ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 1022 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  15  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศเย็น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้อ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และมีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ทำให้ปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น


2. การใช้ยาง


- รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า รัสเซียสนใจซื้อสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพาราที่ต้องการซื้อจากไทยจำนวน 80,000 ตัน ในระยะแรก และระยะต่อมาจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ตัน เพื่อรองรับตลาดผลิตรถยนต์ของรัสเซียที่คาดว่าจะผลิตได้ 3 ล้านคันในปี 2559


3. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า เดือนธันวาคมยอดค้าปลีกทั่วไปลดลงร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนตัวเลขสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 สู่ระดับ 1.763 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ยอดจำหน่ายภาคธุรกิจลดลงร้อยละ 0.2 สู่ระดับ 1.345 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ


- รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเยอรมันกล่าวยืนยันว่า ไม่มีภาวะเงินฝืดในยูโรโซน และรัฐบาลกรีซที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนนี้จะต้องเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดต่อไป


- คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณประจำปี 2558 ในวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 96.34 ล้านล้านเยน (8.1097 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการฟื้นฟูสถานะการคลังให้มีความแข็งแกร่งและสมดุล รวมทั้งกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ


- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน


- ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกปี 2558 และลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2557 โดยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกครั้งล่าสุดคาดการณ์ว่า


อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ส่วนอัตราการขยายตัวในปี 2557 มีการประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.6
เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเร็วขึ้น สู่ร้อยละ 3.2 ในปี 2558 จากร้อยละ 2.4 ในปี 2557 หลังจากนั้นจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2559 และร้อยละ 2.4 ในปี 2560
ปี 2558 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 7.1 ต่ำกว่าปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 และจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ในปี 2559 และร้อยละ 6.9 ในปี 2560 เนื่องจากการปฏิรูปโครงสร้างของจีน เช่น การถอนมาตรการกระตุ้นด้านการคลังอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนภูมิภาคยูโรโซน ซึ่งเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะขยายตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2558 สูงกว่าปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นสู่ร้อยละ 1.6 ในปี 2559 และ 2560
เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2558 และร้อยละ 1.6 ในปี 2559
4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 117.65 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.09 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 48.48 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.59 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเพื่อเก็งกำไรหลังจากก่อนหน้านี้สัญญาน้ำมันดิบลดลงติดต่อกันหลายวัน โดยสัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นปิดในแดนบวก แม้ว่าสหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกินคาดก็ตาม


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดที่ 48.69 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.10 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- แปซิฟิค อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ โค (PIMCO) บริษัทบริหารกองทุนพันธบัตรรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะยังคงปรับตัวลดลงเป็นเวลานานต่อไปอีก พร้อมเตือนว่าบริษัทผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันมีความเสี่ยงต่อภาวะราคาน้ำมันทรุดตัว


- รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคูเวตเปิดเผยว่า สถานการณ์อุปทานน้ำมันล้นตลาดที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี อาจยืดเยื้อต่อไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หรือจนกว่าอุปสงค์จะฟื้นตัว หรือจนกว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวเร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อดูดซับอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดอยู่ประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในสัปดาห์ก่อน ขณะที่โรงกลั่นลดกำลังการผลิต ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรล จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 417,000 บาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 191.7 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 196.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.7 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 160.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- ราคาทองคำตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ขณะที่นักลงทุนจับตาแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปีนี้


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมัน และการเข้าซื้อเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดล่วงหน้า หลังจากราคาปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน






แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการอ่อนค่าของเงินเยน และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารโลกคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2558 ลดลงสู่ร้อยละ 3.0 จากเดิมที่ร้อยละ 3.4 ประกอบกับการเข้าซื้อยางขององค์การสวนยางตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง


 


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา