ผู้เขียน หัวข้อ: "เฉลิมชัย" เข็นแพ็คเก็จยักษ์อัดสินเชื่อกว่าแสนล้านดึงราคายาง  (อ่าน 628 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84892
    • ดูรายละเอียด
"เฉลิมชัย" เข็นแพ็คเก็จยักษ์อัดสินเชื่อกว่าแสนล้านดึงราคายาง
26 Aug 2019  ที่มา ฐานเศรษฐกิจ


ยังไม่จบ "เฉลิมชัย" นัดใหม่ 27 ส.ค. สั่งกยท.รวบข้อเสนอ "ผู้ประกอบการ-เกษตรกร" ใหม่ ด้านวงในเผย กยท.ปัดฝุ่นโครงการใหม่ เก่า 7 โปรเจกต์ยักษ์ ดันราคายาง กว่าแสนล้าน ด้านผู้ประกอบการเมินสินเชื่อ ยันไม่ได้ขาดสภาพคล่อง แต่ติดปัญหาโลกสงครามการค้าพ่นพิษ ค่าเงินบาทแข็ง ราคายางสูงกว่าคู่แข่ง แนะต้องเพิ่มใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น เครือข่ายฯ ดันสุดลิ่มจ่ายชดเชยชาวสวนไร้เอกสารสิทธิ์ยางแผ่น กิโลฯละ 60 บาท ร่วมวงด้วย
 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" หลังเป็นประธานการประชุม เรื่อง การแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ครั้งที่ 3/2562 เพื่อติดตามการแก้ปัญหายางพาราที่มีผลกระทบต่อราคาและเกษตรกรชาวสวนยาง และให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางและบริษัทเอกชนยางพารา เข้าร่วมรับฟังนโยบายการประชุม กล่าวว่า รับฟังทุกฝ่ายได้เสนอแนวคิดมาหลากหลาย จึงได้สั่งการให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปรวบรวมนำข้อเสนอแนะทั้ง 3 ภาคส่วนที่มาให้ข้อมูล ก็ได้แก่ กยท. ผู้ประกอบการ และเกษตรกร มารวมกันแล้วมานำเสนอใหม่ในวันที่ 27 ส.ค.62
ด้านนายสุนันท์  นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการในการบริหารจัดการยางพารามีทั้งมาตรการเก่าและใหม่ผสมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ก็คือการดูดซับยางออกจากระบบเพื่อช่วยดันราคายางให้เสถียรภาพ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กยท. เสนอ 7 มาตรการเพื่อที่จะดูดซับยางออกจากระบบ  11% ของผลผลิตยางแห้ง 3.5 แสนตัน และราคายางเป้าหมาย 60 บาท/กก. (ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เป็นราคาประกาศของตลาดกลางยางพาราของ กยท.) เพื่อผลักดันราคายางให้สูงกว่าต้นทุนและรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้เกิดความผันผวน โดยจะดำเนินการใช้งบประมาณรวมสินเชื่อ และจ่ายชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง รวมกว่า 1 แสนล้านประกอบด้วย

1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีสต็อกยางเพิ่มขึ้นมากกว่าสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีนับจากวันที่ยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ที่จ่ายจริงไม่เกิน 600 ล้านบาท) 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต วงเงินกู้ จำนวน 25,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท จากโครงการเก่า) คาดว่าจะทำให้ปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1 แสนตัน/ปี

3. โครงการลดภาษีให้ผู้ประกอบการ  คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำนวน 5 หมื่นตัน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ วิธีการดำเนินการ คือ กยท.กับกรมสรรพากร กำหนดแนวทางมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการยางพาราทีมีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติจากปีก่อน (อ้างอิงตามรายงานการใช้ยางของแต่ละบริษัท) โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเป็นวัตถุดิบ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการซื้อยางพารา เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการผลิต

4.โครงการเกษตรผสมผสาน งบประมาณ กยท. จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท (รัฐบาลจ่ายเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท) รวมเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท วิธีการดำเนินงาน กยท.สนับสนุนปลูกแทนไร่ละ 1.6 หมื่นบาท รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติม 1 หมื่นบาท เพื่อดำเนินกิจกรรม เช่น ปรับลดพื้นที่ให้เหมาะสม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง เป็นต้น

5. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถรวบรวมยางจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 7 แสนตัน/ปี (ผลการดำเนินงานครั้งที่แล้วเบิกเงินกู้จริง 374 แห่ง เป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปริมาณยาง 343,931 ตัน) ดำเนินการต่อโดยขอขยายระยะเวลาโครงการต่อ 4 ปีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2567

6. ตั้งตลาดยางล่วงหน้า "ไทยคอม" ซึ่งจะมีการเปิดประมูลขายยางในตลาดออนไลน์ และ 7.มาตฐานการรับรองการจัดการป่ายั่งยืนในระดับสากล FSC และ PEFC เป้าหมาย 4 แสนไร่ งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการชดเชยรายได้ชาวสวนยางราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี กิโลกรัมละ 60 บาท ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100) ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 100%) 50 บาท/กิโลกรัม จำนวนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน 1.1 ล้านราย (ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์) กับพื้นที่เป้าหมายกว่า 13 ล้านไร่ ต้องใช้เงิน 3.3 หมื่นล้านบาท สมมติฐานราคายางชดเชยให้เกษตรกรที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม แล้วถ้าราคายางต่ำลงกว่านี้ รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้าราคายางปรับราคาเพิ่มขึ้นพ้น 60 บาทต่อกิโลกรัมรัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ด้านนายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล เลขาธิการสมาคมน้ำยางข้นไทย เผยว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน ส่งผลกระทบทำให้ตลาดที่ส่งออกไปจีนตลาดหายไปเลย ผู้ประกอบการไม่ได้ขาดสภาพคล่อง ขาดตลาดมากกว่า ขณะที่ปีนี้ผลผลิตไม่มากนัก เกษตรกรยังได้รับผลกระทบขนาดนี้ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็คือเพิ่มการใช้ในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่มาตรการลดต้นทุนให้เกษตรกร

ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกยางจะได้ชดเชยรายได้ยางแผ่นกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะเป็นอีกกลุ่มที่เสียเงินเซสส์กิโลกรัมละ 2 บาทควรที่จะได้ประโยชน์ด้วย เป็นงบจากรัฐบาลจะได้ไม่แยกประชาชนเป็นสองมาตรฐานหวั่นจะเข้าใจรัฐบาลผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องจูงใจให้บุกรุกป่า นั่นเป็นคนละเรื่องกัน ในส่วนนั้นก็ต้องไปป้องกัน แต่นี่คนกลุ่มนี้ปลูกมา 40-50 ปีแล้ว ส่วนในบัตรกลุ่มสีชมพู เป็น กลุ่ม ภ.ท.บ.5 ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยได้รับสิทธิประโยชน์ใครปลูกยางได้หมด โดยใช้กฎหมายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นนโยบายรัฐบาลควรที่จะได้ทุกคน เพราะตอนที่หาเสียงก็ได้รับปากไว้ว่าจะให้คนกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้นควรจะได้เสมอภาคกันทั้งบัตรสีเขียวและสีชมพู