วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกบางแห่ง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนตกร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในปีนี้ หลังจากที่ลดลงครั้งแรกในรอบครึ่งทศวรรษในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคายางที่ฟื้นตัวขึ้นจะกระตุ้นการกรีดยางของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งไทย เวียดนาม และอินเดีย โดยสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดว่าผลผลิตยางในปี 2558 จะสูงขึ้นถึง 11.18 ล้านตัน ถึงแม้ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางธรรมชาติก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีเมื่อเดือนกันยายน 2557 เนื่องจากสต๊อคลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยสต๊อคยางของกลุ่มประเทศ ANRPC สิ้นเดือนมกราคมอยู่ที่ 988,300 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วเกือบ 1 ใน 4
ผลผลิตยางของไทยผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 หรือประมาณ 4.3 ล้านตัน
ผลผลิตในอินโดนีเซียยังคงทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3.1 ล้านตัน
เวียดนามคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 หรือประมาณ 1 ล้านตัน
จีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้ายางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดประสบปัญหาเศรษฐกิจ อาจฉุดรั้งการนำเข้าลดลงมาอยู่ที่ 3.7 ล้านตัน หรือลดลงจากปีก่อนเกือบร้อยละ 10.0
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลการค้าเดือนมกราคมปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.97 หมื่นล้านยูโร ลดลงจากเดือนก่อนที่ 2.16 หมื่นล้านยูโร
- ธนาคารกลางยุโรปเปิดฉากใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโร หรือ 6.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในวันนี้ ส่งผลให้บอนด์ยีลต์ยุโรปอ่อนตัวลง โดยผลตอบแทน 10 ของเยอรมันปรับตังลดลงร้อยละ 13.0 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนลดลงร้อยละ 0.5
- นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐฯ สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปีนี้
- นักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยการพัฒนาของจีนกล่าวว่า จีนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลงในปีนี้ โดยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลง และยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 7.0 ในปีนี้ และจะมีอัตราเติบโตในระดับสูงถึงปานกลาง
- ธนาคารกลางฝรั่งเศสประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรกลงร้อยละ 1.0 สู่ร้อยละ 0.3
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.62 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 121.68 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.94 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 50.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.39 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไร หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงติดต่อกัน 2 วันทำการ
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 58.53 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่สูงเกินไป
- เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ได้กล่าวว่า ตลาดน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่ตลาดมีอุปทานสูงเกินไปถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง พร้อมนี้ได้กล่าวว่าโอเปคไม่ควรลดกำลังการผลิตเพื่อชดเชยให้ Shale Oil ซึ่งมีต้นทุนผลิตที่สูงกว่า ซึ่งขณะนี้มีการผลิตเป็นจำนวนมากในอเมริกาเหนือ นับเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของหินดินดาน และมีต้นทุนสูงถึง 40 - 60 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ Crude Oil อยู่ที่ 20 - 30 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- โกลด์ แมน แซคส์ ออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง สวนทางกับการพุ่งขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากถูกกดดันจากปริมาณสต๊อคน้ำมันในตลาดโลกที่ยังพุ่งสูงขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันสหรัฐฯ มีแนวโน้มดิ่งลงแตะระดับ 40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 214.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 210.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.3 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง
7. ข่าว
- พรรคร่วมรัฐบาลกรีซซึ่งมีจุดยืนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดเตรียมเรียกร้องให้มีการลงประชามติ เพื่อพิจารณานโยบายของรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยูโรโซนเตรียมระงับแผนการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประชุมที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้
- กลุ่มรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยูโรโซนจะจัดการประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซ ซึ่งทางกลุ่มเจ้าหนี้มองว่านโยบายของกรีซยังห่างไกลจากความเป็นจริง เมื่อเทียบกับข้อเสนอที่ได้มีการหารือไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางน่าจะทรงตัว เพราะผลผลิตค่อนข้างมีน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความต้องการซื้อเพื่อเก็บไว้ช่วง 1 - 2 เดือนข้างหน้าที่ปริมาณยางจะลดลงมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม การประกาศหยุดรับซื้อยางขององค์การสวนยางยังเป็นแรงกดดันราคายางในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลเชิงจิตวิทยา
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ลดลงตามฤดูกาล และการอ่อนค่าของเงินเยน ประกอบกับข่าวธนาคารกลางยุโรป (ECB.) เริ่มเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ส่วนปัจจัยลบมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด และความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยางโลกในภาพรวมยังคงซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา