ผู้เขียน หัวข้อ: วอนคสช.สั่งคมนาคมออกทีโออาร์สร้างถนนผสมยางธรรมชาติ  (อ่าน 1079 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85084
    • ดูรายละเอียด
วอนคสช.สั่งคมนาคมออกทีโออาร์สร้างถนนผสมยางธรรมชาติ


นโยบายเพิ่มมูลค่ายาง สร้างรายได้ และการจ้างงานเพิ่มขึ้น


ราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างหนักเหลือเพียง 50 บาทเศษต่อกก. ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยาง อย่างรุนแรง แนวทางการแปรรูปเพื่อใช้ภายในประเทศชะลอการส่งออกและดูดซัพพลายผลผลิตออกจากระบบ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาประเด็นเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.อีกครั้งให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง


นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ไขปัญหาราคายาง โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่านั้น คสช.ต้องมีคำสั่งขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคมให้กำหนดใน TOR ในการใช้ยางพารามีส่วนผสมในยางมะตอย 5% จะทำให้ถนนลาดยางทนกว่าเดิม 2.9 เท่า มีอายุการใช้งานจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งนับว่าคุ้มค่ากับราคาที่สูงขึ้นประมาณไม่เกิน 20% ทั้งนี้ในขั้นต้นสามารถกำหนดให้ใช้ยางพาราในการสร้างถนนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีงบกลางที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งใช้ทำตัวหนอนปูสนามเด็กเล่นและทางเดินเพื่อสุขภาพ แผ่นปูห้องน้ำคนชรา และทำแผ่นยางปูสนามฟุตซอล เป็นต้น


"คสช.เดินถูกทางแล้วในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง ไทยส่งออกวัตถุดิบ 86% และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง 14% มีรายได้ใกล้เคียงกัน ถ้าหัวหน้าคสช.มีนโยบายเพิ่มมูลค่ายาง รายได้ของประเทศก็จะเพิ่มขึ้น การจ้างงานก็จะมีมากขึ้น และควรนำยางในสต็อก 2.1 แสนตันมาใช้ด้วย" นายอุทัย กล่าว


อย่างไรก็ตาม คสช.จะต้องอนุมัติเงิน 20,000 ล้านบาท ตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 เพื่อปล่อยกู้กับสถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 15,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงเครื่องมือจักรกลเพื่อขยายกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในการส่งออกด้วย


นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารจังหวัดระยอง กล่าวว่า อบจ.ระยอง จะเริ่มเป็นหน่วยงานแรกของประเทศในการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยตั้งงบสำรองปี 2558 เพื่อสนับสนุนกิจกรรม เช่น สนามเด็กเล่น ทางเดินเพื่อสุขภาพ สนามฟุตซอล โดยนำยาง 5% ผสมยางมะตอย ราดถนน ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของ อบจ. ระยอง อีกด้วย


นายสวัสดิ์ ลาดปาละ นายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรไทย กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ให้เกษตรกรแปรรูปยางพาราทำคอมปาวด์ หรือผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ายาง ได้มีการโดยตั้งวงเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 5,000 ล้านบาท ถ้าคสช.รีบอนุมัติออกมาเร็ว ก็จะมีผลต่อราคายางทันที ช่วยลดอุปทานวัตถุดิบยางพาราในตลาด


นายประชัย กองวารี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางพาราไทย กล่าวว่า ถ้ามีเงินจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท ให้เอกชนกู้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการถุงมือยาง จะได้นำไปขยายโรงงานและเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้น อย่างน้อยปีละ 4-5 แสนตัน เพราะถุงมือยาง ใช้วัตถุดิบยางพาราถึง 98%


นายสังเวิน ทวดห้อย ประธานเครือข่ายยางแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การทำผลิตภัณฑ์ยางเกษตรกรสามารถทำได้เพียงแต่มีเครื่องจักรตัวละไม่เกิน 250,000 บาท ก็สามารถผลิตบล็อกตัวหนอน แผ่นปูพื้นห้องน้ำ แผ่นปูพื้นสนามฟุตซอล ซึ่งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมีโรงงานต้นแบบอยู่ 4 แห่งทุกภาค ให้การอบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่ออบรมแล้วสามารถนำไปผลิตได้ ซึ่งก็จะเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง


นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายคสช. ดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะทางสมาคมฯ เคยให้การสนับสนุนให้เกษตรกรเริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์ยางมาแล้ว แต่ติดปัญหาที่ตลาด ถ้าทางคสช.ให้นโยบายองค์การบริหารท้องถิ่นหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ตัวหนอนยางปูพื้น โดยลงทุนสูงเพียงครั้งเดียว เมื่อทุบทิ้งแล้วยังนำกลับมาใช้ปูใหม่ได้อีก ซึ่งอิฐบล็อกตัวหนอนที่ทำจากปูนทุบทิ้งแล้วต้องซื้อใหม่ ที่สำคัญช่วยระบายยางพาราได้อีกทางและจะมีผลช่วยในด้านราคาด้วย





เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ