ในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People?s Congress) ครั้งที่ 13 ทางการจีนได้มีการตั้งเป้าหมายของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 ที่ยืดหยุ่นขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ประมาณร้อยละ 6.5 ในปีก่อนหน้า เป็นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในกรอบร้อยละ 6.0-6.5 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจต่อการส่งสัญญาณเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ ดังนี้ ? ทางการจีนส่งสัญญาณถึงความยืดหยุ่นของเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการส่งสัญญาณดังกล่าวเป็นการสื่อความว่าทางการคาดการณ์ถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจจีนที่น่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของสงครามการค้า ตลอดจน ความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในของจีนเอง อย่างไรก็ดี ทางการจีนคงเป้าหมายการสร้างตำแหน่งงานในเขตเมืองไว้ที่ 11 ล้านคน เสมือนเป็นการให้คำมั่นในการประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ให้ชะงักงันอย่างรุนแรง ภายใต้เครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ ที่เริ่มทยอยประกาศใช้ โดยทางการจีนยังคงรักษาท่าทีการนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณเงินในความหมายกว้าง (M2) ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรักษาสภาพคล่องของภาคครัวเรือนเพื่อหนุนนำการใช้จ่าย ในส่วนของมาตรการทางการคลัง ทางการจีนส่งสัญญาณถึงมาตรการทางการคลังที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าในการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐที่ร้อยละ 6.5 หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 แสนล้านหยวน อันนำมาสู่การขาดดุลการคลังที่ระดับร้อยละ 2.8 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการขาดดุลการคลังในปีก่อนหน้า ? ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของการใช้มาตรการทางการเงินในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ทางการจีนคงจะอาศัยนโยบายการคลังเป็นหลักในการดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณเงินในความหมายแคบ (M1) ที่ขยายตัวชะลออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ในเดือน มกราคม 2562 อาจเป็นสัญญาณถึงความชะงักงันของภาคธุรกิจในการขอสินเชื่อ และอาจจะเป็นลางบอกเหตุถึงสัญญาณของระดับสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่เริ่มตึงตัว แม้ว่าทางการจีนจะได้มีการผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวคงสะท้อนถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินผ่อนคลายของจีนที่เผชิญกับข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของปริมาณเงินในความหมายกว้าง (M2) ที่ระดับประมาณร้อยละ 8 คงเป็นปัจจัยประคองเสถียรภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาคธุรกิจอาจจะยังคงชะลอการลงทุนอยู่ แต่คงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของการปรับขึ้นของ M2 มาจากการก่อหนี้ระยะสั้นของภาคครัวเรือนเพื่อการบริโภค อันคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ การดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าคงจะต้องอาศัยนโยบายการคลังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยทางการจีนได้ออกมาตรการปรับลดภาษีขนานใหญ่มูลค่า 2 ล้านล้านหยวนในปี 2562 ผ่านการปรับลดภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 3 จากร้อยละ 16 มาอยู่ที่ร้อยละ 13 สำหรับผู้ผลิต และปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 จากร้อยละ 10 มาอยู่ที่ร้อยละ 9 สำหรับผู้ประกอบการภาคขนส่งและก่อสร้าง เพิ่มเติมจากมาตรการปรับลดภาษีของผู้บริโภคและบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อยมูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวนในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มาตรการปรับลดภาษีรอบใหม่น่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ ตลอดจนน่าจะส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นตามมา จากระดับรายได้ที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการคลังดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อแรงกดดันต่อประเด็นปัญหาหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 น่าจะสามารถบรรลุระดับเป้าหมายของทางการได้ จากแรงหนุนของภาคการบริโภคที่ได้รับอานิสงส์ จากมาตรการปรับลดอัตราภาษีเพิ่มเติมมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 2 ของจีดีพี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าว่าเศรษฐกิจจีนคงเติบโตได้ร้อยละ 6.2 (ช่วงประมาณการร้อยละ 6.0 ถึงร้อยละ 6.4) ทั้งนี้ ทางการจีนได้มีการตั้งเป้าหมายของการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Real Term) ให้เติบโตเป็น 2 เท่าในรอบทุกๆ 10 ปี โดยระดับการขยายตัวต่ำสุดที่จะส่งผลให้ขนาดของเศรษฐกิจจีนในปีค.ศ. 2020 มีขนาดเป็น 2 เท่าของเศรษฐกิจในปีค.ศ. 2010 จีนจะต้องรักษาระดับการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.2 ในปีนี้ ซึ่งทางการจีนคงจะพยายามที่อย่างเต็มที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงเสถียรภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ ขณะที่ พัฒนาการของการเจรจาคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการในเชิงบวก อาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น-กลางไปได้บางส่วนให้มีโอกาสขยายใกล้เคียงกับกรอบบนของเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงด้านการค้าอาจจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะยาวจากการแข่งขันในการเป็นมหาอำนาจของโลก รวมทั้ง ผู้นำทางเทคโนโลยียุคหน้า อันอาจจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอนาคต ซึ่งยังคงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป Written by :กระแสหุ้นออนไลน์ |