ก.เกษตรฯขีดเส้นตาย 7 วันราคายางต้องขยับ ชี้หากทำไม่ได้จะงัด กม.เล่นงาน
วันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 20:21:55 น
เมื่อวันที่ 7 มกราคม เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ว่าจากสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำในช่วงนี้ กระทรวงเกษตรฯต้องหามาตรการรับมือราคาที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับการชี้แจงจากสมาคมยางพาราไทยว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้ซื้อยางเก็บตลอดเวลา เพราะในตลาดโลกยังมีความต้องการ และมีการส่งมอบตามรอบที่ตกลงซื้อขายกันไว้ แต่ในฐานะรัฐบาลรู้สึกงงกับคำตอบ ถ้าเอกชนซื้อยางตลอดทำไมราคายังลดลง ซึ่งราคายางสวนทางกับสิ่งที่สมาคมยางพาราไทยรายงาน ดังนั้นจากนี้ต่อไปไม่เกิน 7 วัน ราคายางจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้อีก และขอให้เอกชนซื้อในราคาที่เหมาะสมเพื่อให้ราคาขยับขึ้น
"ปัจจุบันมีการรับซื้ออยู่ประมาณวันละ 9 พันตัน ซึ่งเป็นไปตามที่ได้ให้ความร่วมมือไว้กับรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมราคาจึงต่ำมาก เกรงว่าจะเป็นการซื้อกดราคาและกักตุนเพื่อนำไปขายในราคาที่สูงขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า" นางจินตนากล่าว และว่า ราคายางพาราลดลงทุกวัน โดยวันที่ 7 มกราคม ก็ลดลงอีก 1-1.50 บาท หวังว่าผู้ประกอบการจะไม่กดราคาเกษตรกรโดยการซื้อถูกแล้วขายแพง และหวังว่าหลังการประชุมวันนี้แล้วราคาจะไม่ลดลงอีก หากลดลงอีกถือว่าผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ อาจต้องใช้ไม้แข็งคือการนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชยออกมาใช้ เพื่อสกัดอาการเลือดไหลของเกษตรกร โดยกฎหมายนี้มีโทษหนักถึงจำคุก 2 ปี เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือแล้วยังกดต่ออีก ก็อาจนำกฎหมายควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของกระทรวงพาณิชย์มาใช้เพื่อตัดโควต้าการส่งออกของผู้ส่งออกที่กดราคารับซื้อจากเกษตรกร
นาง จินตนากล่าวว่า ในที่ประชุมได้มอบให้กรมการค้าภายในไปตรวจสอบราคาตลอดห่วงโซ่ยางพาราว่ามี จุดใดบ้างที่มีการกดราคารับซื้อ หรือที่มีการค้าขายที่มีกำไรสูงกว่าควรจะเป็น เช่น มีคนพูดว่าราคายางพาราถูก แต่ทำไมล้อยางรถยนต์ไม่ลดราคาลงเลย จึงมอบให้กรมการค้าภายในที่เป็นหน่วยงานที่จะดูแลในเรื่องการกำกับดูแลราคา ไปตรวจสอบเพื่อหารือเกลี่ยกำไรที่ควรจะได้มาซื้อยางในราคาที่สูงขึ้นให้ เกษตรกรได้หรือไม่
นาย ไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงการที่ภาครัฐขอให้ผู้ประกอบการซื้อยางในราคาที่สูงขึ้นนั้น ภาครัฐควรต้องดูกลไกตลาดด้วย เพราะภาคเอกชนควบคุมไม่ได้ ราคายางที่ขึ้นลงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่นตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่อิงกับปัจจัยราคาน้ำมันโลก และราคาหุ้นที่ตกลง แต่ไม่ได้อิงกับปัจจัยพื้นฐานตลาดยาง การที่จะให้ภาคเอกชนเข้าไปซื้อก็ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องสร้างตลาดที่ซื้อขายและส่งมอบยางจริงได้
?ตลาดซื้อขายล่วงหน้าจากต่างประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่และสามารถชี้นำราคาได้ หากไม่มีตลาดส่งมอบจริงก็ต้องอิงราคาตลาด โดยราคายางตอนนี้เป็นเรื่องกลไกตลาด เราเองก็พร้อมจะซื้อ ถ้าขายได้เราซื้อแน่นอน แต่ถ้าขายไม่ได้ ยิ่งซื้อเยอะยิ่งขาดทุน เราก็ไม่ใช่องค์กรการกุศล? นายไพฑูรย์กล่าว และว่า สำหรับราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศก็ปรับลดลงมากกว่าตลาดจริง ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งตลาดโตคอมของญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน และตลาดในไทย สามารถนำราคามาเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้นจะมาบอกว่าเอกชนซื้อกดโดยไม่อิงราคาที่ขายก็ไม่ได้ เพราะเอกชนจะทำเท่าที่ทำได้
นายไพฑูรย์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐระบุว่าเอกชนกดราคายางนั้น ถามว่าจะทำไปทำไม และถามว่าบริษัทได้กำไรจริงหรือไม่ จึงอยากให้ดูทั้งระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ว่าตรงไหนที่กำไร อย่างอุตสาหกรรมกลางน้ำแค่ซื้อมาขายไป จะราคามากหรือน้อย ส่วนแบ่งตลาดก็เท่าเดิม
นาย อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาราคายางที่ลดลงอย่างมากนั้น สาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกสินค้าเกษตร แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ดูปัจจัยภายในด้วยว่าติดขัดตรงไหน ซึ่งก่อนหน้านี้มีโครงการออกมาช่วยในหลายมิติ แต่ไม่มีการกล่าวถึง 16 มาตรการที่คณะกรรมการนโนบายยางธรรมชาติ (กนย.) ตั้งไว้เลย ที่ผ่านมาได้ย้ำเตือนให้รัฐบาลต้องหาตลาดให้เกษตรกร การใช้ยางในสต๊อกโดยนำไปแปรรูป เช่น สร้างสนามฟุตซอล กรวย และอีกหลายอย่าง ซึ่งสามารถทำได้แต่ก็ยังไม่ดำเนินการ หากเป็นไปได้ขอร้องรัฐบาลใช้ ม.44 ช่วยเกษตรกรได้น่าจะเป็นเรื่องดี