ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโกดังเจอ?ข้าวเน่า?อื้อ แฉโผล่เกลื่อนหลายจังหวัด  (อ่าน 600 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85958
    • ดูรายละเอียด

ตรวจโกดังเจอ?ข้าวเน่า?อื้อ แฉโผล่เกลื่อนหลายจังหวัด


 
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557 06:00:00 น.
ตรวจโกดังเจอ?ข้าวเน่า?อื้อ
แฉโผล่เกลื่อนหลายจังหวัด
ร้องสอบทส.โกง2.2พันล้าน
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารเริ่มปฎิบัติการตรวจโกดังข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นวันแรก เน้น 4 จังหวัดนำร่องคือ จ.กำแพงเพชร นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราช เพื่อสุ่มตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเก็บไว้ในคลังสินค้ากลางว่ามีปริมาณสุทธิเท่าใด ตรงตามจำนวนที่แจ้งไว้หรือไม่




 
?ปนัดดา?นำทีมลุยพิษณุโลก
โดยม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐเปิดเผยว่า คณะผู้ตรวจกระทรวงประจำสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) พร้อมคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกข้าวรัฐลงพื้นที่ตรวจโกดังข้าวที่พิษณุโลกเป็นจังหวัดแรก สำหรับคณะทำงานตรวจสอบโกดังข้าวมี 100 ชุด กองทัพบกเป็นหน่วยงานหลัก ใช้เวลาทั้งสิ้น 45 วันหากตรวจพบทุจริตจะแจ้งความดำเนินคดีทันที จากนั้นจะสรุปผลตรวจสต๊อกรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน


ชุด1ตรวจสต๊อกบ้านแพรก
ด้าน นางประภาศรี บุญวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวฯชุดที่ 1 พร้อมพล.ต.วิบูลย์พงศ์ อินทะพงษ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี เข้าตรวจสอบโกดังข้าวบ้านแพรกไรซ์ ต.บ้านใหม่ อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เป็นจุดแรก โดยขั้นตอนจะดูบัญชีหน้างานว่ามีปริมาณข้าวเท่าไร เป็นข้าวฤดูกาลผลิตใดตรงกับในบัญชีหรือไม่ สุ่มเจาะเก็บข้าวตัวอย่าง ไปตรวจสอบ ซึ่งจ.อยุธยามีโกดังกลาง 14 แห่ง ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ


ทภ.2จัด13ชุดลุยโกดัง20จว.อิสาน
ขณะที่พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ โฆษกกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2)เปิดเผยภาพรวมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวที่เข้าโครงการจำนำข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ซึ่งมีโกดังข้าวอยู่ 315 โกดัง ใน 14 จังหวัดว่า กองทัพภาค2 ตั้งชุดตรวจสอบข้าว 13 ชุด แบ่งเป็น 3 สายประกอบด้วย สายที่ 1 ลงตรวจจ.นคราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์และขอนแก่น สายที่2 ตรวจพื้นที่จ.อุดรธานี สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ และสายที่ 3 ลงตรวจจ.ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ใช้เวลาตรวจสอบถึงวันที่ 27 กรกฎาคม


ประเดิมโรงสีเจียเม้งโคราช
โดยนางพูนทรัพย์ สกุณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุดที่ 42 นำคณะออกตรวจปริมาณและคุณภาพข้าวในโครงการรับจำนำข้าวในคลังสินค้ากลางของโรงสีเจียเม้ง จำกัด (มหาชน) ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 โกดัง มีข้าวสาร 2 ล้านกระสอบ ปริมาณข้าว 2 แสนตัน นอกจากนี้ ยังมีข้าวที่รับคืนข้าวถุงในโครงการระบายข้าวปี 2554/55 และปี 2555/56 จำนวน 6 แสนกระสอบ รวมปริมาณ 6 หมื่นตัน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯสุ่มตรวจข้าวทุกกองก่อนเก็บตัวอย่างส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบต่อไป


พบข้าวเริ่มเหลืองเพราะเก็บนาน
นางพูนทรัพย์กล่าวว่า ในการเก็บตัวอย่างจะเลือกกระสอบข้าวที่อยู่ตรงกลางและด้านล่างสุดที่อยู่ด้านในเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงป้องกันการสอดไส้ ตรวจเบื้องต้นพบข้าวเริ่มมีสีเหลือง เนื่องจากเป็นข้าวที่รับจำนำปี 2555/56 เมล็ดข้าวไม่แตกหัก หลังตรวจเสร็จจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีม.ล.ปนัดดาเป็นประธานต่อไป สำหรับจ.นครราชสีมามีโกดังกลางที่เข้าโครงการจำนำข้าว 47 โกดังใน 12 อำเภอ มีปริมาณข้าวเข้าโครงการตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55ถึงปัจจุบันรวม 5,056,490 กระสอบ เป็นปริมาณ 506,064.47 ตัน


โกดังข้าวเมืองช้างมอดบุกแทะ
ที่บริเวณคลังสินค้ากลาง เป็งหมง เลขที่ 200 ม.13ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ พล.ต.นิรุทธ เกตุศิริผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุรินทร์ พร้อมนายสุวิทย์ สุบงกฎ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าว ชุดที่ 36 เข้าตรวจสอบโกดังข้าวที่ร่วมโครงการจำนำข้าว 27 แห่ง เริ่มตรวจที่คลังสินค้ากลาง เป็งหมง เป็นจุดแรกของจ.สุรินทร์ ที่รับข้าวมาเก็บตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 จำนวน 36,605 กระสอบ จากการตรวจสอบเป็นข้าวปีการผลิต 2555/56 เก็บรักษามาเกือบ 2 ปี สภาพภายในโกดังค่อนข้างสกปรก ข้าวด้านนอกเริ่มมีมอดกิน ปลายข้าวเริ่มเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ การตรวจเชิงปริมาณไม่น่าห่วง ห่วงเรื่องคุณภาพการจัดเก็บทำให้ข้าวเสียหายสูง


บุรีรัมย์ข้าวส่งออกเสื่อมสภาพอื้อ
ส่วนจ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ทหารจากจังหวัดทหารบก (จทบ.) บุรีรัมย์ ร่วมกับนายอำเภอนางรอง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการขนย้ายข้าวสารชนิดปลายข้าวหอมมะลิ (เอวันเลิศ) ออกจากโกดังกลางที่ อ.นางรอง เพื่อส่งออกต่างประเทศตามสัญญาการซื้อขายที่บริษัทเอกชนได้รับการประมูล โดยข้าวดังกล่าวเป็นข้าวในโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 เบื้องต้นมีคำสั่งให้ขนย้ายเพื่อส่งออก 3,000 ตันหรือ 30,000 กระสอบ ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติ มีแต่ข้าวใกล้เสื่อมคุณภาพที่ถูกคัดแยกไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเก็บไว้นานกว่า 2 ปี


นำร่องตรวจโกดังข้าวเน่าเมืองคอน
ที่จ.นครศรีธรรมราช นางอรวรรณ ขุมทรัพย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบคุณภาพข้าว ชุดที่ 99 เข้าตรวจโกดังคลังสินค้ากลางอุปถัมภ์ เลขที่ 13 ม.1 ต.บางจาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ของนายจรวย ขาวอุปถัมป์ อายุ 62 ปี มีข้าวสารบรรจุกระสอบ 163,200 กระสอบ เป็นข้าวโครงการจำนำข้าวปี 55/56 ของเกษตรกร 6 อำเภอ ลุ่มน้ำปากพนัง ผลตรวจเบื้องต้น ยังไม่พบความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม มีโกดังในอ.ทุ่งสงที่ประสบปัญหาข้าวเน่า คณะทำงานฯต้องหารือกันถึงวิธีตรวจสอบและตรวจนับปริมาณ เพราะไม่แน่ใจว่าสามารถตรวจนับได้มากน้อยเพียงใด


หมอวรงค์ห้ามกระพริบตารอดูของดี
มีความเห็นจากน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ถึงการปูพรมตรวจโกดังข้าวทั่วประเทศว่า ในการตรวจสอบครั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ส่งป.ป.ช.จังหวัดเข้าร่วมตรวจแบบคู่ขนานด้วย ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาคดีทุจริตจำนำข้าวที่ปัจจุบัน ป.ป.ช.กำลังสอบแยกเป็น 2 คดีใหญ่คือ 1. คดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการต่อ และคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีทุจริตทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการจำนำข้าว และ2. คดีทุจริตการระบายข้าว แบบจีทูจี ทั้งนี้ การตรวจสอบโกดังข้าวอย่างเป็นทางการกำลังเริ่มต้น ตนขอให้ติดตามกันอย่างใกล้ชิด ห้ามกระพริบตา เชื่อว่าจะได้เห็นของดีเป็นระยะ


?ดำรงค์?แฉพิรุธโครงการรีเชฟป่า
วันเดียวกัน นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่า อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแถลงเรียกร้องให้คสช.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ หรือโครงการรีเชฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพราะมีเงื่อนงำน่าสงสัยจะเกิดการทุจริต ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า โดยตนรับเรื่องร้องเรียนมาจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯถึงการดำเนินการที่มีความไม่ชอบมาพากล


สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นสมัยนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรมว.ทรัพยากรฯ มีการใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2,254 ล้านบาท โดยบริษัท อีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้างทำโครงการลงนามทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐ ระบบสารสนเทศภูมิประเทศ กำหนดดำเนินการให้เสร็จภายใน 730 วัน แบ่งจ่ายเงิน 10 งวด งวดแรก 5% งวดต่อมางวดละ 10% และงวดสุดท้าย 15% แต่ในขั้นปฎิบัติการมีปัญหาในการดำเนินการไม่คืบหน้า รวมถึงการเบิกจ่ายงบ จึงออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล โดยวันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 14.00 น.จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคสช.และดีเอสไอด้วยตัวเอง