ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 943 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84893
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันอังคารที่  3  มีนาคม  พ.ศ. 2558



ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ทั่วประเทศมีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีเมฆบางส่วน ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณตอนบนของภาค ไม่กระทบต่อการกรีดยาง หลายพื้นที่อยู่ในช่วงหยุดกรีดตามฤดูกาล


2. การใช้ยาง


- สมาคมดีลเลอร์รถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะ 482,103 คัน เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค และเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน


3. เศรษฐกิจโลก


- ศูนย์สารสนเทศแห่งรัฐของจีน (SIC) คาดว่าการปรับตัวของเศรษฐกิจมหภาคของจีนจะมีเสถียรภาพ ด้วยการส่งเสริมการปฏิรูปและสนับสนุนนโยบายควบคุมระดับมหภาค โดยคาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี


- ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 55.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 53.9 ดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50.0 บ่งชี้ถึงการขยายตัว โดยคำสั่งซื้อใหม่และภาคการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557


- สถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐฯ (ISM) รายงานว่า เดือนกุมภาพันธ์ภาคการผลิตมีการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 52.9 ลดลงจากร้อยละ 53.5 ในเดือนมกราคม เป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงร้อยละ 0.2 ในเดือนมกราคม แสดงถึงท่าทีระมัดระวังของครัวเรือนอเมริกัน แม้ว่าราคาน้ำมันลดลงและการจ้างงานทรงตัวก็ตาม


- ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) จะเริ่มดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนนี้ ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ซึ่งระบุว่า ECB. จะซื้อพันธบัตรจำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงเดือนกันยายน 2559


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (EU.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซนเมื่อเทียบเป็นรายปีลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากปรับลดลงร้อยละ 0.6 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 0.2 ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ยูโรโซนเปิดเผยว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนเดือนมกราคมลดลงเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 จากร้อยละ 11.3 ในเดือนธันวาคม ร้อยละ 11.4 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 11.5 ในเดือนตุลาคม


- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบจากปีก่อน อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านเยน และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี


- HSBC โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นแตะ 50.7 จุด จาก 49.7 จุดในเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินเบื้องต้นที่ 50.1 จุด


- ผลสำรวจระบุว่า


ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ทรงตัวที่ 51.0 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม แต่ลดลงเล็กน้อยจากรายงานเบื้องต้นที่ 51.1
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเยอรมันเดือนกุมภาพันธ์ขยับขึ้นเล็กน้อย สู่ 51.1 จาก 50.9 ในเดือนมกราคม
ภาคการผลิตฝรั่งเศสเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลดลง แตะ 47.6 จาก 49.2 ในเดือนมกราคม แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัว
ภาคการผลิตอิตาลีเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นแตะ 51.9 จาก 49.9 ในเดือนมกราคม
4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 120.03 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.24 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 49.59 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.17 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 59.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 3.04 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เพิ่มขึ้นแตะ 9.285 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526 ขณะเดียวกันมีรายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันเดือนกุมภาพันธ์กลุ่มโอเปคเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 30.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนการผลิตน้ำมันดิบซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น 130,000 บาร์เรล แตะที่ 9.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 221.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.9 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 220.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.7 เยนต่อกิโลกรัม


- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 183.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า เดือนมกราคมการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.1 หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในเดือนธันวาคม 2557 สะท้อนถึงความอ่อนแอในการใช้จ่ายด้านการสร้างอาคารสำนักงานและโครงการที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัว ไม่สูงขึ้นหรือลดลงมากในระยะนี้ เพราะแม้ว่าผลผลิตจะลดลง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ ทำให้มีการถามซื้อน้อย และซื้อในราคาต่ำกว่าราคาตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ รวมทั้งการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า ทำให้ส่งออกได้น้อยลงและล่าช้า






แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกมาจากอุปทานยางออกสู่ตลาดลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ และแหล่งข่าวรายงานว่าหลายพื้นที่หยุดกรีดแล้ว ประกอบกับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาลยังคงสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐฯ และยูโรโซน






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา