ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวด่วน ลุ้น SET เม.ย.แตะ1,550 จุด  (อ่าน 394 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84462
    • ดูรายละเอียด
ข่าวด่วน ลุ้น SET เม.ย.แตะ1,550 จุด
« เมื่อ: เมษายน 03, 2015, 08:42:58 AM »
ลุ้น SET เม.ย.แตะ1,550 จุด


สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -3 เม.ย. 58 8:19: น.

โบรกฯ ให้แนวต้านแรก SET เดือนเม.ย.ที่ 1,550 จุด รับอานิสงส์จากเม็ดเงินของ Trigger fund บวกกับยกเลิกกฎอัยการศึก , P/E หุ้นไทยที่เริ่มต่ำ ,การปรับลดอัตราดบ. และงบ Q1/58 เป็นปัจจัยหนุน แถมเครดิตสวิส ได้ตัดหุ้นไทยออกจากกลุ่มตลาดที่มีความแพงแล้ว แต่ยังมีปัจจัยลบทั้งศก.ชะลอตัว, ปัญหาการบิน ,หยุดยาวสงกรานต์ ฤดูกาลขึ้น XD ของหุ้นใหญ่ ที่คาดว่าจะกดดัน SET ถึง 16.3 จุด ส่วนสภาตลาดทุนไทย เผยความเชื่อมั่นหุ้นไทย 3 เดือนข้างหน้า วูบ 33.5% - หอการค้าหั่นเป้า จีดีพี - ส่งออกกดดันซ้ำ
       บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งยังมีมุมมองภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายนนี้ที่หลากหลายต่างกัน โดยมีปัจจัยบวกการยกเลิกกฎอัยการศึก , P/E หุ้นไทยที่เริ่มกลับมาต่ำ ,การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และผลประกอบการไตรมาส 1/2558 แต่อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ธุรกิจการบินถูกกดันจากปมปัญหาICAO ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ฤดูกาลขึ้น XD ของหุ้นใหญ่ และ ความกังวลจากปัญหากรีซเป็นตัวกดดัน
       วานนี้ (2 เม.ย.58) ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,532.23 จุด เพิ่มขึ้น 6.65 จุด หรือ 0.44% มูลค่าการซื้อขาย 43,331.26 ล้านบาท โดย นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 2,862.23 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 724.01 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 762.45 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ -4,348.68 ล้านบาท

*** บล.ทรีนีตี้ ชี้มีเม็ดเงิน Trigger fund หนุนตลาด 3-4 พันลบ.

       นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนนี้ จะมีกองทุนทาร์เก็ตฟันด์ (Trigger fund) ในประเทศที่มีการออกกองมากถึง 6 กองทุน ณ ระดับดัชนี 1,500 จุด ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 - 4,000 ล้านบาท เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย และคาดผลบวกจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเดือนมีนาคม ทำให้ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นตามการขยายตัวของ Forward PE (ปรากฏการณ์ PE expansion)
       ประกอบกับมีปัจจัยต่างประเทศสนับสนุนจากการส่งสัญญาณยืดระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ออกไป จะเป็นปัจจัยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) สหรัฐอเมริกา และค่าเงินดอลลาห์สหรัฐ (USD) ซึ่งอาจส่งผลทำให้เม็ดเงินลงทุน (Fund flow) มีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ประเทศเกิดใหม่ได้ และอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนที่เริ่มติดลบจากการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะเป็นอีกแรงผลักดันเม็ดเงินต่างชาติที่สำคัญ
       อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงกดดันจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐอเมริกาที่จะประกาศในวันที่ 3 เมษายน หากออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้เกิดจิตวิทยา (Sentiment) เชิงลบ เนื่องจากตลาดจะเลื่อนคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเข้ามาเร็วขึ้น และประมาณการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงถูกปรับลดต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวบ้างแล้ว เช่นกลุ่มพลังงาน ค้าปลีก และโรงพยาบาล รวมถึงอาจมีความกดดันเกิดขึ้นระยะสั้นหากการเจรจาระหว่างกรีซกับ Troika ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ

*** ให้แนวต้านแรก SET เดือนนี้ที่ 1,550 จุด - เปิดโผ 20 หุ้นเด็ดประจำเดือน

       นายณัฐชาต กล่าวว่าจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มองภาพรวมการลงทุนในเดือนเมษายน ดัชนี SET Index จะปรับตัวในลักษณะแกว่งตัว (Sideways) ถึงแกว่งตัวขึ้น (Sideways up) โดยมีกรอบแนวรับบริเวณ 1,490 จุด และกรอบแนวต้านแรกบริเวณ 1,550 จุด
      ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2558 แนะนำให้โยกการลงทุนจาก GLOBAL, VGI, STA และ CCP เข้าสู่ IRPC, ITD, GL และ TPIPL แทน ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นอีก 16 บริษัท ที่ฝ่ายวิเคราะห์ฯ แนะนำต่อเนื่องจากเดือนก่อน จะทำให้ได้หุ้นแนะนำสำหรับเดือนเมษายนทั้งสิ้น 20 บริษัทได้แก่ IRPC, IFEC, ITD, TCAP, BJCHI, JMT, TMB, TPCH, WHA, THAI, TRUE, ROBINS, SUPER, SGP, KKP, GL, CPF, TPIPL, MONO, FOCUS

*** เครดิตสวิส ตัด SET ออกจากกลุ่มตลาดที่มีความแพงแล้ว

       บล.เมย์แบงก์กิมเเอ็ง เปิดเผยว่า ทางเครดิตสวิส (CS) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตัดตลาดหุ้นไทยได้ถูกออกจากกลุ่มตลาดหุ้นที่มีความแพง ?Expensive 4 Club? เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเอาตลาดหุ้นมาเลเชีย ใส่เข้าไปแทน
       ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยได้ถูก CS เอาเข้าไปใน Expensive 4 Club ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ณ วันนี้ SET INDEX อยู่ที่ 1620 จุด แล้วหลังจากนั้น SET INDEX ก็ลงมาต่อเนื่อง และหากกลับไปดู Top Pick ของ CS (double arrow right)ได้แก่ AOT / AP / BA / BTS / DTAC / LH / PTT / SPCG / TREUIF / TUF (double arrow right)ไม่มีหุ้นแบงก์ แต่หาก CS จะกลับมามองหุ้นแบงก์ ในฐานะหุ้นหลักของตลาดหุ้นไทย ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่ง CS ให้น้ำหนัก KBANK / SCB เป็น underperform
        ทั้งนี้คาดว่า เม็ดเงินทุนต่างชาติ อาจต้องกลับมามองตลาดหุ้นไทย สัญญาณบวกคือ กลุ่มธนาคาร นำโดย KBANK แนวโน้มงบ 1Q58 จะยังสามารถ เติบโต yoy / qoq ได้ และเป็นแบงก์ที่พอร์ตสินเชื่อกระจายตัว และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมสูงถึง 40% ของรายได้รวม รวมถึงกลุ่มพลังงานที่งบ 1Q58 จะเห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญลักษณะ qoq โดยเฉพาะหุ้นโรงกลั่น ที่จะพลิกจากขาดทุนใน 4Q57 มาเป็นกำไรใน 1Q58 โดยเฉพาะ IRPC ที่มีประเด็นบวกในปลายปีจากโครงการฟินิกซ์ที่จะเสร็จ ทำให้การกลั่นของ IRPC จะปรับเป็น complex จากเดิมที่เป็น simple refinery ซึ่งให้ยิลของผลผลิต / ต้นทุนการผลิตที่สู้ Complex refinery ไม่ได้ (signal icon) ส่วนหุ้นตาม Fund Flow ได้แก่ KBANK - IRPC และหุ้นที่เป็นที่จับตาของทริกเกอร์ฟันด์ คือ TRUE - IRPC - ITD- TPIPL

*** DBSV มองยังมีหลายปัจจัยบวก - ลบ เข้ามากระทบในเดือนนี้

       ขณะที่บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส เปิดเผยว่า ปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยในเดือนเม.ย.นี้ คือ การยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ภาพรวมการลงทุนดีขึ้น, การเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากยอดขายลดลงได้ในระดับหนึ่ง, การลดลงของราคาน้ำมันดิบทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งต่ำลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งประจำเส้นทาง, ค่า Forward P/E ปี 58 ของตลาดหุ้นไทยลดลงเป็น 15.6 เท่า จากสูงสุดที่ 17.0 เท่า และการทำ Preview ผลประกอบการ 1Q58 ซึ่งจะทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไรบริษัทที่คาดว่าจะมีผลประกอบการออกมาดี
        ส่วนปัจจัยเสี่ยง & ไม่แน่นอน ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่ยังซบเซา สัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้าง Mixed (ยกเว้นภาคท่องเที่ยวที่เติบโตดี เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวแกร่ง 29.6%YoY ในเดือนก.พ.), ธุรกิจการบินถูกกดันจากปมปัญหาICAO, วันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ทำให้การซื้อขายหุ้นขาดความต่อเนื่อง, การปรับลดประมาณการกำไรสุทธิหลังทำ Preview
        ผลประกอบการ 1Q58, การขึ้นเครื่องหมาย XD ของบจ.จำนวนมากในเดือนเม.ย. และความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งจะเข้ามาเป็นระยะๆ

*** XD เดือนนี้ สะเทือน SET ถึง 16.3 จุด

       นอกจากนี้ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ยังได้ประเมินผลกระทบจากการขึ้นเครื่องหมาย XD ของหุ้น ในเดือนเม.ย.นี้ว่ามีนัยสำคัญ โดยหากนำเรื่องการจ่ายเงินปันผลที่เป็นเงินสดและหุ้นปันผล(โดยตีมูลค่าหุ้นปันผลตามราคาตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในวันขึ้นเครื่องหมาย XD) พบว่าจะกระทบกับ SET Index เท่ากับ 16.3 จุด ให้ปัจจัยอื่นคงที่ โดยผลกระทบจากหุ้นหลักเท่ากับ 13.8 จุด นับว่ามีนัยสำคัญ ดังนั้นหากไม่มี
        ปัจจัยบวกใหม่ที่มีนัยสำคัญเข้ามาหนุนตลาดในเดือนเม.ย. SET Index ก็มีสิทธิลดลงเพราะการขึ้นเครื่องหมาย XD ได้
โดยรายชื่อหุ้นที่ขึ้น XD ในเดือน เมษายน 2558 มีดังต่อไปนี้
- วันที่ 9 เมษายน 2558 KBANK ( Impact ต่อดัชนีฯ 0.89) TCAP ( Impact ต่อดัชนีฯ 0.14)
- วันที่ 10 เมษายน 2558 BANPU (Impact ต่อดัชนีฯ 0.19) SCB (Impact ต่อดัชนีฯ 1.63)
- วันที่ 17 เมษายน 2558 BBL (Impact ต่อดัชนีฯ 0.92) BIGC (Impact ต่อดัชนีฯ 0.23) HMPRO (Impact ต่อดัชนีฯ 0.79) MINT (Impact ต่อดัชนีฯ 1.59) SCCC (Impact ต่อดัชนีฯ 0.17)
- วันที่ 21 เมษายน 2558 GUNKUL (Impact ต่อดัชนีฯ 0.76) KTB (Impact ต่อดัชนีฯ 1.34) TMB (Impact ต่อดัชนีฯ 0.28)
- วันที่ 23 เมษายน 2558 QH (Impact ต่อดัชนีฯ 0.61)
- วันที่ 24 เมษายน 2558 SST (Impact ต่อดัชนีฯ 0.25)
- วันที่ 27 เมษายน 2558 BAFS (Impact ต่อดัชนีฯ 0.45) SF (Impact ต่อดัชนีฯ 0.22)
- วันที่ 28 เมษายน 2558 CPF (Impact ต่อดัชนีฯ 0.37) TISCO (Impact ต่อดัชนีฯ 0.17)
- วันที่ 29 เมษายน 2558 BAY (Impact ต่อดัชนีฯ 0.31) CPALL (Impact ต่อดัชนีฯ 0.77) GLOW (Impact ต่อดัชนีฯ 0.34) KKP (Impact ต่อดัชนีฯ 0.12) LH (Impact ต่อดัชนีฯ 0.47)
- วันที่ 30 เมษายน 2558 CPN (Impact ต่อดัชนีฯ 0.31) IVL (Impact ต่อดัชนีฯ 0.10) M (Impact ต่อดัชนีฯ 0.10) SC (Impact ต่อดัชนีฯ 0.21)

*** ยังตัดปัญหากรีซทิ้งไม่ได้

       ด้านบล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ปัญหากรีซเป็นประเด็นที่ยังไม่ควรตัดทิ้ง เนื่องจากระยะสั้นเชื่อว่าปัญหาประนอมหนี้ของกรีซ น่าจะกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง เนื่องจากแผนปฏิรูปกรีซที่จะต้องส่งให้กับ TROIKA ยังไม่แนวทางที่ชัดเจน ทำให้กรีซถูกระงับเงินกู้ภายใต้โครงการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) ซึ่งกระทบต่อภาคธนาคาร ซึ่งกำลังเผชิญกับ วิกฤตสภาพคล่อง
        โดยในวันที่ 9 เม.ย. กรีซมีหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระ 460 ล้านยูโร แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการประชุมที่แฟรงค์เฟิร์ตเมื่อวันพุธที่ผ่าน ECB ได้อนุมัติเพิ่มเพดานเงินกู้ฉุกเฉิน เพิ่มขึ้น 700 ล้านยูโร (754 ล้านเหรียญฯ) แก่กรีซเพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธนาคารของกรีซ ซึ่งกำลังเผชิญกับเงินทุนไหลออกจากการแห่มาถอนเงินของประชาชน (เดือน มี.ค. มีประชาชนแห่มาถอนเงินแล้วกว่า 3 พันล้านยูโร หากนับตั้งแต่ 28 ต.ค. ปีที่แล้ว มีเงินไหลออกไปกว่า 2.8 หมื่นล้านยูโร) แต่เป็นที่สังเกตว่าวงเงินครั้งน้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่เคยได้กว่า 1 พันล้านยูโร
         แม้กรีซจะได้ต่อลมหายใจออกไป แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น และ ขั้นตอนนี้เป็นเพียงการอนุมัติขั้นต้นเท่านั้น ส่วนการอนุมัติเบิกถอน จะมีขั้นตอนสำคัญ อยู่ในวาระการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรป ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ขณะที่นายกฯ กรีซ อเล็กซิส ซิปราสยังคงยืนยันที่จะต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ก็อาจจะเป็นประเด็นที่กลับมากดดันต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น ในช่วงสั้น

*** สภาตลาดทุน เผยความเชื่อมั่นหุ้นไทย 3 เดือนข้างหน้า วูบ 33.5% เชียร์หุ้นแบงก์ - หลีกเลี่ยงยานยนต์

       นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 78.90 ปรับตัวลดลง 33.5%จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าความเชื่อมั่นลดลงอย่างมาก และเข้าสู่สภาวะซบเซา (Beariss) โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด คือเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประเด็นต่อมาคือ นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ และเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นหลัก โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงน่าลงทุนมากที่สุด คือ ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่หมวดยานยนต์เป็นกลุ่มที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด
       ด้านดร.สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันจากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 54,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 45,000 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนบุคคลในประเทศ จากสัดส่วน 62% เป็น 64% ขณะที่คาดว่านักลงทุนต่างชาติคงจะไม่มีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยแม้ยังอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากปัจจุบันระดับ P/E ลดลงเหลือเพียง 14.77 เท่า จากช่วงปลายปีก่อนขึ้นไปที่ 17-18 เท่า ทำให้มุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยหากโครงการลงทุนภาครัฐ เริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้
        ขณะเดียวกันสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับสูงสุดของภูมิภาค มีอัตราการหมุนรอบซื้อขาย (Velocity) อยู่ในระดับ 87.9% สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่ที่ 33% มาเลเซีย 23% อินโดนีเซีย 21% และฟิลิปปินส์ 16%

*** ม.หอการค้าไทย หั่นเป้า จีดีพีปีนี้เหลือโต 3-3.5% - ส่งออกเหลือโต 0-1%

       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าเตรียมปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีปีนี้ลงเหลือ 3-3.5% จากเดิมที่คาดโต 1-2 % เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีสัญญาณชะลอตัว โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกน่าจะขยายตัวได้ 2.5% ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.5-3% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดขยายตัว 4% นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มปรับลดประมาณการส่งออก เหลือ 0-1% จาก 3-4% โดยหลังจากนี้ไปอานิสงส์ต่อหารขับเคลื่อนที่สำคัญจะมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลการทบทวนตัวเลข จีดีพีและส่งออกปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง วันที่ 16 เม.ย. นี้
      นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการและใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศแทนนั้น มองว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวคลายความกังวลต่อการเดินทางท่องเที่ยวได้บ้าง ส่วนการเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง
        นอกจากนี้ มองว่า ในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะต้องจับตาดูมาตรการต่างๆที่ออกมา รวมถึงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาด้วย โดยหากเศรษฐกิจฟื้นมองว่า ธปท.คงไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่หากเศรษฐกิจยังมีปัญหาและมีการฟื้นตัวล่าช้า อาจจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาส 2-3

*** ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

      นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. อยู่ที่ 77.7 จาก 79.1 ใน ก.พ. ซึ่ง เป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลความ ไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงกังวลราคายางพาราและข้าวในระดับต่ำ ขณะที่ภัยแล้งกระทบภาค การเกษตร ส่วนการส่งออกยังฟื้นตัวไม่ดีนัก รวมทั้ง มาจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เหลือ 3.8% จาก 4% หลังมองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ยังเป็นผลจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ลดลง และความล่าช้าในการลงทุนภาครัฐ
       นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อ ดัชนีในตลาดหุ้นไทยเดือนมีนาคมปรับลดลง 81.07 จุด ปรับลดลงจาก 1,587.21 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 1,505.94 จุด ในสิ้นเดือนมีนาคม ประกอบกับการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 17,229.75 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.15% ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
      ด้านค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย หลังจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูงแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
        สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ทึ่ 67.1 จาก 68.4 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคตในอีก 6 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงมาอยู่ที่ 78.9 จาก 80.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
        อนึ่ง การสำรวจความเห็นประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น ระดับดัชนีที่สูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังเห็นว่าภาวะการณ์นั้นๆ อยู่ในระดับปกติ แต่หากดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภครู้สึกไม่มั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจ




เรียบเรียง โดย ประน้อม บุญร่วม  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com