วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่กับมีลมกรรโชกแรง และมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีฝนตก
บางแห่ง ร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. การใช้ยาง
- บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน Statistics MRC รายงานว่าตลาดยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 168,300 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2565 โดยการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปสงค์ยางล้อสมรรถนะสูงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วโลก
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า การบริโภคขั้นสุดท้ายเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนถึงร้อยละ 84.7 ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับร้อยละ 66.4 ขณะ
สิ้นปี 2558 บ่งชี้ว่าความพยายามของรัฐบาลในการลดการพึ่งพาการลงทุนและการค้ากำลังบรรลุผล ทั้งนี้การลงทุนช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนร้อยละ 35.8 ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการฉุดการขยายตัวร้อยละ 20.5 ในไตรมาสแรก
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า เฟดควรพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่ระดับร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติรัสเซียเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ค รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมทรุดตัวลง หลังจากขยายตัวเป็นเวลา 2 เดือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ดัชนีปรับลดลงสู่ระดับ 9.0 ในเดือนพฤษภาคม จาก 9.6 ในเดือนเมษายน
- กระทรวงพาณิชย์จีน (MOC) เปิดเผยว่า ยอดการลงทุนในต่างประเทศ (ODI) นอกภาคการเงินของจีนเดือนมกราคม - เมษายน ได้ทะยานขึ้นร้อยละ 71.8 เมื่อเทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สู่ 3.91 แสนล้านหยวน
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าตลาดสุทธิ 2.5 หมื่นล้านหยวน เพื่อรักษาสภาพคล่อง
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ราคาค้าส่งเดือนเมษายนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 109.01 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.29 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมิถุนายน ปิดตลาดที่ 47.72 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.56 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจาก
โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่าตลาดน้ำมันได้สิ้นสุดภาวะอุปทานล้นตลาดแล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมิถุนายน ปิดที่ 48.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- โกลด์แมน แซคส์ ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปีนี้ แต่ปรับลดคาดการณ์ราคาปีหน้า โดยระบุว่าราคาน้ำมัน WTI จะมีค่าเฉลี่ยที่ 45.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 และอยู่ที่ 50.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ดี โกลด์แมน แซคส์ คาดว่าราคาน้ำมัน WTI จะมีค่าเฉลี่ยที่ 52.5 ดอลล่าร์-
สหรัฐต่อบาร์เรลในปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 57.5 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- โกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงานภาวะน้ำมันว่า ตลาดน้ำมันได้สิ้นสุดภาวะน้ำมัน
ล้นตลาดที่ได้ดำเนินมาเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากเกิดการชะงักงันในการผลิตน้ำมันทั่วโลก โดยระบุว่าตลาดได้เข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำมันเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยจะประสบภาวะดังกล่าวในเดือนนี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในระดับสูงและการผลิตที่ลดลง
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 166.8 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.2 เยน
ต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนตุลาคม อยู่ที่ 172.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.2 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 174.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านทรงตัวเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 58.0 ในเดือนพฤษภาคม แต่ยังคงอยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับ 54.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งสูงแตะ 65.0 ในเดือนตุลาคม 2558
- ธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น 3 ใน 5 แห่งรายงานผลประกอบการที่ลดลงในปีงบการเงินที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้การทำกำไรจากการปล่อยกู้น้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อย ไม่ลดลงมากตามตลาดล่วงหน้าโตเกียว เพราะปริมาณผลผลิตและราคาน้ำมันยังเป็นแรงหนุนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายกล่าวว่า ราคายางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนในตลาดล่วงหน้าเริ่มดึงราคาให้ปรับตัวลดลง เนื่องจากเห็นว่าฝนเริ่มตกมากขึ้น ส่งสัญญาณว่าปริมาณยางก็จะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยลบจากนักลงทุนผิดหวังต่อข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ยางในภาพรวม ขณะที่สต๊อคยางจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะที่ 313,769 ตัน (13 พฤษภาคม 2559) จากเดิมที่ 305,178 ตัน (6 พฤษภาคม 2559) อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย และราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคายางไม่ปรับตัวลดลงมากในระยะนี้
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา