ผู้เขียน หัวข้อ: ฟ้าผ่าหุ้นสื่อสาร-คสช.แช่แข็งคลื่น 1 ปี  (อ่าน 533 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 86035
    • ดูรายละเอียด
ฟ้าผ่าหุ้นสื่อสาร-คสช.แช่แข็งคลื่น 1 ปี


สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -21 ก.ค. 57 7:22: น.


คสช. สั่งชะลอประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคมออกไปอีก 1 ปี หวังสางปัญหา-แก้กฏหมายหลายฉบับ ฉุดหุ้นสื่อสารร่วงแรงยกแผง โบรกฯมองเป็นลบต่อกลุ่ม Telecom ระยะสั้น ด้าน"เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" เชื่อ ADVANC ไม่สะเทือน แนะซื้อถือยาว เหตุพื้นฐานแกร่ง-ปันผลงาม ส่วน"เอเซียพลัส" สั่งเลี่ยง ให้เก็งกำไร DTAC แทน ด้าน "เคเคเทรด" ชี้ ADVANC มีความเสี่ยงถูกลดเป้าหมายรายได้ -กำไรปีนี้ ขณะที่ กสทช. คาดเริ่มประมูล 4G ได้อย่างเร็วเดือน ก.ค.58

* คสช.สั่งชะลอประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคมออกไป 1 ปี
           คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 94/2557 เรื่องการระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมว่า เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับประโยชน์และใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากข้อจำกัดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดการสัมปทานและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
           คสช.จึงมีคำสั่ง 1) ให้กสทช.ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่งนี้ ในระหว่างชะลอการดำเนินการดังกล่าว ให้ กสทช.คุ้มครองผู้ใช้บริการ เป็นการชั่วคราว ในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัมปทาน ให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ และใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากข้อจำกัด โดยให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556
           2) ให้ กสทช. ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ อันจะทำให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล สูงสุดและสอดคล้องกับแนวนโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

* ยูโอบีเคย์เฮียน ชี้ส่งผลลบต่อกลุ่ม Telecom ระยะสั้น มอง ADVANC- INTUCH กระทบมากสุด
           บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า คสช. ประกาศระงับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมออกไป 1 ปี น่าจะส่งผลลบต่อกลุ่ม Telecom ระยะสั้น เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่คาดว่าจะเลื่อนประมูลไปเพียง 2-3 เดือน เรามองว่า AIS ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในแง่ Spectrum Shortage แต่ทาง AIS ได้หาแผนสำรองไว้ โดย 1. ใช้เทคโนโลยี Small Cell 2. Spit Cell หรือ 3. Half rate Technology แต่จะต้องใช้ CAPEX เพิ่มเติมขณะที่ 4G เองเรามอง Upside เพียง 2-3% ให้กับกลุ่ม Telco เท่านั้น บนสมมติฐานว่าราคา Package 4G สูงกว่า 3G ประมาณ 20%
           ด้านบทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุว่า การเลื่อนประมูลคลื่นความถี่ไปอีก 1 ปี ไม่ได้ต่างกับที่เราคาดการณ์ไว้ในรายงานกลุ่มสื่อสาร ?Game Changer? เมื่อวันที่ 14 ก.ค.14 ซึ่งการเลื่อนประมูลคลื่นออกไป เป็นปัจจัยลบกับ ADVANC- INTUCH มากที่สุด เนื่องจากในปี 2015 จะมี Bandwidth เหลือเพียง 15MHz เท่านั้น (คลื่น 900MHz ของ ADVANC จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2015) ขณะที่ DTAC และ TRUE จะมี Bandwidth มากกว่าที่ 75MHz และ 30MHz?ทั้งนี้ราคา TRUE ที่ปรับสูงขึ้นเหนือเป้าหมายก่อน XR ที่ 12.0 บาท ไปแล้ว ขณะที่เมื่อเทียบ DTAC กับ ADVANC เราชอบ DTAC มากกว่าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเลื่อนประมูลคลื่นความถี่น้อยที่สุด ขณะที่ปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 5.4-6.5% ในปี 2014-15

*โบรกฯชี้ ADVANC ยังน่าลงทุน ระบุพื้นฐานแกร่ง-ปันผลงาม
           นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่งให้เลื่อนการประมูล 4G ไปอีก 1 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส อย่างมีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ได้เร่งย้ายฐานลูกค้าจากระบบ 2G ความถี่ 900 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน ก.ย.58 ไปสู่ระบบ 3G ความถี่ 2100 MHz กว่า 75% แล้ว และคาดว่าสิ้นปีนี้จะย้ายฐานลูกค้าในส่วนดังกล่าวได้มากกว่า 80% ซึ่งจากการลงทุนที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนาให้การใช้งาน 3G ความถี่ 2100 MHz ให้ครอบคลุมกว่า 99% ของประเทศแล้ว ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานให้ไหลลื่นและมีประสิทธิภาพไปได้อีก 12-18 เดือน
           "จริงผลกระทบของประเด็นเลื่อนประมูล 4G ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น สิ่งที่กังวลกันตอนนี้คือถ้าการประมูลเลื่อนไปจะเลยวันหมดอายุสัญญา ก.ย.ปีหน้า จะทำให้ ADVANC เหลือ Bandwidth แค่ 15MHz เทียบกับ DTAC ที่เหลือ 75MHz และ TRUE เหลือ 30MHz ทำให้ลูกค้าอาจจะห่วงเรื่องคุณภาพของสัญญาณ จนย้ายไปใช้ค่ายอื่น แต่เรามองว่าปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยวิธีทางเทคนิค คือเพิ่มจุดส่งสัญญาณให้มากขึ้นเพื่อการใช้งานของลูกค้าไม่ให้ติดขัด นอกจากนี้เชื่อว่าหากประมูลล่าช้าจนหมดสัญญาจริงๆ กสทช.คงให้มีการต่อสัญญาระยะสั้นชั่วคราวไปก่อนโดยมีข้อแม้ว่าต้องนำกำไรที่ได้จากการให้บริการให้กับ กสทช. เหมือนที่ TRUE ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ TRUE มีผลขาดทุนจึงไม่ต้องจ่ายส่วนกำไรให้ กสทช. หรืออีกวิธีคือการที่คลื่น 3G ปัจจุบันของ ADVANC ติดกับ TOT อาจจะขอโรมมิ่งสัญญาณชั่วคราวกับ TOT ก็สามารถทำได้" นักวิเคราะห์ กล่าว
           ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ใน 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ แนะนำหาจังหวะเข้าซื้อที่ราคาเป้าหมาย 210 บาท หรือเมื่อราคาลดลงต่ำกว่าระดับดังกล่าว
           ด้านนักวิเคราะห์ บล.คันทรี่กรุ๊ป ระบุ ราคาหุ้น ADVANC อาจจะมีการปรับตัวลงในช่วงนี้ แต่เป็นไปตามจิตวิทยาของนักลงทุนต่อประเด็นการเลื่อนประมูล 4G มากกว่า มิใช้ลดลง เพราะผลประกอบการแย่ลง ขณะที่พื้นฐานก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนประเด็น 4G คสช.ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบกับผู้ใช้งาน ซึ่งหากหมดสัญญาสัปทานแล้วยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น เชื่อว่าต้องมีการต่อสัญญาชั่วคราวอย่างแน่นอน แนะนำ "ซื้อ" เพื่อถือในระยะยาว เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีอัตราปัลผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีถึง 6% โดยในระยะสั้นนี้จะมีการประกาศปันผลระหว่างกาล คาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ ประเมินจ่ายที่ 6.25 บาท (Div.Yield 2.9%)

* ADVANC ลั่นไม่กระทบ ชี้เป็นโอกาสพัฒนาระบบ-อุปกรณ์รองรับอนาคต
            บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ระบุถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้เลื่อนการประมูล 4G ออกไปก่อนว่า บริษัทฯ มองว่าเป็นเรื่องดีเพราะมีความชัดเจนว่าจะมีการประมูลเกิดขึ้นแน่และการเลื่อนก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร และมีแผนรองรับอยู่แล้ว??อย่างไรก็ตาม หาก คสช. ประกาศให้มีการประมูลเมื่อไร บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลทันทีเช่นกัน เพราะบริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณในการลงทุน ทีมงาน เป็นต้น
            "การประกาศเลื่อนประมูล 4 G ของคสช.ในครั้งนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือเป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาระบบ อุปกรณ์ รุ่นใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในการให้บริการ 4G ในอนาคต หลังจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" บริษัทระบุ

*DTAC ระบุเลื่อนประมูล 4G ออกไป 1 ปีไม่กระทบ มีคลื่นรองรับบริการ
           นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น DTAC กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า การเลื่อนประมูลใบอนุญาต 4G ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจาก ในขณะนี้ DTAC มีคลื่นความถี่มากเพียงพอ ที่จะให้บริการลูกค้า
           ทั้งนี้ ในระบบ 3G ที่ให้บริการอยู่ ก็มีคลื่นความถี่เพียงพอในการให้บริการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นว่า การเปิดประมูลใบอนุญาต 4G ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจำเป็น ในการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบการสื่อสารของไทย
           ขณะที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ(กสทช.) คาดจะเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ได้อย่างเร็ว สุดในเดือนก.ค.58 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่ง ให้ชะลอการประมูล คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้การดำเนินการ ดังกล่าวเป็นไปอย่างเรียบร้อยและรอบคอบ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

* เอเซียพลัส สั่งเลี่ยง ADVANC เก็งกำไร DTAC
           บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การชะลอประมูลที่ยังไม่สรุปกำหนดการใหม่ คาดส่งผลต่อ ADVANC มากสุด เพราะกำลังการให้บริการคลื่นปัจจุบันคือ 900 และ 2100 ใช้บริการ 2G และ 3G ลูกค้า 42 ล้านรายเต็มแล้ว ทำให้คลื่น 2100 ไม่สามารถแบ่งมาให้บริการ 4G ได้เหมือนคู่แข่ง 2 ราย ที่มีลูกค้าน้อยกว่าเกือบ 40% ของลูกค้า ADVANC ดังนั้น ADVANC จึงต้องการคลื่น 1800 มาให้บริการ 4G ส่วนการชะลอประมูลคลื่น 900 ทำให้ ADVANC จะต้องเร่งโอนลูกค้า 2G ที่มีอยู่ 38% ของลูกค้ารวม ออกมาให้ทันก่อนอายุบริการหมด 15 ก.ย. 58 ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงรายจ่ายจูงใจลูกค้าเกินคาด ขณะที่ อีก 2 บริษัท คาดกระทบน้อยกว่า โดย TRUE ปัจจุบันให้บริการ 2G และ 3G+4G ด้วยคลื่น 1800 และ 850+2100 ตามลำดับ แต่คลื่น 1800 จะหมดอายุบริการ 15 ก.ย. นี้ ทำให้ต้องการคลื่น 1800 มาบริการลูกค้า 2G ที่ยังโอนมา 3G ไม่ได้ 3.2 ล้านราย อย่างไรก็ตาม คาด TRUE กระทบจำกัด เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ Inactive และวันนี้ กสทช. จะประชุมหาแนวทางเยียวยา ส่วน DTAC รับผลกระทบน้อยสุด เพราะปัจจุบันให้บริการ 2G และ 3G+4G บนคลื่น 1800 และ 850+2100 ตามลำดับ โดยคลื่น 1800 และ 850 DTAC มีอายุบริการอีก 4 ปี ทำให้ DTAC ไม่ต้องเผชิญปัญหาย้ายลูกค้า 2G
           ฝ่ายวิจัยไม่เคยรวมมูลค่าเพิ่มใบอนุญาตคลื่น 1800 และ 900 ในประมาณการ จึงยังคงประมาณการและมูลค่าพื้นฐาน แต่แนะนำให้เลี่ยงลงทุน ADVANC(FV@B270) และ INTUCH (FV@B109) ที่คาดจะรับผลกระทบหนักไปก่อน ส่วน DTAC(FV@B122) ผลกระทบน้อยสุด และราคาหุ้นปรับตัวลงจนเริ่มมี Upside จาก Fair Value จึงน่าเป็นโอกาสเก็งกำไร ขณะที่ TRUE ผลกระทบเชื่อว่าจำกัด และยังมีประเด็นบวก Turnaround Fair Value ก่อน XR ที่ 10.7 บาท ยังมี Upside ยืนยัน ?ซื้อ?

*เคเคเทรด ชี้ ADVANC มีความเสี่ยงถูกลดเป้ารายได้ -กำไรปีนี้
           บทวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด ระบุว่า ภายในครึ่งแรกของปี 2557 เราคาดว่า ADVANC จะขยายโครงข่าย 3G-2100 MHz เพิ่มเป็น 1.92 หมื่นสถานี จาก 1.68 หมื่นสถานีใน 1Q57 หรือมีโครงข่ายเพิ่มต่อเดือนราว 800 สถานี ทำให้ ADVANC มีความพร้อมให้บริการครอบคลุมประชากรเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคู่แข่งจากการเร่งขยายโครงข่าย 3G-2100 MHz ตามเป้าหมาย 2 หมื่นสถานีในสิ้นปีนี้ เรามองว่าความพร้อมของโครงข่ายที่มีพื้นที่ครอบคลุมประชากร 95% และจะรองรับจำนวนลูกค้าได้กว่า 75% ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด จะช่วยให้ ADVANC รักษาคุณภาพบริการได้ต่อเนื่องและมีผลกระทบจำกัดจากกรณี กสทช. ชะลอการประมูลคลื่น 1800 MHz
           เราคาดว่าใน 2Q57 ADVANC จะมีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 43.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 2% QoQ ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นลูกค้า AWN ราว 31 ล้านราย มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 70% จาก 62% ใน 1Q57 อย่างไรก็ดีปัจจัยฤดูกาล Low season ของการใช้งานโทรศัพท์ ประกอบกับแนวโน้ม ARPU ลดลงจากโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้งาน Data และรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลงจาก 1Q57 ทำให้เราคาดว่ารายได้ไม่รวม IC จะลดลงเหลือ 28,700 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวม IC จะลดลง 4% YoY และ 2% QoQ เป็น 35,690 ล้านบาท
           ทั้งนี้ คาดว่า ADVANC จะมีกำไรสุทธิ 2Q57 ที่ 8,991 ล้านบาท ลดลง 2% YoY และ 5% QoQ หากไม่รวมขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนราว 50 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรจากธุรกิจปกติ 9,041 ล้านบาท ลดลง 3% YoY และ 4% QoQ เนื่องจากสัดส่วนเครื่องโทรศัพท์ 3G เพิ่มน้อยกว่าสัดส่วนลูกค้า 3G ทำให้ค่าใช้จ่ายสัมปทานลดลงน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายโครงข่ายและค่าเสื่อมราคา ประกอบกับค่าใช้จ่าย SG&A เพิ่มตามค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าใช้จ่ายการตลาด ส่งผลให้ EBITDA margin ลดลง QoQ เป็น 44.5% นอกจากนี้การออกหุ้นกู้วงเงิน 1.66 หมื่นล้านบาท ทำให้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มกว่า 50% QoQ เป็น 350 ล้านบาท เราคาดว่า ADVANC จะจ่ายเงินปันผล 1H57 หุ้นละ 6.20 บาท ให้ผลตอบแทนเงินปันผลราว 3%
           อย่างไรก็ตาม นับจากต้นเดือน มิ.ย. ราคาหุ้น ADVANC ปรับตัวลงแย่กว่า (Underperform) เมื่อเทียบกับ SET ถึง 13% เรามองว่าสะท้อนแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ที่ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด นอกจากนี้ รายได้ไม่รวม IC ของ 1H57 คาดว่าจะยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับเป้าหมายบริษัทที่ต้องการให้เติบโต 6-8% YoY ทำให้ ADVANC จะต้องปรับลดเป้าหมายรายได้และอัตราทำกำไรหลังประกาศงบ 2Q57 (ประกาศ วันที่ 4 ส.ค.) เรามองเป็นปัจจัยลบระยะสั้นที่ยังกดดันราคาหุ้น ADVANC ปรับตัวลงแย่กว่าตลาด คงคำแนะนำ ?ขาย?

* กสทช. คาดประมูล 4G ได้เร็วสุดในเดือนก.ค.58
           นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีผลทำให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม คือ การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมและเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ตามลำดับ ต้องชะลอการดำเนินการออกไปก่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้สามารถดำเนินการได้ประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2558
           สำหรับกรณีของคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว และกำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในวันที่ 15 กันยายน 2557 นี้ ตามคำสั่งดังกล่าว ทำให้ระยะเวลาคุ้มครองฯ ขยายออกไปจนกว่าจะมีการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่แล้วเสร็จ ดังนั้น ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 1800 MHz มั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่อง ซิมไม่ดับแน่นอน ประชาชนไม่จำเป็นต้องรีบย้ายค่าย
           ทั้งนี้ กสทช. จะรีบดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือปรับปรุง หรือยกเลิก กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 และกฎหมายอื่นที่เป็นอุปสรรคให้มีความชัดเจน เพื่อรองรับการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุด และสอดคล้องกับแนวนโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ


เรียบเรียง โดย ประน้อม บุญร่วม  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com