ผู้เขียน หัวข้อ: ปปช.เร่งเครื่อง!ทุจริตจำนำข้าวลุยตรวจ'สต็อก'  (อ่าน 561 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 86079
    • ดูรายละเอียด

ปปช.เร่งเครื่อง!ทุจริตจำนำข้าวลุยตรวจ'สต็อก'


 
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- จันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2557 00:00:31 น.
ไทยโพสต์ * ก๊วนจำนำข้าว "ปู-นิวัฒน์ธำรง-บุญทรง-ภูมิ-ยรรยง" เสียววาบ "วิชา" บอก ป.ป.ช.เร่งเครื่องสอบบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เผยลงลึกสอบพ่วงหมด คนใกล้ชิดก็ไม่เว้น หากพบผิดปกติชงอายัด-ยึดทรัพย์ ยอมรับให้ข้อมูล คสช.ไปแล้ว ทหารเริ่มลุย ตรวจโรงสี ปลัดพาณิชย์ชงบิ๊กทหารตั้งกรรม การ กขช.ชุดใหม่ จับตาใครนั่งประธาน


หลังจากวุฒิสภาถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งยุบทิ้ง ทำให้คดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์และส่งให้วุฒิสภาต้องชะงักงันไปทันที


ด้านความคืบหน้าการไต่สวนคดีรับจำนำข้าวในส่วนอื่นๆ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า เวลานี้ ป.ป.ช.ดำเนินการควบคู่ 2 เรื่องไปพร้อมๆ กัน คือเรื่องที่ค้างอยู่กับเรื่องที่จะเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเรื่องที่ค้างคือกรณีจำนำข้าว ที่ได้ไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตโครงการจำนำข้าวว่าทำผิดจริงหรือไม่ มีการซื้อขายระหว่างประเทศจริงหรือไม่ ซึ่งต้องไต่สวนโดยละเอียด ขณะนี้บริษัทเอกชนที่ถูกเรียกมาไต่สวนได้ทยอยให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์เป็นจำนวนมาก ต้องขอขอบคุณบริษัทเอกชนที่มีความตื่นตัวในการมาให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์


นายวิชากล่าวว่า ส่วนการไต่สวนกรณีละเลยเพิกเฉยไม่ระงับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย (คดีอาญา) ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ขณะนี้การให้ถ้อยคำของพยานทั้ง 4 ปากได้เสร็จแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานคงจะสรุปมารายงานต่อที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดูว่าข้อเท็จจริงที่ไต่สวนมานั้นเพียงพอหรือไม่ หากยังไม่เพียงพอ จะได้ดำเนินการต่อไป


ส่วนการไต่สวนคดีดังกล่าวกับอดีตนายกฯ จะเสร็จก่อนคดีนายบุญทรงหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า น่าจะเสร็จก่อน แต่จะเมื่อไรคาดเดาไม่ได้ ต้องรอดูข้อเท็จจริงจากคณะทำงานที่จะสรุปส่งมาให้ในสัปดาห์หน้าก่อน เนื่องจากข้อมูลอาจจะโยงใยถึงบุคคลใดๆ ดังนั้น ต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วน


นายวิชากล่าวอีกว่า ส่วนที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของ 5 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งดำเนินการตรวจสอบควบคู่ไปด้วย ซึ่งต้องนำผลการตรวจสอบนั้นมาประกอบผสมผสานในการไต่สวนคดีดังกล่าว


"โดยการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินดังกล่าว จะต้องดูว่ามีทรัพย์สินใดผิดปกติหรือไม่ ซึ่งต้องทำอย่างเร็วมาก เพราะจะต้องมียึดและอายัดทรัพย์สิน โดยดูบัญชีทรัพย์สินของบุคคลใกล้ชิดและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด" นายวิชาระบุ


ทั้งนี้ นักการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทยที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สิน 5 คนดังกล่าวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์


เมื่อถามถึงกรณีที่ 8 สมาคมชาวนาต้องการให้ คสช.ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวต่อไป เพราะเห็นว่าได้ราคาดี ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร นายวิชา กล่าวว่า ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย ซึ่ง คสช.จะเป็นผู้พิจารณา แต่ทาง ป.ป.ช. ได้บอกข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดให้ไปแล้วว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบพบอะไรบ้าง โดย คสช.ก็ทราบดี เพราะได้เชื่อมโยงข้อมูลกันอยู่เป็นอย่างดี


เมื่อถามว่า ทาง คสช.เตรียมดำเนินการลงพื้นที่ เพื่อตรวจสต็อกข้าว แล้วทาง ป.ป.ช.จะมีการตรวจสอบควบคู่ไปหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคงจะเห็นภาพตรงนี้ชัดเจนขึ้นว่า คสช.จะลงไปตรวจอย่างไร เพราะทาง ป.ป.ช.เองก็ต้องการลงไปตรวจสต็อกข้าวด้วยเหมือนกัน ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไร ขอหารือกันก่อน


นายวิชาย้ำว่า เวลานี้ได้รับความร่วม มือในเรื่องการส่งพยานหลักฐานต่างๆ มายัง ป.ป.ช.อย่างดีมาก  ได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละหน่วยงานเริ่มมีความมั่นใจว่าข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้นจะสามารถนำมาสร้างสิ่งที่มีประสิทธิภาพในการไต่สวน และสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการลงโทษผู้ทุจริตได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การไต่สวนคดีนี้เร็วขึ้น เพราะค้างคามานานแล้ว


ทหารเริ่มลุยตรวจโรงสี
ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการของฝ่ายทหาร ในการตรวจสอบสต็อกข้าวตามนโยบายของ คสช.ที่มอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. เป็นผู้รับผิดชอบ ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว


โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ร.อ.ณรงค์พร ไกรจันทร์ ฝ่ายยุทธการการฝึก หน่วยทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 712 ลพบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมศักดิ์ โอภาสเจริญกิจ ผบก.ภจว.อ่างทอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง การค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัด พร้อมกำลังทหาร ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจโรงสีตามโครงการรับจำนำข้าวประจำปี 2556/57 ที่บริเวณโรงสีสหกรณ์การเกษตรโพธิ์ทอง ต.ป่างิ้ว อ.เมืองฯ จ.อ่างทอง


ทั้งนี้ ผลการลงพื้นที่พบว่าทางโรงสีได้ส่งข้าวไปยังโกดังกลางเรียบร้อยหมดแล้ว จึงทำให้ไม่มีข้าวค้างอยู่ในโรงสีเลย โดยเบื้องต้นทางโรงสีสหกรณ์การเกษตรโพธิ์ทองได้เข้าร่วมโครงการกับทางโรงสีกลางของ อ.ต.ก. และส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% จำนวน 12,035.75 ตันไปยังโรงสีกลางของ อ.ต.ก.ทั้งหมดแล้ว


หลังจากนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบต่อยังโรงสีเพชรสยามพิพัฒน์ธัญญา ซึ่งพบว่าโรงสีนี้ได้เข้าร่วมโครงการกับทาง อสค. และได้ส่งจำนวนข้าวเปลือกเจ้า 5% จำนวน 22,985.588 ตัน และปทุมธานีจำนวน 3,341.579 ตันให้กับโรงสีกลางของ อสค.แล้ว ทางด้านหน่วยทหารจึงรับแจ้งตัวเลขและจะนำไปตรวจนับกับทางโรงสีกลางตามที่โรงสีทั้ง 2 แห่งได้แจ้งไว้อีกครั้ง


ส่วนที่จังหวัดชัยนาท ร้อยเอกรบอรัญ ดีอ่วม  นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก ป.พัน 721 จ.ลพบุรี นำกำลังทหารจำนวน 36 นาย เข้าตรวจเยี่ยมโรงสี หจก.ป.บุญธรักษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ของนายสมหมาย อารมณ์ นายกเทศมนตรีตำบลหาดอาษา ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีดังกล่าว เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกัน โดยไม่ได้มีการเข้าตรวจสอบโกดังข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด


ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สรุปการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2557 ว่า ได้ทยอยจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรไปแล้วตามตัวเลขยอดใบประทวน และเงินรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 1,241,257 ราย จากข้าวเปลือก 9.38 ล้านตัน เป็นเงิน 154,097 ล้านบาท โดยมียอดจัดสรรทั้งหมด 180,090 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 และเงินระบายข้าว 149,590 ล้านบาท เงินกองทุนเกษตรกร 10,500 ล้านบาท งบกลางที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้กู้ยืมอีกจำนวน 20,000 ล้านบาท คงเหลือยอดค้างเกษตรกร 430,463 ราย จากปริมาณข้าวเปลือก 2.26 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 38,853.22 ล้านบาท


สำหรับยอดการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,671,720 ราย ได้ข้าวเปลือก 11.64 ล้านตัน รวมเป็นเงิน 192,950 ล้านบาท


นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระ ทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้ดำเนินการเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการดำเนินการเร่งด่วนตามนโยบายของ คสช. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรแล้ว โดยได้ดำเนินการเปิดตลาดนัดเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกโดยตรงจากเกษตรกรถึงที่ และได้เปิดแล้วประมาณ 20 จังหวัด จำนวน 50 แห่ง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ เพราะเกษตรกรจะมีทางเลือกในการขายข้าวมากขึ้น      สำหรับจังหวัดที่จะเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก เช่น กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สกลนคร มหาสารคาม สระบุรี ลพบุรี นนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น


นางศรีรัตน์กล่าวว่า สำหรับมาตร การดูแลราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 กระทรวงได้เสนอให้ คสช.พิจารณา อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีความชัดเจนออกมา และจากนั้นกระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจัดทำแผนและมาตรการเพื่อดูแลราคาข้าวเปลือกต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีหลายแนวทาง ระหว่างนี้ ได้มีการหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร เพื่อสอบถามความคิดเห็น และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะนำไปจัดทำแผนดูแลราคาข้าวเปลือกต่อไป.