ผู้เขียน หัวข้อ: STA รับดีมานด์-ราคายางฟื้น หนุนยอดขายโต 15% พลิกมีกำไรสุทธิปี 67  (อ่าน 1141 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85606
    • ดูรายละเอียด

STA รับดีมานด์-ราคายางฟื้น หนุนยอดขายโต 15% พลิกมีกำไรสุทธิปี 67

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 7, 2024 15:00 ?สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) กล่าวว่า บริษัทฯ คาดปีนี้จะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิราว 434.37 ล้านบาท เป็นไปตามปริมาณการขายยางทุกประเภทที่คาดเพิ่มขึ้น 15% หรืออยู่ที่ 1.5 ล้านตัน จากการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมทั้งราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/67 จนถึงปัจจุบัน และดีมานด์ยางในยุโรป สหรัฐ จีนที่เป็นตลาดใหญ่ฟื้นตัว

บริษัทฯ มีแผนขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติจากเดิม 3.66 ล้านตัน เป็น 3.86 ล้านตัน ซึ่งเป็นกำลังการผลิตเต็มที่ของกลุ่มบริษัทศรีตรัง พร้อมทั้งขยายโรงงานเดิมในพื้นที่พิษณุโลก มุกดาหาร นราธิวาส และเมียนมาร์ โดยจะใช้งบลงทุนราว 1,500-2,000 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในปี 67 มีแนวโน้มสดใส หลังจากตลาดซบเซาในช่วงโควิด รวมทั้งในปี 66 มีภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ดีมานด์ชะลอตัวด้วย ประกอบกับความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด แต่สัญญาณตั้งแต่ปลายปี 66 เริ่มดีขึ้น

"อย่างไรก็ตามต้องติดตามสภาพอากาศ เอลนีโญที่ทำให้ซัพพลายยางในบางประเทศขาดแคลนมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ แต่โดยรวมปีนี้น่าจะสดใสไม่เพียงแต่เรื่องขงอสภาพอากาศหรือดีมานด์ แต่รวมทั้งการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ อาทิ EUDR ที่ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวและมีการพัฒนายางพาราต่อเนื่อง" นายวีรสิทธิ์ กล่าว
ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัว "ยางมีพิกัด (GPS)" เพื่อเตรียมความพร้อมตอบรับมารตราการหรือกฎหมายจากทั่วโลกที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางธรรมชาติที่จำหน่าย โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนเป็นภูมิภาคแรกภายในสิ้นปี 67 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางธรรมชาติไปยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน

นอกจากนี้ยางมีพิกัดยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางธรรมชาติ โดยต้องมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ราคายางมีพิกัดสูงกว่ายางปกติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองกับลูกค้าหลายรายในการทำข้อตกลงซื้อขาย และยังไม่มีการประกาศราคาอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้าการส่งออกยางมีพิกัดจะมีสัดส่วน 50% จากยอดขายทั้งหมด ภายในปี 68

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทศรีตรังพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในระดับสากล ให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของยางได้ 100% เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้อยู่เหนือมาตรฐานประเทศอื่นๆ และเป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สร้างความได้เปรียบทางการค้าของไทย ไปจนถึงโอกาสในด้านราคายางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีโอกาสและความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จากหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย ที่ช่วยดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราไทยมาโดยตลอด ดังนั้น "ยางมีพิกัด (GPS)" จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ช่วยผลักดันทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่ง ?ยางมีพิกัด? จะไม่ได้แค่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตลาดในยุโรปเท่านั้น แต่ยางมีพิกัด จะสามารถตอบโจทย์ในตลาดทั่วโลกได้

นางสาวปภาวี ศรีสุทธิพงศ์ Business Development and Partnership Manager STA กล่าวว่า "ยางมีพิกัด (GPS)" คือยางธรรมชาติ เช่น ยางถ้อนถ้วย, น้ำยางสด, ยางแผ่น เป็นต้น ที่สามารถระบุหรือตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางได้ว่ามาจากพื้นที่สวนไหน ของใคร ซึ่งต้องเป็นสวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรัง จำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 67 และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 68

ทั้งนี้ "ยางมีพิกัด (GPS)" จะช่วยส่งเสริมให้ Sri Trang Ecosystem มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนการทำงานของศรีตรังที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของกลุ่มบริษัทศรีตรัง อาทิ แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends , แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends Station , บริการ Super Driver และระบบ Smart factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ได้แก่ ชาวสวนยาง, ผู้ค้ายาง, ผู้ขนส่งยาง, ชุมชน, คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง ซึ่งจะสร้างมิติใหม่แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลก


โดย วรินทร ศิรินอก/รัชดา คงขุนเทียน