ผู้เขียน หัวข้อ: "ลดต้นทุน" ทางรอดชาวสวนยาง  (อ่าน 654 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84347
    • ดูรายละเอียด
"ลดต้นทุน" ทางรอดชาวสวนยาง
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2015, 10:13:46 AM »
"ลดต้นทุน" ทางรอดชาวสวนยาง



ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนกันถ้วนหน้า "ศูนย์วิจัยยางหนองคาย กรมวิชาการเกษตร" จึงได้นำเสนอวิธีการลดต้นทุนปลูกยาง เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือชาวสวนยางในภาวะวิกฤตเช่นนี้


"เกษตร แนบสนิท" นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางหมดต้นทุนไปกับค่าจ้างกรีดมากที่สุด โดยต้นทุนต่อราคายาง 1 กก. มีค่าจ้างกรีดอยู่ที่ประมาณ 40-50% ปกติเกษตรกรหนึ่งคนจะสามารถกรีดได้ 500-700 ต้นต่อวัน (ครึ่งลำต้น) แต่หากมีสวนยางหลายไร่ หรือประมาณ 1,500 ต้นขึ้นไป จะไม่สามารถกรีดด้วยตนเองได้ ทำให้ต้องจ้างกรีด จึงควรลดต้นทุนค่ากรีดยางลงด้วยการวางแผนกรีด


"โดยปกติแล้วการสร้างน้ำยางจะมีวงรอบอยู่ที่ 48 ชั่วโมง แต่เกษตรกรไทยในปัจจุบันกรีดยางถี่เกินไป เช่น กรีดสองวันเว้นวัน สามวันเว้นวัน เพราะต้องการน้ำยางปริมาณมากๆ แต่วิธีนี้แม้ได้ผลผลิตเยอะขึ้นจริง แต่อายุต้นยางจะสั้นลงจากห้าปีเหลือสามปี เพราะเป็นการเร่งต้นยางเกินไป จึงควรวางแผนกรีดสลับวันเว้นวัน เพื่อให้ต้นยางเกิดกระบวนการเมตาบอลิซึ่มสร้างน้ำยางขึ้นมา"


อีกวิธีหนึ่ง คือ การกรีดสลับแปลง คือแบ่งสวนยางเป็นแปลงๆ แล้วกรีดสลับกัน เพื่อพักต้นยาง แม้จะได้ยางน้อยลง แต่ปริมาณยางเฉลี่ยสะสมไม่ต่างกันมากนักที่ 10-15% ทั้งยังช่วยให้ต้นยางอายุยืนขึ้นด้วย


ทั้งนี้ เกษตรกรควรลดต้นทุนตั้งแต่เริ่มปลูก คือ การเลือกพื้นที่ปลูกที่มีความเหมาะสม โดยยางพาราชอบดินที่เป็นที่ร่วนทราย หน้าดินหนา 1 เมตร ความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 4.5-5.5 เป็นกรดอ่อน ๆ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยจะปลูกตามใจ หรือปลูกตามพื้นที่ที่มี ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา


นอกจากนี้ยังควรเลือกพันธุ์ยางให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงที่จำหน่ายต้นยางในราคาสูงถึงต้นละ 100-200 บาท ทั้งที่จริงแล้วราคาต้นละไม่กี่สิบบาท โดยเกษตรกรสามารถปรึกษากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรตำบล สกย. หรือสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เพื่อรับฟังข้อมูลในการปลูกและดูแลต้นยางพาราที่ถูกต้อง


เกษตรกล่าวว่า การปลูกพืชแซมเพื่อช่วยคลุมดินก็ช่วยได้เช่นกัน อาทิ กล้วย สับปะรด เพื่อป้องกันวัชพืช และลดต้นทุนในการซื้อยากำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยให้ยางพารา และเกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปจำหน่าย ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเกษตรกรสวนยางที่เข้าใจวิธีการลดต้นทุนอยู่ประมาณ 40% หากจะปรับเปลี่ยนทัศนคติเกษตรกรก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป


ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


 
20/2/2015