่แล้ว ในที่สุดก็มาเจอปัญหาจนได้ ยางวางเต็มโกดัง ทำให้ตลาดกลางต้องปิด กยท. ต้องล้มเลิกสัญญาแล้วหาแนวทางใหม่

 อย่างไรก็ตาม ในมุมของเอกชนที่ร่วมลงทุนกับ กยท. บริษัทก็ต้องมองถึงผลกำไรขาดทุนที่จะได้รับ การซื้อขายในระยะแรกอาจไม่มีปัญหา เมื่อบริษัทร่วมทุนฯ ประมูลรับซื้อยางมาทาง 5 บริษัทต่างหมุนเวียนกันรับซื้อต่อไป แต่เมื่อราคายางในท้องตลาดต่ำลง แต่กยท.ยังซื้อสูงกว่าตลาดมากเกินไปทำให้บริษัทต่างๆ ไม่สามารถรับซื้อได้เพราะเสี่ยงขาดทุน

 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งก.พ.) นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา 4 อำเภอ คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

 ทั้งนี้ ข้อเสนอ 2 ข้อที่ชาวสวนยางยื่นต่อนายกฯ ก็คือ 1. ปฏิรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเกษตรกรรม และตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เป็นวงจรวิกฤติราคาสินค้าเกษตรทุกๆ ปี สลับตามฤดูกาล เช่น ยาง ข้าว ปาล์ม มันสำปะลัง และผลไม้ เป็นต้น จึงขอให้รัฐบาล ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสินค้าเกษตรหลัก โดยให้นายกฯ เร่งดำเนินการในขณะที่ยังมีอำนาจทางบริหาร และ  2. ขอให้เปลี่ยนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องยางพารา แต่ตลอด 1 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงเห็นควรให้มีการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยด่วน

 สำหรับการเคลื่อนไหวรวมตัวเรียกร้องของชาวสวนยางที่ขอให้เปลี่ยนตัวประธานบอร์ด กยท. และผู้ว่าฯ กยท. เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องยางพารา แต่ตลอด 1 ปีครึ่ง ที่ผ่านมายังไม่สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้นั้น ดูท่าถึงนาทีนี้แล้ว ?เพื่อนบิ๊กตู่? คือ ?บิ๊กฉัตร? คงไม่ตอบรับ เมื่อดูจากท่าทีที่ว่าจะหาโอกาสพูดคุย ไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย

 ส่วนราคายางผันผวนตามตลาดซื้อขายล่วงหน้า รมว.เกษตรฯ มองว่า เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงนี้ แต่สิ่งที่พยายามผลักดันคือ การใช้ยางในประเทศให้ได้มากขึ้น ตั้งเป้าไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ยังใช้ได้แค่ 13 -14 เปอร์เซ็นต์ ต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อให้เกษตรกรมีการซื้อ-ขายในประเทศ

 อย่างไรก็ตาม กระแสกดดันของเกษตรกรชาวสวนยางที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำที่มาในจังหวะเวลาที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเตรียมปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ ?บิ๊กฉัตร? รวมอยู่ด้วย อาจเป็นการผสมโรงให้ ?เพื่อนตู่? ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือบิ๊กทหารที่คุม กยท. ก็ไม่ใช่คำตอบสูตรสำเร็จว่าจะแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้หากคนใหม่ที่ถูกเลือกให้เข้ามารับภารกิจนี้ มีฝีมือไม่ถึงขึ้นจะปลุกปั้น ?กยท.ให้เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ? อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้