ผู้เขียน หัวข้อ: เพิ่มราคาสินค้าเกษตร...ความท้าทายรัฐบาลเร่งแก้ (12/01/58)  (อ่าน 681 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
เพิ่มราคาสินค้าเกษตร...ความท้าทายรัฐบาลเร่งแก้ (12/01/58)



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง ภาคเกษตรของไทย ในปี 2558 อาจมีทิศทางขยายตัวในกรอบจำกัดที่ราว 2.5-3.0% เทียบกับที่คาดว่าอาจขยายตัว 2.5% ในปี 2557 แรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมงที่อาจฟื้นตัวขึ้น ในส่วนของแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไทยคาดว่า อาจยังคงเผชิญแรงกดดันด้านราคาต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ซึ่งผันแปรตามทิศทางของภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลของอุปทานโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง


ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเน้นไปที่ส่วนของต้นน้ำให้แข็งแรง โดยเฉพาะในส่วนนโยบายของภาครัฐ ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการด้านอุปทานอย่างมีระบบ และด้านการตลาด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้


ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลง ในช่วงปี 2556-2557 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาพรวมการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญหลายรายการของไทย ให้มีทิศทางที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยกดดันสำคัญด้านราคา จึงนับเป็นความท้าทายของไทย ที่อาจต้องเร่งปรับตัวด้านการบริหารจัดการอุปทานที่จะออกสู่ตลาด ตลอดจนด้านการทำตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558 คาดการณ์ว่าอาจมีความเสี่ยงในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่มีต่อสินค้าเกษตรของไทยได้


จีดีพีภาคเกษตรขยายตัว
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ที่เผชิญความท้าทายหลายด้าน ล้วนส่งผลกระทบต่อหลายภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่แม้จะมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคเกษตรเพียงร้อยละ 8.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2556 แต่ภาคเกษตรสามารถสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศคิดเป็นหลักหลายแสนล้านบาทต่อปี จึงนับว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อีกทั้งเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ โดยแรงงานในภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดของไทย และยังสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลาย จึงเห็นได้ว่าภาคเกษตรจะยังคงมีบทบาทสำคัญ ทั้งในส่วนที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ รวมทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์ และสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร


ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีอัตราการขยายตัว 2.4% (YoY) โดยแรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา และสาขาปศุสัตว์ ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ส่วนสาขาประมงยังคงหดตัว จากกุ้งที่เผชิญสถานการณ์โรคตายด่วน (EMS) ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งภาพในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทยในปี 2557 อาจขยายตัวราว 2.5% (YoY)


หากพิจารณาเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญของไทย ในรายสาขาพืช พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 116.0 หรือเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 143.6 หรือ


ลดลง 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2557 มีทิศทางการปรับตัวลง ซึ่งแรงฉุดสำคัญมาจากกลุ่มสินค้าเกษตรหลักของไทยอย่างข้าว และยางพารา ที่มีการปรับตัวของราคาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 จากปัจจัยท้าทายด้านอุปทานในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอุปสงค์โลกที่ยังคงซบเซา ล้วนส่งผลกดดันราคาข้าว และยางพารา ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2557


ยังคงเผชิญแรงกดดันด้านราคา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในปี 2558 อาจมีทิศทางขยายตัวในกรอบจำกัดที่ราว 2.5-3.0% แรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมงที่คาดว่าอาจฟื้นตัวดีขึ้นจากปัญหาโรคระบาด EMS ในกุ้งที่น่าจะทยอยคลี่คลาย ซึ่งหากพิจารณาในรายสาขาพืช คาดว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งตลาดภายในประเทศ จากความต้องการที่มีรองรับ รวมถึงในส่วนของภาคการส่งออก จากความต้องการสินค้าเกษตรไทยในตลาดต่างประเทศที่ยังมีอยู่ แม้จะมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา อีกทั้ง ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญของโลก


ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่นับว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องจับตา คือ ปัจจัยด้านราคา ที่อาจส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มราคาส่งออกอาจให้ภาพของแรงกดดันที่ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านราคาคงมาจากผลทั้งด้านอุปทานโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ประเทศผู้ส่งออกสำคัญของโลกทั้งรายเก่าและรายใหม่เร่งทำการผลิต ตลอดจนขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง) และผลด้านอุปสงค์โลกที่ซบเซา (คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจยังให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจนนัก ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าหลักของไทย) ล้วนส่งผลให้ภาพรวมของราคาส่งออกสินค้าเกษตรไทยมีทิศทางที่ไม่สดใสนัก


ข้าว ยางพารา ปัญหาท้าทายต้องแก้
สินค้าที่ยังปรับตัวในกรอบจำกัด จากปัจจัยท้าทายด้านอุปทานเป็นหลัก คือ ข้าว ยางพารา คงต้องยอมรับว่า แม้สินค้าเกษตรไทยจะมีบทบาทในการสร้างรายได้จากการส่งออกได้จำนวนมากแต่หากหันกลับมามองชีวิต


ความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยก็ยังคงมีรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ และเมื่อผนวกกับแนวโน้มแรงกดดันด้านราคา ก็อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทย


ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในส่วนของต้นน้ำให้แข็งแรง ซึ่งในส่วนของภาครัฐได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรไว้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาครัฐก็ได้อยู่ระหว่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับภาคเกษตรบ้างแล้ว


ด้านการบริหารจัดการอุปทาน อาทิ การจัดโซนนิ่งพืชเกษตรสำคัญ การให้เงินชดเชยเกษตรกรในการโค่นต้นยางเพื่อไปปลูกพืชอื่น การสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ตลอดจนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ชุมชน/องค์กรภาคเกษตร ในการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น


ด้านการตลาด ทั้งในส่วนของการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G-to-G) และการเร่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะที่แนวโน้มความต้องการซื้อมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรมีจำกัด หากไทยสามารถบริหารจัดการพื้นที่ที่มีจำกัดได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการบริหารจัดการแบบมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าเกษตร ก็จะทำให้เกษตรไทยก้าวหน้า และเติบโตได้อย่างยั่งยืน


ต้องยอมรับว่า "ภาคเกษตร" ก็เป็นหนึ่งในภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตรจะขยายตัว แต่หากพิจารณาดัชนีราคาสินค้าเกษตร พบว่า มีทิศทางการปรับตัวที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 ซึ่งแรงฉุดราคาดังกล่าว มาจากสินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทยอย่างข้าว และยางพารา ที่เผชิญความท้าทายด้านราคาตามภาวะตลาดโลก


สำหรับในปี 2558 ภาพรวมสินค้าเกษตรหลักของไทย อาจมีทิศทางการขยายตัวในกรอบจำกัด ตามภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลทางด้านอุปทานโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งทิศทางการอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ล้วนส่งผลกดดันราคา ซึ่งคาดว่าสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวได้ในกรอบจำกัด คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีคือ มันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการขยายตัว จากความต้องการของจีนที่ยังมีรองรับ เพื่อนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล


ท้ายสุด หากหันกลับมามองชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่ยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและบริการ อาทิ ยอดขายรถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบ ตลอดจนด้านการตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังคงบทบาทในฐานะอาชีพพื้นฐานของไทยต่อไป


ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (12/01/58)