ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐปล่อยกู้ร้อยละ1ช่วยแก้ปัญหายางพารา  (อ่าน 680 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
รัฐปล่อยกู้ร้อยละ1ช่วยแก้ปัญหายางพารา

จากที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2557 เห็นชอบหลักการแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำ 2 มาตรการ 9 แนวทาง 12 โครงการ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบ โดยเห็นว่าต้องอาศัยกลไกของระบบสหกรณ์เข้ามาดำเนินการ และ กนย. มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2557 เห็นชอบให้วิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุนสินเชื่อในโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพาราโดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรวิสาหกิจอื่นที่ทำธุรกิจยางพารา ตลอดจนหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่วิสาหกิจชุมชน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) นี้ เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับ สหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 กันยายน 2557-30 มิถุนายน 2558 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ซึ่งวิสาหกิจชุมชนจะรับภาระอัตรา ร้อยละ 1 และรัฐบาลอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 กำหนดวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 20 เท่าของเงินทุนตนเอง(เงินทุนตนเอง หมายถึงทุนของผู้กู้ที่มีอยู่ เช่น เงินออมสัจจะของสมาชิก เงินค่าหุ้นของสมาชิก กำไรสะสม เงินฝาก เป็นต้น)

ส่วนคุณสมบัติของวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการ จะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และบรรลุนิติภาวะ มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่มติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีการจัดทำบัญชีของกลุ่มเป็นปัจจุบัน มีการลงทุน หรือการออมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และมีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ และมีการบันทึกรายงานการประชุมไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการนี้ คาดว่าจะช่วยชะลออุปทาน (supply) วัตถุดิบยางพาราในตลาดเดือนละไม่น้อยกว่า 87,500 ตัน ปีละไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน (ระยะกรีด ปีละ 8 เดือน) คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณยางที่ผลิตในประเทศ (ปีละ 3.5 ล้านตัน) และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกรมีแหล่งขายยางในระดับพื้นที่ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้สถาบันเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจรวบรวม หรือรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยาง

ทางด้าน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโครงการนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทหน้าที่ในการชี้แจงและประชาสัมพันธ์โครงการ ให้แก่วิสาหกิจชุมชน ให้คำแนะนำแก่วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนให้ความรู้และคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจรวบรวมหรือรับซื้อยางแก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับสินเชื่อ พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าและประเมินผลในส่วนที่รับผิดชอบ และเพื่อให้การดำเนินงานสนับสนุนสินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการสำรวจความต้องการสินเชื่อของวิสาหกิจชุมชน โดยพบว่า วิสาหกิจชุมชนสนใจเข้าร่วมโครงการ 200 แห่ง ใน 37 จังหวัด วงเงินสินเชื่อ 516,966,000 บาท โดยข้อมูลจาก ธ.ก.ส. รายงานว่าขณะนี้ มีวิสาหกิจชุมชนทำสัญญากับ ธ.ก.ส. และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 19 สัญญา เป็นเงิน 34,000,000 บาท ใน 10 จังหวัด (ข้อมูลวันที่ 23 ก.พ. 2558)

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ในระยะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานสนับสนุนสินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชน ตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยเชิญเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้รับผิดชอบโครงการระดับจังหวัด เขต และส่วนกลาง ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาคี พร้อมทั้งตัวแทนวิสาหกิจชุมชนมาร่วมสัมมนา เพื่อให้รับทราบรายละเอียดของโครงการ และวิธีดำเนินงาน แลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และ เป็นการให้ข้อมูลเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ให้โอกาสเกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้นในการตัดสินใจแก้ปัญหา ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมหรือสร้างหนี้

ทั้งนี้สหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่มีการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดยข้าหลักเกณฑ์และมีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถสอบถามข้อมูลความรู้ในการดำเนินธุรกิจรวบรวมหรือรับซื้อยางแผ่น ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งใกล้บ้านท่านSouce: เว็บไซต์แนวหน้า (Th)