วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- กระแสลมตะวันตกจากประเทศเมียนมาร์เข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกรรโชกแรงและอากาศเย็นลง ส่วนภาคใต้มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีเมฆบางส่วนและฝนตกบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลผลิตยางธรรมชาติของอินเดียเดือนมกราคมลดลงมาอยู่ที่ 60,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณ 1 ใน 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดการผลิต หลังจากราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 อยู่ที่ 84,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ต้องเพิ่มการนำเข้าถึงร้อยละ 11.0 หรือ 30,441 ตัน
3. เศรษฐกิจโลก
- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนเดือนธันวาคมปรับขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อยู่ที่ 8.536 แสนล้านเยน บ่งชี้ว่าบริษัทเอกชนต้องการที่จะเพิ่มเงินลงทุน เนื่องจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น
- รัฐมนตรีกระทรวงการค้า และรองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นว่า การคลังของญี่ปุ่นอยู่ใน ?สถานะย่ำแย่? พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นรายได้การคลัง และปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อกอบกู้สถานะการคลังของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
- ธนาคารกาลางจีนอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2.05 แสนล้านหยวน (3.344 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับความต้องการเงินสดที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ที่จะเริ่มในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 0.8 อยู่ที่ 4.3977 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ หลังจากลดลงร้อยละ 0.9 ในเดือนธันวาคม ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนพฤศจิกายน
- ธนาคารกลางกรีซแถลงการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) ประกาศเพิ่มวงเงินกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือทางการเงินต่อภาคธนาคารของกรีซอีก 5 พันล้านยูโร สู่ระดับ 6.5 หมื่นล้านยูโร โดยการขยายวงเงินดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สต๊อคสิค้าคงคลังภาคธุรกิจประจำเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 อยู่ที่ 1.764 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากที่คาดว่าจะเพิ่มร้อยละ 0.2
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.64 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.96 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.07 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดตลาดที่ 51.21 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.37 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และจากข่าวที่ว่าบริษัทโททาล เอสเอ ประกาศปรับลดการลงทุนด้านพลังงาน
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดที่ 57.05 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.39 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคม อยู่ที่ 218.2 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 220.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.9 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 184.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง
7. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เพิ่มขึ้น 25,000 ราย อยู่ที่ 304,000 ราย ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 290,000 ราย
- นายกรัฐมนตรีกรีซกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าการเจรจาระหว่างกรีซและประเทศเจ้าหนี้จะสามารถหาทางออกร่วมกันได้
- ประธานาธิบดีรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียและผู้นำฝรั่งเศส เยอรมัน และยูเครน ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพ รวมถึงการถอนอาวุธหนักออกจากยูเครนและการหยุดยิงจะเริ่มขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF.) ประกาศให้เงินยูเครนเป็นจำนวน 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศให้พ้นจากภาวะล้มละลาย และสหภาพยุโรป (EU.) อาจจะยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลผลิตเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ต่างประเทศยังเงียบ โดยเฉพาะผู้ซื้อจากจีนหายไปบางส่วนเพื่อเตรียมหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกันหากเสนอขายในราคาตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ก็ยังไม่มีผู้ซื้อ โดยหันไปสนใจยางแท่งมากกว่า เพราะราคาต่ำกว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละเกือบ 15 บาท
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนขานรับวิกฤตการณ์ในยูเครนคลี่คลายลง และมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้กรีซจะสามารถหาทางออกได้ ขณะที่อุปทานยางออกสู่ตลาดลดลงเพราะหลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและการชะลอซื้อเพราะใกล้วันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา