ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวด่วน ห้ามการเมืองแทรกแซงบจ.-ตลาดหุ้น  (อ่าน 453 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85862
    • ดูรายละเอียด
ข่าวด่วน ห้ามการเมืองแทรกแซงบจ.-ตลาดหุ้น
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2015, 10:06:57 AM »
ห้ามการเมืองแทรกแซงบจ.-ตลาดหุ้น


สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -26 ก.พ. 58 7:44: น

** ยกระดับความโปร่งใส  ส.นักวิเคราะห์เตือนหุ้นฟองสบู่

                สปช.ฝ่ายตลาดทุนเตรียมเสนอมาตรการ "ลดการแทรกแซงของนักการเมืองในตลาดหุ้น"ต่อสภาปฏิรูปฯ 27 ก.พ.นี้ หวังยกระดับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม รสก.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบิ๊กแค็ป ด้าน ส.มาคมนักวิเคราะห์เตือนหุ้นไทยเสี่ยงฟองสบู่ ระบุพี/อี15เท่า แพงเกินไป ผลการดำเนินงาน บจ.เติบโตไม่ทัน พร้อมฟันธงเงินคิวอีจากยุโรป -ญี่ปุ่นจะไม่ไหลเข้าไทย หากยังไร้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ด้านกลุ่มอเบอร์ดีนยังให้น้ำหนักหุ้นไทย Overweight

*** ตลาดทุน เตรียมชงมาตรการสกัดนักการเมืองแทรกแซงตลาดหุ้น


             นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุนในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เปิดเผยว่า ในวันที่ 27ก.พ.นี้ จะมีการเสนอความเห็นต่อ สปช.โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะเน้นก็คือมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาปรับใช้เพื่อลดการแทรกแซงทางการเมืองต่อบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น บจ.ที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ มีผลต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก โดยจะมีการผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยให้มีความโปร่งใสตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

             "สิ่งที่เราต้องรีบเร่งผลักดัน คือขจัดการแทรกแซงของนักการเมืองกับ บจ.เพราะถือว่าเป็นตัวฉุดสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน กลุ่มพลังงานก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งถ้าหากตัดเรื่องนี้ออกไปได้ ให้ธุรกิจกับการเมืองแยกออกจากกัน ผมว่าตลาดทุนไทยจะยกระดับได้อีกมาก "นายไพบูลย์ กล่าว

*** หุ้นไทยเสี่ยงฟองสบู่ พี/อี 15เท่าแพงไป


             นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่ เนื่องจากระดับ P/E ปัจจุบันที่ 15 เท่า ถือว่าสูงกว่าภูมิภาค ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีที่ผ่านมาก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาหุ้นโดย บจ.ไทยมี P/E สูงกว่า 15เท่าถึง 425 บริษัทหรือกว่า 70% ของบริษัททั้งหมด และมีบจ.ที่มี P/E เกิน 30 เท่าถึง 27% ขณะที่มีบจ.ที่ยังขาดทุนถึง 17% นอกจากนี้ ปัจจุบันหุ้นไทยมี P/E สูงกว่าหุ้นในภูมิภาคเอเชีย 3% จาก 5 ปีก่อนที่ต่ำกว่าภูมิภาค 6% หรือหากเทียบกับกลุ่มอาเซียน จากที่ตลาดหุ้นไทยมีส่วนลดที่ 16% เมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันเหลือเพียง 7% สะท้อนว่าราคาหุ้นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปัจจัยพื้นฐาน โดยหากเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ประเมินไว้ ประกอบกับยังมีประเด็นการเมืองคอยกดดันเม็ดเงินลงทุนต่างชาติอยู่ โอกาสที่ บจ.ไทยจะถูกปรับลดประมาณการณ์กำไรจากนักวิเคราะห์ก็ยังคงมีอยู่

             "หุ้นไทยถือว่าแพงเกินภูมิภาคไปแล้วตอนนี้ ที่หุ้นยังยืนได้เพราะยังไม่มีปัจจัยลบแรงๆ เข้ามากระทบ ขณะที่นักลงทุนในประเทศก็ยังมีการซื้อขายอย่างหนาแน่น ทำให้สภาพคล่องยังแน่นอยู่ แต่ด้วยความที่ราคาหุ้นไม่สะท้อนกับพื้นฐาน เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่มาทำให้สภาพคล่องหาย และเงินต่างชาติไหลออกแรงๆ ก็มีความน่ากลัวเกี่ยวกับฟองสบู่ในตลาดหุ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

             พร้อมกันนี้มองว่าหากประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โอกาสที่จะเห็นการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติจากนโยบาย QE ของกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนดังกล่าวต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะถือว่าการเมืองเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการลงทุน

*** แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
             นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพราะระดับปัจจุบันถือว่าไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ โดยดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ระดับ 2.4% สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งไม่เหมาะกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้ที่ต้องใช้ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจ ??ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนมากกว่าจีดีพีของประเทศ 84.7% หนี้ภาครัฐมากกว่าจีดีพี 73.0% และหนี้ภาคเอกชนก็สูงกว่าจีดีพี 46.2% ด้านเงินบาทก็จะยังไม่ใช่การแข็งค่าที่ยั่งยืนเพราะไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้น

             "หากต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะตอนนี้ไม่สะท้อนกับเศรษฐกิจ ซึ่งพอดอกเบี้ยยังสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นแต่หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าความสามารถในการชำระหนี้จะลดลงในทุกๆ วัน"นายไพบูลย์ กล่าว

**กลุ่มอเบอร์ดีน ยังให้น้ำหนักหุ้นไทย Overweight

             นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อเบอร์ดีน เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม "อเบอร์ดีน" ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยในระดับ "Overweight" โดยมองว่าพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงแข็งแกร่ง เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว โดย "อเบอร์ดีน" ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการลงทุนหุ้นไทยปัจจุบันราว 1.8 แสนล้านบาท                 
             "หุ้นหลายๆ บริษัทของไทยยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งงบการเงินและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีการกระจายความเสี่ยงหลากหลาย ซึ่งเรามองการลงทุนเป็นระยะยาว 3-5 ปี และไม่ได้สนใจภาวะตลาดในช่วงสั้นว่าจะเป็นอย่างไร โดยยังคงให้น้ำหนักหุ้นไทยที่ Overweight " นายกรวุฒิ กล่าว

*** นายกสมาคม บจ.มองหุ้นพลังงานจะกลับสู่ภาวะปกติใน 2ปี

             นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า หุ้นพลังงานจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 ปี โดยมองว่าแนวโน้มราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะยังคงเป็นพลังงานหลักของโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็น่าจะทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้มองว่าเป็นโอกาสเหมาะสมในการเข้าลงทุนหุ้นพลังงานเพื่อการลงทุนระยะยาว เนื่องจากราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากในระยะที่ผ่านมา เพราะในที่สุดหุ้นในกลุ่มดังกล่าวก็จะยังคงเป็นตัวเลือกหลักของการลงทุนต่อไป เพราะเกี่ยวของกับภาคการอุปโภคตั้งแต่ต้นน้ำ

             ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคม นักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ระบุว่า การที่ภาครัฐเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 จะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน ทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานไม่น่าสนใจ ดังนั้น แนะนำนักลงทุนลดสัดส่วนหุ้นพลังงาน ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก ส่งผลต่อกำไรของบริษัทพลังงานปรับลดลงตาม

             นอกจากนี้ นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มเมื่อมีการเลื่อนเปิดสัมปทานครั้งนี้อาจกระทบถึงการต่ออายุสัมปทานในแหล่งบงกชและเอราวัณที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งจะหมดอายุภายใน 7ปีนับจากนี้ รวมทั้งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP) ที่ยังไม่ชัดเจน ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน ไฟฟ้า พลังงานทดแทนด้วย

             ทั้งนี้ มองว่า หุ้นโรงกลั่นยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มพลังงาน เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันที่ต่ำลงทำให้ค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้น ขณะที่น่าจะกลับมาบันทึกกำไรจากการสต๊อกน้ำมันในปีนี้  ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีก็น่าจะได้รับประโยชน์จากราคาต้นทุนวัตถุดิบตั้งต้นซึ่งจะเพิ่มให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

             โดยให้จับตาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP)มีท่าทีว่าจะถูกเลื่อนออกไปเป็นครึ่งหลังนี้ จากความไม่แน่นอนของราคาก๊าซ และคาดว่าจะยังไม่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหุ้นในปีนี้  เนื่องจากมีกำลังการผลิตมากเกินไปในระยะสั้น ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนคาดจะมีการประกาศผลผู้ได้รับ PPA (Solar) 800MW ใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาหุ้นบางตัวมีการขายทิ้ง อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่ม Contractor จะยังได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างโปรเจคอย่างต่อเนื่อง




เรียบเรียง โดย ประน้อม บุญร่วม  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com