ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อจีนหายป่วย พลวัต 2016  (อ่าน 340 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84897
    • ดูรายละเอียด
เมื่อจีนหายป่วย พลวัต 2016
« เมื่อ: ตุลาคม 20, 2016, 08:18:00 AM »
เมื่อจีนหายป่วย
พลวัต 2016

2016-10-20 06:33:00

วิษณุ โชลิตกุล[size=78%] [/size]
เคยบอกไว้สัปดาห์ก่อนแล้วว่า จากนี้ไป ต้องจับตาจีนให้ดี เพราะมีข่าวดีออกมาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ล่าสุด ต้องย้ำอีกครั้งว่า จีนที่หายป่วย (แม้ยังไม่ 100%) จะเร่งอิทธิพลของจีนต่อโลกในทางบวกมากขึ้นนับจากปลายปีนี้ไปเลยทีเดียว


ข่าวดีเช่นนี้ น่ายินดีอย่างมาก เพราะมาได้ทันเวลา และสถานการณ์พอเหมาะพอเจาะ

เมื่อวานนี้ จีนได้ประกาศตัวเลข ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ ยอดค้าปลีก และและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ซึ่งออกมาเป็นแนวบวกทางเดียวกันทั้งสิ้น ต่างจากเมื่อปีก่อนที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่สวนทางกันอย่างทำให้อลหม่านมากกว่าน่าเชื่อถือ


ก่อนการประกาศเมื่อเช้าวานนี้ จีนเพิ่งทำให้ชาวโลกขวัญผวามาแล้วจากการที่ สำนักงานศุลกากรจีนรายงานเมื่อกลางสัปดาห์ก่อนว่า ยอดส่งออกเดือนกันยายนร่วงลง 5.6% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.2% ส่วนมูลค่าการค้าต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี ลดลง 1.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยยอดส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าว ปรับตัวลง 1.6% และยอดนำเข้า ลดลง 2.3%


ตัวเลขเป็นชุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุเป็นชุดไล่เลี่ยกันว่า เริ่มต้นจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสสามของปีนี้ ขยายตัว 6.7% เทียบรายปี ซึ่งทรงตัวจากไตรมาสสอง และหนุนความคาดหวังที่ว่ารัฐบาลจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมาย GDP ของปีที่ระหว่าง 6.5-7%


หากลงลึกไปอีก จะพบว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสแล้ว GDP จีนได้ขยายตัว 1.8% จากไตรมาสสอง แล้วหากนับรวมสามไตรมาสแรกของปีนี้ GDP จีนได้ขยายตัว 6.7% เทียบรายปี สะท้อนประสิทธิภาพในการกำกับดูแลอัตราการเติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ เพื่อให้อุปสงค์ของตลาดขยายตัวอย่างเหมาะสม ในขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฝั่งอุปทานที่ยังไม่แล้วเสร็จง่าย ยังสามารถรับการคาดหมายในทางที่ดี และการสนับสนุนปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ๆ พร้อมกันไป ซึ่งไม่ใช่งานง่าย


ต่อมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนก็ทยอยเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ขยายตัว 10.7% ในขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (ครอบคลุมการใช้จ่ายด้านทุนในสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และสินทรัพย์ทางกายภาพประเภทอื่นๆ) ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 8.2% ชะลอตัวลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงสองไตรมาสแรก โดยสำหรับเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเร็วมากที่ระดับ 9% จาก 8.2% ในเดือนสิงหาคม


ถัดมา ตัวเลขการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนใน 9 เดือนแรกของปีนี้ ก็ยังดีขึ้นอีก ด้วยการขยายตัว 5.8% เมื่อเทียบรายปี


ถัดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทางด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็เปิดเผยว่า ยอดปล่อยกู้ของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศล็อตใหม่สกุลเงินหยวนในเดือนกันยายนก็เพิ่มขึ้นมาก อยู่ที่ระดับ 1.22 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.813 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.643 แสนล้านหยวนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ยอดปล่อยกู้ล็อตใหม่สกุลเงินหยวนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 10.16 ล้านล้านหยวน


ต่อมาอีกวันเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนก็ยังออกมาเปิดเผยต่อว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนของจีน หรือมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรม (ใช้เป็นมาตรวัดกิจกรรมของวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน หรือ 2.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัว 6.1% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 6% เนื่องจากภาคการผลิตด้านไฮเทคและอุปกรณ์ที่แข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราการขยายตัวดังกล่าวจะถือว่าทรงตัวจากช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้


ต่อมาอีก กระทรวงการคลังของจีนก็ไม่ยอมน้อยหน้า ออกรายงานเมื่อวานนี้เช่นกันว่า รายได้การคลังของจีนเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 1.122 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.6672 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังจากที่รายได้การคลังเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบรายปี   
 
ข้อมูลที่น่าสนใจต่อไปของจีน ยังออกมาสมทบโดย กระทรวงการคลังสหรัฐออกมาเปิดเผยว่า จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุด ได้ปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง 3.37 หมื่นล้านดอลลาร์ ลงสู่ระดับ 1.1851 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนสิงหาคม และเป็นการปรับตัวลดลง 3 เดือนติดต่อกัน


ภาวะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นจากการถอนตัวจากตลาดพันธบัตรที่ผันผวนในสหรัฐเอง  เพราะตัวเลข ณ สิ้นเดือนสิงหาคม มียอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐโดยต่างชาติลดลงแตะ 6.1964 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 6.2479 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม


ตัวเลขทางการเงิน จะยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ทางการจีนใส่ใจมากนัก เพราะล่าสุด ยังมีข่าวดีจากจีนในการขุดเจาะสำรวจน้ำมันว่า ผลผลิตภายในของจีนในการผลิตน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวในเดือนกันยายน หลังร่วงต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยที่การปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 3.9 ล้านบาร์เรล/วัน ได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การผลิตน้ำมันดิบของจีนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี


นักวิเคราะห์กล่าวว่า การผลิตน้ำมันของจีนจะกลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อสามารถผลิตได้ราว 16.25-16.5 ล้านตันต่อเดือนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี


นอกจากนั้น การประกาศล่าสุดของสตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของโลก เดินหน้าเตรียมเปิดร้านสตาร์บัคส์ในประเทศให้ถึง 5,000 สาขาภายในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปัจจุบัน ดันจีนเป็นตลาดหลักขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟ 13,000 แห่ง  ก็สะท้อนการฟื้นตัวของจีนได้ชัดยิ่งขึ้น


ตัวเลขที่โดดเด่นและพึ่งพาตัวเอง ในขณะที่เปิดอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากอิทธิพลของต่างประเทศ ส่งสัญญาณชัดเจนอีกครั้งให้ทุนข้ามชาติที่ล้นเกินทั่วโลกถูกดูดซับเข้ามาในจีนในปีนี้และปีหน้ายาวนานเติมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจระดับใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกเหมือนในอดีต


ขนาดที่ใหญ่มหึมาของเศรษฐกิจจีน ทำให้เคยมีคำพังเพยว่า เมื่อจีนจาก ทั่วโลกก็เป็นหวัด เมื่อจีนป่วย ทั่วโลกก็โคม่า จากนี้ไป จะต้องเปลี่ยนไปสร้างคำพังเพยใหม่ว่า เมื่อจีนหายป่วย โลกก็พร้อมสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งใหม่ได้แล้