ผู้เขียน หัวข้อ: IRCo-ITRC ปลดแอกราคายาง คุมปลูก-ส่งออก-ตั้งตลาดซื้อขายจริง  (อ่าน 742 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84531
    • ดูรายละเอียด
IRCo-ITRC ปลดแอกราคายาง คุมปลูก-ส่งออก-ตั้งตลาดซื้อขายจริง



อีกเพียง 2 เดือนข้างหน้า ยางพาราฤดูกาลใหม่จะเริ่มเปิดกรีดโดยที่ 16 มาตรการรัฐยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ถือโอกาสสัมภาษณ์ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด หรือ IRCo ซึ่งจะร่วมประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 23-27 ก.พ. 58 ถึงแนวทางการร่วมมือ 3 ประเทศผู้ผลิตยางเพื่อกู้วิกฤตราคาในระยะยาว และความเห็นต่อทิศทางนโยบายยางของภาครัฐต่อจากนี้


ประชุม ITRC สัปดาห์นี้


สาระสำคัญคือการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มราคายางในช่วงที่กำลังจะมาถึง และจะเชิญกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) มาประชุมด้วยในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เพื่อหารือเรื่องแนวทางที่จะร่วมมือกันในอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้ราคายางตกต่ำ


อีกส่วนจะติดตามความก้าวหน้าของการประชุม ITRC ครั้งก่อนเมื่อเดือน พ.ย. 57 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามคือ


1)แผนการตั้งตลาดกลางยางพาราอาเซียน ซึ่งท่านรัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศได้กำหนดให้ตั้งขึ้นใน 18 เดือน


2)การจัดตั้งสภายางพาราอาเซียน เพื่อเป็นสภาของผู้ผลิตยางในภูมิภาค เพื่อวางแผนผลิต การตลาด อุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ


3)การควบคุมกำกับดูแลปริมาณการผลิตและส่งออก


เรื่องการผลิต ITRC ตกลงกันว่า อีก 6-7 ปีข้างหน้าต้องไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกยางรวมทั้งประเทศไทย ทั้ง 3 ประเทศตกลงกันว่าต้องติดตามในระดับพื้นที่ในปีนี้ ส่วนการกำกับดูแลการส่งออกต้องบริหารสต๊อก ทุกประเทศต้องระบายยางในระดับเหมาะสม ส่วนที่เกินก็ต้องเก็บอยู่ในโกดังเพื่อรอระบาย


กลไกคุมส่งออกยาง 3 ประเทศ


IRCo เป็นคนเปิดไฟเขียวไฟแดงว่าส่งออกได้แค่ไหน แนะนำว่าควรส่งออกเท่าไหร่ไม่ได้บังคับ เพียงแต่เป็นข้อมูลว่าถ้าเราร่วมมือกันส่งออกเท่านี ราคาจะไม่ตก


เราได้เริ่มการกำกับตั้งแต่เดือน ม.ค. ทั้ง 3 ประเทศส่งออกรวมกันประมาณการทั้งปีนี้ประมาณ 7 ล้านตัน เฉลี่ยเดือนละ 6 แสนตัน เดือน ม.ค. 58 ไม่เกินเป้าที่ตั้ง แต่ยางเป็นช่วงออกผลผลิตน้อย


การควบคุมการส่งออก สมมติเราบอกว่าไทยส่งได้เดือนละ 3 แสนตัน เมื่อพ่อค้าจะส่งออกต้องมาขออนุญาตที่สถาบันวิจัยยาง ส่วนตัวเลขส่งออกจริง เราจะได้มาจากศุลกากร ซึ่งเราใช้ตรวจสอบกลับได้ว่าตรงกับที่ขออนุญาตหรือไม่


มาเลเซียเองมีกลไกหักเงินเซสส์ ดังนั้นก็จะรู้ตัวเลขส่งออก อินโดนีเซียก็ต้องขออนุญาตผ่านกรมการค้าและศุลกากร


มาตรการบัฟเฟอร์ฟันด์ของรัฐ


มาตรการบัฟเฟอร์ฟันด์ที่เข้าซื้อราคาสูงกว่าตลาด ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาซื้อยางราคาแข่งขัน ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือยางที่รัฐซื้อมาเก็บไว้เดิม 2 แสนตัน กับยางใหม่ที่ใช้เงินบัฟเฟอร์ฟันด์ชุดแรก 6,000 ล้านบาทซื้อแล้ว กับอีก 6,000 ล้านบาทชุดที่สองที่ ครม.อนุมัติวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ถ้าคิดเป็นตัวเลขกลม ๆ หากไม่มีการระบายออกเลย เราจะมียางในสต๊อกร่วม 4 แสนตัน


สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ ช่วงไตรมาส 2-4 ซึ่งเป็นหน้ายางออกมาก เราเก็บยางไว้ 3-4 แสนตัน แบบนี้จะระบายออกอย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหากับราคายางปีนี้ นี่เป็นปัจจัยลบให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้านำมาเล่นข่าวกดราคาในไตรมาส 2-4 ที่จะมาถึง รัฐไม่ควรหมกมุ่นกับตลาดจีนตลาดเดียว เราต้องการตลาดอื่น เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย หรือตลาดที่ไม่ได้ใช้ยางมากก็ได้ จะบาร์เตอร์เทรดกันก็ได้ แนวทางตั้งตลาดยางส่งมอบจริง สิ่งที่ผมต้องการผลักดันคือตั้งตลาดส่งมอบจริงให้ได้ และเชิญชวนให้ผู้ใช้ยาง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยางล้อ ถุงมือยาง มาซื้อยางในตลาดจริง ทั้ง 3 ประเทศเองก็จะตั้งตลาดกลางยางอาเซียน นำมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน ถ้าตั้งได้ ข้อสังเกตคือเรา 3 ประเทศขายยางได้ 65% ของทั้งโลก และเรากำลังเชิญกลุ่มประเทศ CLMV มาเป็นพันธมิตร ถ้าเขาร่วมมือกับเรา ผลผลิตยาง 72% ของโลก จะมาจาก 7 ประเทศนี้ ดังนั้น เราต้องตั้งสภายางอาเซียนให้ได้ เพื่อปลดปล่อยเราจากการกำหนดราคาโดยผู้ซื้อ โดยกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า มาเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่จะกำหนดราคายางในตลาดโลก แต่รัฐบาลไทยต้องเริ่มจากการตั้งตลาดส่งมอบจริงให้ได้ ไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่แล้วคือ ตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง และตลาดท้องถิ่นของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ก็เอาตลาดเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันให้เป็นตลาดประเทศไทย หลังกลับจากการประชุม ITRC ที่บันดุง IRCo จะเตรียมแผนโครงการเรื่องตลาดยางส่งมอบจริงให้ชาวสวนยางได้พิจารณาด้วยเพื่อยื่นเสนอถึงรัฐบาล แนวโน้มราคายางช่วงนี้ ไตรมาสที่ 1 เชื่อว่าปัจจัยแวดล้อมที่จะผลักดันให้ราคายางฟื้นตัว คือ 1)ความต้องการใช้ยาง ข้อเท็จจริงคือมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยางล้อและยางอื่น ๆ 2)ซัพพลายยางที่หลายคนคาดว่าปีที่แล้ว และปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาก ก็ไม่ได้เพิ่มตามที่คาด เพราะราคายางไม่ดี และแรงงานกรีดยางออกจากระบบ ส่วนปัจจัยภายนอกที่จะหนุนราคา เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกดีขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ราคาน้ำมันซึ่งเป็นตัวแปรให้สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวดีขึ้น และค่าเงินเยนยังอ่อนตัวที่ระดับ 118 เยน/1 USD ปัญหาคือการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TOCOM ยังพยายามกดราคายางในตลาดจริงไม่ให้สูงขึ้น ราคายางที่โตเกียวอยู่ที่ 60-61 บาท/กก. ใกล้เคียงกับราคา FOB ที่ไทย เมื่อตลาดล่วงหน้าเป็นแบบนี้จึงเป็นปัจจัยลบที่กดไม่ให้ราคาตลาดจริงสูงขึ้นได้ ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


 
27/2/2015