ผู้เขียน หัวข้อ: ปาล์มใต้จี้รัฐจัดการราคาซื้อโลละ 4 บ. ขู่ชุมนุม 7 พ.ค. นี้  (อ่าน 491 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ปาล์มใต้จี้รัฐจัดการราคาซื้อโลละ 4 บ. ขู่ชุมนุม 7 พ.ค. นี้
updated: 02 พ.ค. 2558 เวลา 09:30:16 น.
 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ปาล์มใต้จี้ซื้อโลละ4บ. ขู่ฮือ7พ.ค. เงินเฟ้อเม.ย.ลบอีก 1.04% ต่ำสุดรอบ 5 ปี 7 เดือน ธปท. รับศก.ไทยยังอ่อนแอ
                   
 
พณ.ดึงปาล์มเป็นสินค้าควบคุม
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มชุมนุมร้องขอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำที่จังหวัดกระบี่และรับซื้อในราคากิโลกรัมละ5 บาทนั้น ขณะนี้ปริมาณปาล์มสดมีมากต่อเนื่อง จนสต๊อกน้ำมันปาล์มมากกว่าปกติพอสมควร แม้จะไม่ถึงกับล้นสต๊อกจนวิกฤต จากปกติสต๊อกเหมาะสมกับความต้องการอยู่ที่ 1.5-2 แสนตันต่อปี แต่สต๊อกมากทำให้ราคารับซื้ออ่อนตัวลงแต่ราคายังเกิน 4 บาทถึง 4.20 บาท/กก. (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17%) จากการหารือกับเกษตรกรและโรงสกัดโรงกลั่น ในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ต่างก็ยอมรับว่าราคาดังกล่าวสูงกว่าต้นทุนที่ 3.38 บาท

"ราคาจะขึ้นเป็น 5 บาท หรือเกิน 6 บาทก็เคยมาแล้ว ตามกลไกตลาดเมื่อผลผลิตน้อยราคาก็สูง เมื่อผลผลิตมากราคาก็ต่ำลง ตอนนี้กรมได้ออกราคาแนะนำ การประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการสัปดาห์หน้าก็จะเสนอให้ที่ประชุมนำปาล์มขึ้นเป็นสินค้าควบคุม"นายบุณยฤทธิ์กล่าว


อคส.ทำแผนรับซื้อน้ำมันส่วนเกิน

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า โดยในส่วนน้ำมันเกินปกติ ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็กำลังจัดทำแผนรับซื้อส่วนเกินเพื่อนำออกขายในช่วงตลาดขาดแคลน เบื้องต้นน่าจะดึงปาล์มออกตลาดได้หลายหมื่นตัน และกำลังเร่งออก พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ราคาปาล์ม ณ วันที่ 1 พฤษภาคม อยู่ระหว่าง กก.ละ 4.0-4.20 บาท หลังมีมติออกประกาศราคาแนะนำรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรอัตราน้ำมัน 17% ให้โรงสกัดรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัม กรณีอัตราน้ำมันสูงเกิน 17% ให้ปรับเพิ่มราคารับซื้อไม่น้อยกว่า 30 สตางค์ต่ออัตราน้ำมันเพิ่มทุก 1% ส่วนอัตราน้ำมันต่ำกว่า 17% ให้ปรับลดราคารับซื้อไม่เกินกว่า 0.25% ต่ออัตราน้ำมันที่ลดลง และขอความร่วมมือซื้อผลปาล์มทะลายและผลปาล์มร่วงที่มีน้ำมัน 15% ขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรเก็บผลปาล์มอ่อนทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อย


ปาล์มกระบี่ขู่ รบ.ชุมนุม7พ.ค.

นายชลิต สุขโข แกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตามข้อตกลงแกนนำได้สัญญากันไว้กับทางจังหวัดกระบี่คือรัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ ให้ลานเทหรือจุดรับซื้อผลปาล์มของเกษตรกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่ สามารถรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท เกษตรกรสามารถอยู่ได้ และก็ได้ยอมสลายกันไป แต่ถ้าหากรัฐบาลทำไม่ได้ตามสัญญา ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั้งจังหวัดกระบี่จะเดินทางมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ส่วนผลปาล์มที่มาเททิ้งที่หน้าศาลากลางเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รวมแล้วประมาณ 15 ตัน ก็ยกให้ทางจังหวัดดำเนินการขายและนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ประสบภัยชาวเนปาลต่อไป ถ้าหากทางจังหวัดนำผลปาล์มจำนวนนี้ไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ฝากให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการอย่าให้ใครเอาไปขายแล้วนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเสียอีก


ยางตรังโวยรบ.คุยเฉพาะเครือข่าย

นายภราดร อนุชิตศิริภัทรา เลขาธิการนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง และรองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ฝ่ายกิจกรรมการเกษตรกรรม กล่าวว่า ในส่วนโครงการมูลภัณฑ์กันชน ทางภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง แต่อยากจะถามกลับไปยังผู้คิดโครงการนี้ว่าได้ประเมินหรือไม่ว่าโครงการนี้จะมีผลสำเร็จอย่างไร ภาคการเกษตรมองว่ายังไม่ถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง ถ้าจะดำเนินการโครงการยางต่อไป ก็ต้องแก้ไขช่องโหว่และพิจารณากันอีกหลายด้าน ในส่วนโครงการให้สินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางนั้นเป็นเรื่องดี แต่น่าคิดให้รอบด้าน เพราะถ้าให้สินเชื่อไปแล้ว เกษตรกรจะมีกำลังจ่ายคืนได้ขนาดไหน รัฐต้องมีมาตรการให้ใช้คืนได้ขนาดไหน รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้สินเชื่อค่อนข้างระยะยาวและปลอดดอกเบี้ยช่วงหนึ่ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ สามารถยืนด้วยขาตัวเองได้

"ผู้คิดโครงการช่วยเหลือชาวเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว ไม่ได้มีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกรอย่างแท้จริง ดูเหมือนจะกันท่าเกษตรกรในส่วนอื่นไว้ เวลาประชุมจะเรียกเฉพาะเครือข่ายหรือครอบครัว คนใกล้ชิดเองทั้งนั้น ถ้ารัฐจะให้มีโครงการสนับสนุนชาวเกษตรกร ต้องสอบถามเกษตรกรว่าเขาต้องการอะไร เพื่อเป็นการช่วยเหลือตรงความต้องการ" นายภราดรกล่าว


ส.ชาวนาขอรัฐพักชำระหนี้3ปี

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาในหลายด้าน ถือว่าช่วยเหลือชาวนาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด ดังนั้นชาวนาทั่วประเทศ โดยสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศพักชำระหนี้ชาวนาเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะภาวะภัยแล้งทำให้ชาวนาไม่สามารถทำนาได้เหมือนก่อน รวมถึงต้นทุนการผลิตยังสูง และผลผลิตข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำมาก ทำให้ชาวนาไม่มีเงินสดในมือและไม่มีปัญญาจ่ายเงินให้กับ ธ.ก.ส.ได้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันราคาข้าวสารบรรจุถุงในท้องตลาดมีราคาสูงมาก เท่ากับสมัยต้นทุนราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกตกลงมาอยู่ที่ตันละ 6,000 บาทเท่านั้น แต่ราคาข้าวสารในท้องตลาดกลับไม่ลดราคาลงมา ส่วนต่างของราคาจำนวนมากนี้ ใครได้ประโยชน์ และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับนายทุนกลุ่มนี้


เงินเฟ้อเมษายนติดลบ1.04%

เมื่อวันที่1 พฤษภาคม นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนเมษายน 2558 เท่ากับ 106.35 สูงขึ้น 0.02% จากเดือนมีนาคม 2558 แต่ติดลบ 1.04% เมื่อเทียบเดือนเมษายน 2557 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกปีนี้ติดลบ 0.65% สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนเมษายนติดลบมากเมื่อเทียบปีก่อนนั้น เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสด และสินค้าเกษตร ลดลงมาก และฐานเงินเฟ้อปีก่อนต่ำ แต่หากเทียบกับเดือนมีนาคมปีนี้ เงินเฟ้อสูงเล็กน้อยเพราะราคาอาหาร ผักสดและเนื้อสัตว์ขยับขึ้น ดัชนีราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูง 0.63% เฉพาะต้นหอมสูงขึ้น 77.39% ผักกาดหอมสูง 45.37% ผักชี 34.10% ผักคะน้าสูง 23.29% มะนาวสูง 21.64% และอาหารโทรสั่ง (ดิลิเวอรี) สูง 22.51% ส่วนอาหารที่ลดลง อาทิ มะม่วง หัวหอมแดง กระเทียม แต่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.31% โดยเฉพาะราคาน้ำมัน สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ ส่วนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนคือ ค่าทัศนาจรต่างประเทศ บุหรี่ เบียร์ ค่าเช่าบ้าน ค่าแรงช่างทาสี เป็นต้น

แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แต่ยังไม่ถือว่าเงินฝืดเพราะเงินเฟ้อติดลบจากราคาน้ำมันปีนี้ลดลงจากปีก่อนมาก ราคาอาหารก็ลดลงมาก แต่เมื่อดูราคาอาหารและสินค้าในเดือนเมษายนเทียบเดือนก่อนหน้าราคาสินค้าส่วนใหญ่ 199 รายการใช้คำนวณเงินเฟ้อยังเท่าเดิม ขณะที่รายการสินค้าราคาเพิ่มมี 148 รายการ สูงกว่ารายการสินค้าปรับราคาลดลง 103 รายการ และเมื่อดูจากเงินเฟ้อพื้นฐานหักพลังงานและอาหาร ยังเป็นบวก 1.02% สะท้อนว่าสินค้ายังขายได้ และราคาสามารถปรับได้" นายสมเกียรติกล่าว


ธปท.ชี้สะท้อนเศรษฐกิจยังอ่อนแอ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ดูข้อมูลย้อนไปเดือนพฤษภาคม เงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบอีกเดือน เพราะราคาน้ำมันและอาหารปีนี้ยังต่ำกว่าปีก่อน ทำให้ไตรมาส 2 มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบ 0.5-0.7% แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2558 ไว้ที่ 0.6-1.3% บนสมมุติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โต 3-4% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แนวโน้มราคาน้ำมันและราคาอาหารน่าจะทยอยปรับขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีก็จะมีผลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่วนกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของ ธปท. ย่อมมีผลดีต่อการลดต้นทุนเอกชน ลดภาระด้านหนี้ประชาชน อาจไม่มีผลต่อราคาสินค้าได้ทันที แต่ผลต่อค่าบาทอ่อนลง อาจดีต่อส่งออก แต่ราคาในประเทศอาจสูงขึ้นหลังจากนี้ หากเศรษฐกิจดีขึ้น

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายนติดลบ 1.04% ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อนหน้า จากราคาอาหารสำเร็จรูปปรับสูงขึ้น ตามการทยอยลอยตัวของราคาก๊าซแอลพีจี ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คาดว่าจะติดลบมากกว่าในไตรมาส 1 ปี 2558 เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในข้างต้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสะท้อนให้เห็นภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ และต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด (29 เมษายน) ลงที่ 1.5% นั้นก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะเงินฝืด


"บิ๊กป้อม"ดันเขตศก.พิเศษก.ย.นี้

พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ขนพ.) ครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการจัดหาที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยกับต่างประเทศ การเตรียมแรงงานรองรับการพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ได้พิจารณาแผนนำทาง หรือโรดแมปการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพของประเทศ

พล.อ.ประวิตรแถลงภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ทุกอย่างมีความคืบหน้าพอสมควร ปัญหาเรื่องที่ดินก็แก้ไขไปได้มากพอสมควรแล้ว เพราะได้พยายามให้เกิดทุกพื้นที่ จะดูในพื้นที่ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ปัญหาความล่าช้าจะต้องบูรณาการผ่านศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิส แต่ไม่มีความจำเป็นต้องรอโครงสร้างพื้นฐาน สามารถดำเนินการไปก่อนได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มจะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการ เพราะมีปัญหามาก

"ยืนยันปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไม่มีอะไรน่าห่วง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ พยายามแก้ปัญหาในภาพใหญ่ ทุกอย่างค่อยๆ ขยับขึ้น แต่เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมในเรื่องผลิตผลด้านการเกษตร จึงต้องดูรายละเอียดทั้งในเรื่องความต้องการซื้อและความต้องขาย หรือดีมานด์และซัพพลาย" พล.อ.ประวิตรกล่าว


มั่นใจศปมผ.แก้ใบเหลืองประมง

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีกองทัพเรือตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ว่าเป็นการบูรณาการโดยให้ทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ต่อไปนี้เรือทุกลำจะออกจากท่าจะต้องติดวีเอ็มเอส มีแรงงานถูกต้องตามกฎหมายลงทะเบียนให้เรียบร้อย เครื่องมือการทำประมงต้องถูกระเบียบตามหลักสากล ทางอียูได้กำหนดกรอบการแก้ไขปัญหา 6 เดือน โดยจะดำเนินการตามโรดแมป เร่งรัดในส่วนที่ทำได้ เช่น กฎหมายเมื่อออกมาแล้วต้องรออีก 60 วัน ถึงจะใช้ได้ แต่ถ้ากฎหมายไม่เพียงพอในห้วงระยะเวลาดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องไปออกกฎหมายลูกภายใน 60 วัน ว่าอะไรยังขาดก็ต้องทำให้ครบ แต่ถ้ายังไม่ครบอีก ก็จำเป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนดให้ครอบคลุมตามหลักสากล เนื่องจากเกิดช่องว่างต่างๆ เรื่องการลงโทษ การจับกุมในการทำประมง โดยเฉพาะการตรวจสอบพิสูจน์การย้อนกลับสินค้า


เปิดศูนย์ปฏิบัติงานตลอด24ชม.

ที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการ ศปมผ. เป็นประธานเปิด ศปมผ. พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า ศปมผ.ได้จัดทำระบบเรียบร้อยแล้ว จะปฏิบัติงานทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ทุกอย่างมีความพร้อม 90% แล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหา โจทย์หลักต้องเอาเรือประมงเข้ามาอยู่ในกรอบ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นายกรัฐมนตรีกำหนดเวลาให้แก้ปัญหาภายใน 3 เดือน จะมีการประชุม ศปมผ.เดือนพฤษภาคมอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 6 พฤษภาคม และ 18 พฤษภาคมนี้

"การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการติดเครื่องติดตามเรือประมง หรือวีเอ็มเอส ในเรือที่มีน้ำหนักเกิน 60 ตัน มีประมาณกว่า 5,000 ลำ จะแล้วเสร็จในวันสองวันคงเป็นไปไม่ได้ คิดว่าอียูคงเข้าใจ นอกจากนี้ความร่วมมือของเรือประมงถือเป็นประเด็นหลักสำคัญ เพราะเรือทั้งในอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน มีประมาณ 30,000 กว่าลำ ยังไม่รวมเรือนอกน่านน้ำ มั่นใจว่าแก้ไขปัญหาได้เสร็จทันภายใน 6 เดือนตามที่อียูกำหนด แต่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากใบเหลืองหรือไม่นั้น ทางอียูจะต้องมาประเมินอีกครั้ง การแก้ไขปัญหายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาบังคับใช้ แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ปฏิบัติงานได้เร็วขึ้นก็ตาม" พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว


ส.ประมงขอช่วยดูแลสวัสดิการ

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูเเล ทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการเรือประมง และลูกจ้าง ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ทั้งเรื่องรายได้และการเป็นอยู่ อยากให้ทางภาครัฐเข้าใจให้มากขึ้น สมาคมประมงแห่งประเทศไทยอยากให้รัฐบาลเร่งดูแลในเรื่องสวัสดิการให้กับแรงงานประมง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องเสนอไปทางรัฐบาล โดยต้องการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และก็จะมีประกันชีวิตลูกเรือประมงถูกต้องตามกฎหมาย มีทุนประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล โดยผู้ประกอบการจะดำเนินการให้กับเเรงงานของตัวเองให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะเเรงงานลูกเรือต่างด้าว เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของบรรดาแรงงานชาวประมง

สนช.ไฟเขียวกม.แรงงานทางทะเล

ที่รัฐสภามีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอหลักการและเหตุผลว่า เนื่องจากสภาพการจ้างงาน การทำงานบนเรือเดินทะเลมีความแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การทำงานบนเรือเดินทะเลมีความเสี่ยงภัยทางทะเล มีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน ประกอบกับความสัมพันธ์ของคนทำงานบนเรือกับเจ้าของเรือบางส่วนมิได้มีความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเลขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือกำหนดให้เจ้าของเรือต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนประจำเรือ กำหนดว่าบรรดาคดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ หรือทายาท หรือระหว่างบุคคลดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ อันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ส่วนเงื่อนไขการทำงานบนเรือกำหนดว่า ห้ามเจ้าของเรือให้บุคคลอายุต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ทำงานบนเรือ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ โดยที่คนประจำเรือไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพ ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ เว้นแต่คนประจำเรือได้รับการฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยคะแนน 172 งดออกเสียง 2 ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 17 คน แปรญัตติ 7 วัน และดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน นอกจากนี้ที่ประชุม สนช.ยังให้ความเห็นชอบต่ออนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ด้วยคะแนน 74 งดออกเสียง 3

มท.1มอบนโยบายผู้ว่าฯชายแดน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมมอบนโยบายและปรึกษาระหว่างผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยกับผู้ ว่าราชการจังหวัดชายแดนผ่านระบบการประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยมีผู้ ว่าราชการจังหวัดชายแดนจำนวน 32 จังหวัด พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มอบนโยบาย 4 ประเด็น คือ 1.การดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เดือนมิถุนายนนี้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะผู้ว่าราชการ จังหวัดชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดด้านกัมพูชาทั้ง 7 จังหวัด เตรียมข้อมูลนำเสนอด้วย นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำนโยบายส่งเสริมความร่วมมือแบบเมืองคู่มิตรกับประเทศ ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีจังหวัดชายแดน 10 จังหวัด ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 15 คู่ 2.การพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 6 จังหวัด อยู่ระหว่างขอถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ การเปิดจุดผ่านแดน 3.การป้องกันและแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ชายแดน ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษสำหรับการค้ามนุษย์ในกิจการประมง ถือเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดชายทะเลบูรณาการร่วมกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้องมิให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมงและกิจการที่ต่อ เนื่องควบคุมดูแลตามหลักเกณฑ์และกฎกติการะหว่างประเทศ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 4.การรักษาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน กำชับไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครต่างๆ สอดส่องดูแลและขอความร่วมมือทำความเข้าใจกับประชาชนตามแนวชายแดนให้ช่วยดูแล รักษาเส้นเขตแดนและหลักเขตแดนในพื้นที่

"กระทรวงได้เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ที่อยู่ตามแนวชายแดน อาทิ พื้นที่ของกรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพื้นที่สาธารณะ" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

การนิคมฯแย้มพ.ค.นี้ลุยนำร่อง

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องการเตรียมความพร้อมโอนกรรมสิทธิ์พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจ พิเศษ 5 แห่งว่า เบื้องต้นได้รับการประสานจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจ พิเศษบริเวณจังหวัดตากและสระแก้วก่อนพื้นที่อื่นเนื่องจากมีอุตสาหกรรมสำคัญ เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีมูลค่าการค้าการลงทุนสูงที่สุด ส่วนกรณีทางกระทรวงต้องการให้ กนอ.เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 50% ของพื้นที่ที่ได้รับทั้งหมดนั้น มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ น่าจะมีความชัดเจนช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้


ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 พ.ค.2558