ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 14 มกราคม 2566  (อ่าน 160 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85089
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 112.64 จุด หุ้นแบงก์พุ่งหลังเผยผลประกอบการ
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (13 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวขึ้นหลังจากเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน
          ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,302.61 จุด เพิ่มขึ้น 112.64 จุด หรือ +0.33%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,999.09 จุด เพิ่มขึ้น 15.92 จุด หรือ +0.40% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,079.16 จุด เพิ่มขึ้น 78.05 จุด หรือ +0.71%
          ดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.
          ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 2%, ดัชนี S&P500 ปิดเพิ่มขึ้น 2.7% และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.
          ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 4.2% แล้วในปีนี้ ขณะที่ดัชนี Cboe Volatility ซึ่งวัดความวิตกของนักลงทุนนั้น ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
          หุ้นกลุ่มการเงินเป็นหนึ่งในกลุ่มที่หนุนดัชนี S&P500 ขึ้นมากที่สุด
          เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และแบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป เปิดเผยผลกำไรต่ำกว่าคาด แต่หุ้นธนาคารทั้ง 4 ตัวดังกล่าวปรับตัวขึ้น โดยหุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 2.5% และดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มธนาคารปิดบวก 1.6%
          นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.6 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 60.7 หลังจากแตะระดับ 59.7 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
          ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าระดับ 4.4% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และผู้บริโภคคาดการณ์ว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% สูงกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว
          นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างก็ปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
          ส่วนการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพฤหัสบดี (12 ม.ค.) และข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้หนุนความหวังว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยบรรดานักลงทุนคาดการณ์ในขณะนี้ว่า มีโอกาส 91.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.พ.
          หุ้นเทสลา ปรับตัวลง 0.9% สวนทางตลาด หลังปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐและยุโรปลงมากถึง 20% หลังจากการส่งมอบรถยนต์ในปี 2565 ต่ำกว่าคาด
          หุ้นเดลตา แอร์ไลน์ ร่วงลง 3.5% หลังคาดการณ์ผลกำไรไตรมาสแรกต่ำกว่าคาด
          ตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ (16 ม.ค.) เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และในสัปดาห์หน้า บรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงความเห็นของซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ
          ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า ผลประกอบการเมื่อเทียบเป็นรายปีของบริษัทในดัชนี S&P500 นั้นคาดว่าจะลดลง 2.2% ในไตรมาส 4/2565
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก $1.47 ได้แรงหนุนจากดอลล์อ่อน-แนวโน้มดีมานด์เพิ่ม
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (13 ม.ค.) โดยปรับตัวขึ้นมากกว่า 1 ดอลลาร์ และปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และมีสัญญาณบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่
         ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 79.86  ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.4% ในรอบสัปดาห์นี้
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 85.28 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.6% ในรอบสัปดาห์นี้
          ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน หลังการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อวันพฤหัสบดีบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐลดลงในเดือนธ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
          ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% สู่ระดับ 102.2110
          ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมีแนวโน้มหนุนความต้องการน้ำมัน เนื่องจากทำให้ราคาน้ำมันถูกลงสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ
          การสั่งซื้อน้ำมันดิบของจีนในช่วงที่ผ่านมา และการสัญจรบนถนนที่เพิ่มขึ้นได้เพิ่มความหวังว่า ความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากการเปิดพรมแดน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19
          นักวิเคราะห์ของยูบีเอสให้ความเห็นว่า นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่ความต้องการน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นของจีน และปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนราคาน้ำมัน โดยตลาดจะจับตาการนำเข้าน้ำมันดิบของจีน และการปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันขององค์กรด้านพลังงาน อาทิ กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA)
          โอเปกและพันธมิตรรวมถึงรัสเซียจะประชุมกันในเดือนก.พ.เพื่อประเมินภาวะตลาดน้ำมัน และมีความวิตกว่า โอเปกอาจจะปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีกเพื่อหนุนราคาที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง $22.9 รับอานิสงส์ดอลล์อ่อน-คาดเฟดชะลอขึ้นดบ.
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือนในวันศุกร์ (13 ม.ค.) และปิดเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐชะลอตัวลง และคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 22.9 ดอลลาร์ หรือ 1.21% ปิดที่ระดับ 1,921.7 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยเป็นการปิดตลาดเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. และปิดตลาดสัปดาห์นี้บวก 2.8%
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 36.8 เซนต์ หรือ 1.53% ปิดที่ 24.372 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 11.8 ดอลลาร์ หรือ 1.09% ปิดที่ 1,072.5 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 3.60 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,787.30 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาทองคำได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
          ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน หลังการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อวันพฤหัสบดีบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อในสหรัฐลดลงในเดือนธ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเพิ่มความหวังว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
          ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% สู่ระดับ 102.2110
          แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงช่วยหนุนราคาทองด้วย โดยจะลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
          นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นในจีนก่อนถึงเทศกาลวันหยุดตรุษจีน ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.นี้
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช