ผู้เขียน หัวข้อ: บาทแข็งค่ารอบ 10 เดือน BAY มองกรอบสัปดาห์นี้ 32.50-33.30  (อ่าน 180 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85099
    • ดูรายละเอียด

บาทแข็งค่ารอบ 10 เดือน BAY มองกรอบสัปดาห์นี้ 32.50-33.30
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 2566)--กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.98 บาท/ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.93-33.69 บาท/ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
          โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา และดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ ลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเมื่อเทียบปีต่อปี CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค.64 หลังจากเพิ่มขึ้น 7.1% ในเดือน พ.ย. ขณะที่ CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 หลังจากเพิ่มขึ้น 6.0% ในเดือน พ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปที่แข็งแกร่งเกินคาด เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์อีกส่วนหนึ่ง
          ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติ ซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 10,480 ล้านบาท และ 18,990  ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ในอัตรากว่า 4.5%
          กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขณะที่ผู้ร่วมตลาดคาดว่าบีโอเจอาจจะพิจารณาทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ผ่านการปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ในการประชุมวันที่ 17-18 ม.ค. แม้การประกาศยกเลิก YCC ในรอบนี้ ไม่ใช่สมมติฐานหลักของเรา แต่ยอมรับว่ามีโอกาสมากขึ้น เพื่อปูทางสำหรับการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต เนื่องจากเงินเฟ้อและค่าแรงในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กรณีที่บีโอเจไม่ปรับ YCC ในสัปดาห์นี้ อาจทำให้เงินเยนพักตัวระยะสั้นได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟดต่อไป
          สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง คาดว่ามีแนวโน้มผันผวนสูง โดยการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเงินบาท อาจมีแรงขายทำกำไรสลับกลับมาบ้าง อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ระยะกลางถึงยาว ประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะชะลอลง ความคาดหวังต่อการกลับทิศของนโยบายเฟด และการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทในปีนี้
โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/กษมาพร กิตติสัมพันธ์