ผู้เขียน หัวข้อ: 'ยุคล'ยันไม่ถอยเทสต๊อกยาง  (อ่าน 645 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84457
    • ดูรายละเอียด
'ยุคล'ยันไม่ถอยเทสต๊อกยาง
« เมื่อ: พฤษภาคม 21, 2014, 12:22:40 PM »

'ยุคล'ยันไม่ถอยเทสต๊อกยาง (20/05/2557)

          "ยุคล"  ยันเร่งล้างสต๊อกยาง  2.1 แสนตัน  เมินเกษตรกรฟ้องศาลปกครองกลางให้ระงับการขาย  อ้างช่วยปลดล็อก สต๊อกยางโลก ดันราคาขยับในอนาคตได้  พร้อมหวังปลดหนี้ล้างค่าเช่าโกดัง/ค่าโรงงานแปรรูป เดือนละกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่ อินโดฯ-มาเลย์ ร้องผ่าน สภาไตรภาคียางพารา วอนรัฐบาลไทยทบทวนการขายยางใหม่  หวั่นราคาดำดิ่ง


           นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความจำเป็นในการเร่งระบายยางพาราในโกดังกลางรัฐบาลจำนวน 2.1 แสนตัน ว่าหากยังเก็บไว้ จะมีผลต่อราคาในตลาดโลก ที่ไม่สามารถดันราคาให้ขยับได้ โดยที่ผ่านมาทางผู้ส่งออกและคู่ค้าต่างประเทศมักจะใช้เป็นข้ออ้างอยู่เสมอว่าสต๊อกยางของรัฐบาล ทำให้ที่ผ่านมาราคาทั้งในประเทศและตลาดโลกไม่ได้ขยับพุ่งเลย และมีแนวโน้มว่าราคาจะดิ่งลงไปอีก  ขณะที่รัฐบาลมีภาระค่าเช่าคลังหรือโกดังเก็บยางของเอกชนถึงเดือนละ 20 ล้านบาท ที่จะต้องจ่าย เป็นปัญหาที่จะต้องรีบเร่งระบายให้เร็วขึ้น ดังนั้นหากไม่ระบาย ค่าเช่าจำนวนนี้จะต้องเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน ตั้งคำถามว่าใครจะรับผิดชอบ  ส่วนเกษตรกรจะยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้รัฐบาลระงับแผนระบายยางก็เป็นสิทธิ์ของเกษตรกร


           สำหรับวิธีการขายเพื่อนำไปใช้ในหลายรูปแบบ อาทิ ใช้ทำถนน ใช้ทำสนามฟุตบอล หรืออื่นๆ ที่ใช้ในประเทศ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกลางฯ ที่ให้ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้ให้เร่งการประชุมโดยเร็ว เพื่อกำหนดวิธีการ และราคากลาง ออกมา เชื่อว่าไม่กระทบเกษตรกร อีกทั้งราคาก็ตกอยู่แล้ว ถ้ารีบจัดการสต๊อกโดยเร็ว เชื่อว่าจะดึงราคายางกลับคืนมาได้อย่างแน่นอนในเร็ววัน แต่ถ้าเก็บไว้ยางมีแต่จะเสีย ทั้งค่าเสื่อม ค่าเช่า และค่าประกันภัย  เป็นต้น


           ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศฯ (IRCo)  ได้ทำหนังสือลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ถึงนายยุคล ว่า ได้รับการติดต่อจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้แสดงความกังวลเรื่องราคายางพาราที่จะปรับตัวลดลงไปอีก หากทั้ง 3 ประเทศไม่ร่วมมือกันระบายยางพาราออกสู่ตลาดโลกในระดับที่เหมาะสมตามช่วงเวลา และได้ขอความร่วมมือให้ทางรัฐบาลไทยได้พิจารณาเรื่องการระบายยางพาราออกสู่ในตลาดโลกในช่วงเวลานี้ ซึ่งทางบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด จะได้ประสานงานเพื่อจัดประชุมผู้แทนยางพาราทั้ง 3 ประเทศต่อไป


           นอกจากนี้จากที่บริษัทได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ราคายางพารามาโดยตลอด และมีความคิดเห็นว่าราคายางพารามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงไปอีก เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลก หากทั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่ดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ดังนั้นทางบริษัทจึงได้ประสานงานเพื่อจะจัดประชุมผู้แทนยางพาราทั้ง 3  ประเทศ เพื่อพยุงราคาในตลาดโลกไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ หรือดันราคาให้ขยับขึ้น


            นายเยี่ยม กล่าวอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศจีนที่ใช้ยางมากที่สุดในโลกมีอัตราการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าผลผลิต ทั้งนี้ราคายางพาราในตลาดโลกถูกกำหนดราคาโดยราคาซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดเซี่ยงไฮ้และโตเกียว ซึ่งขณะนี้มีการปรับตัวลดลง แม้ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นและเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากเป็นช่วงต้นยางผลัดใบ ส่งผลทำให้ราคายางพาราที่มีการซื้อขายส่งมอบจริงปรับตัวลดลงไปด้วย


           ขณะที่ นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เสนอทางออกหากรัฐบาลจะขายยางควรนำยางไปใช้นอกระบบ และใช้ภายในประเทศ เช่น การนำไปทำเป็นตัวหนอนปูพื้นใช้ในโรงพยาบาลหรือสนามเด็กเล่น การนำยางพารา 5 %ผสมยางมะตอยไปลาดถนน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าเพราะมีความคงทนเพิ่ม 2.9 เท่าตามที่นักวิชาการได้วิจัยไว้ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน  ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสงขลา ในที่ประชุมสัมมนาพร้อมกับได้มีการประชุมเครือข่ายยางทั่วประเทศได้มีมติถึงมาตรการเชิงรุก เชิงรับสินค้าเกษตรยางพารากับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคการเกษตร ส่วนอุตสาหกรรมยางพารา ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


          อนึ่ง  สถาบันวิจัยยาง รายงานสถานการณ์ยางวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557  ราคาตลาดกลางยางพาราสงขลาปรับตัวสูงขึ้น ยางแผ่นดิบแตะระดับ 61.35 บาท/กก. และยางแผ่นรมควัน 66.39 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้น 0.84 บาท/กก. และ 0.16 บาท/กก. ตามตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ เพราะได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซนที่ออกมาดี ประกอบกับภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น ไม่เอื้อต่อการกรีดยาง อย่างไรก็ตาม ราคายางยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด เพราะยังมีแรงกดดันจากราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวที่ปรับตัวลดลงจากการแข็งค่าของเงินเยน อีกทั้งนักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน และกำลังจับตาดูความชัดเจนในการจัดการสต๊อกยาง 2.1 แสนตัน ของรัฐบาล