ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: ยาง ปาล์ม มะพร้าว  (อ่าน 811 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84347
    • ดูรายละเอียด
คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: ยาง ปาล์ม มะพร้าว


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 00:00:11 น.
แว่นขยาย

อยากให้ดูคลิปนี้ นาทีที่ 22.10 น.https://www.youtube.com/watch?v=e6dmpGVUrlM



เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม. มีมติใช้เงินงบประมาณ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หลายมาตรการ รวมๆ กันแล้วเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 - กันยายน 2562 ครัวเรือนละ 330 บาท รวมเป็นเงิน 27,060 ล้านบาท สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีในเดือนธันวาคม 2561 คนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 7,250 ล้านบาท ค่าเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,500 ล้านบาท ช่วยเหลือค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561- กันยายน 2562 คนละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 920 ล้านบาท รวมทั้ง 4 มาตรการ เป็นเงิน 38,730 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นเงิน ช่วยเหลือจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก


นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกมาประกาศว่ามาตรการเหล่านี้ ไม่ได้มีอะไร เกี่ยวกับการเมือง......ประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองอย่างพวกเราก็พอจะมองออกว่า เกี่ยวหรือไม่เกี่ยว....
 
มติ ครม.วันเดียวกันนี้ยังใช้เงินนับหมื่นล้านบาท อีกเรื่องหนึ่ง คือ มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง ในวงเงิน 1,800 บาทต่อไร่ (รายละไม่เกิน 15 ไร่ พื้นที่รวม 10 ล้านไร่) เงินจำนวนนี้เป็นของเจ้าของสวนยาง 1,100 เป็นของคนกรีดยาง 700 บาท หรืออัตราส่วน 60:40 แต่มีข้อแม้ว่า ชาวสวนยางที่จะได้สิทธิ์นี้ต้องเป็นชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. และพื้นที่ปลูกต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย เท่านั้น งบประมาณที่ต้องใช้กับมาตรการนี้รวมทั้งสิ้น 18,604.95 ล้านบาท
 
อันที่จริงปัญหายางพาราราคาตกต่ำ เรื้อรังมานานหลายปี กยท. พยายามแก้ปัญหา จนเปลี่ยน ผู้ว่าการ กยท. ไปหลายคน แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาก็ดูจะไร้ผล ตั้งแต่ขอให้หยุดกรีดยาง ขอให้โค่นยางทิ้งเพื่อไปปลูกพืชอื่น มาตรการเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะการใช้ยางเป็นส่วนผสมในการทำถนนก็ติดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนมาตรการนี้ได้
 
จนกระทั่งชาวสวนยางอดรนทนไม่ไหว จะจัดม็อบมาร้องเรียนรัฐบาล และตามธรรมเนียมของการสลายม็อบในยุคนี้ คือ หามาตรการช่วยเหลือ และมาตรการที่ง่ายที่สุดคือใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลทุ่มลงไป แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนไม่เคยเกิดขึ้นเลย
 
ไม่เพียงแต่ ยางพารา ยังมีปาล์มน้ำมัน ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ และชาวสวนปาล์มเอาผลผลิตปาล์มน้ำมันมาเททิ้งและเผาเล่นไปหลายร้อยตัน เพราะปีนี้ราคาผลปาล์มตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากที่เกษตรกรเคยขายได้ราคากิโลกรัมละกว่า 4 บาท มาขณะนี้ราคาตกลงเหลือกิโลกรัมละ 2 บาทกว่า ในขณะที่ชาวสวนยืนยันว่าราคาต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.70 บาท
 
ปัญหาปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำ สมาคมชาวสวนปาล์มตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่คลาดน้อย การใช้พลังงานประเภทไบโอดีเซลในประเทศก็มิได้ลดลง แต่ทำไมราคาปาล์มน้ำมันจึงตกต่ำ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากมีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มล้น เกินความต้องการ
 
มาถึงมะพร้าว.....นอกเหนือจากชาวสวนต้องเผชิญปัญหาหนอนหัวดำ และศัตรูมะพร้าวตัวอื่นๆ ระบาดทำลายต้นมะพร้าวจนทำให้ผลผลิตลดลง และต้นมะพร้าวตายไปจำนวนไม่น้อย กว่าจะฝ่าฟันผ่านอุปสรรค จนฟื้นฟูสวนมะพร้าวขึ้นมาใหม่ได้ คิดว่าจะสามารถขายผลผลิตมะพร้าว มีรายได้กลับคืนมา กลับกลายเป็นว่ามีการอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจาก ต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากมาย ส่งผลให้ราคามะพร้าว ภายในประเทศตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเดือดร้อนไปตามๆ กัน เกือบจะมีม็อบมะพร้าวเกิดขึ้นแล้ว ดีแต่ว่า กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ผู้อนุญาตให้นำเข้ามะพร้าว ส่งคนไปชะลอทัพ เจรจาสกัดม็อบ และมีมาตรการงดการนำเข้ามะพร้าว ม็อบจึงสลายไปได้
 
น่าสังเกตว่า ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวภาคใต้ ที่ชาวสวนเองต้องออกมาส่งเสียงเรียกร้อง รัฐจึงหันมาช่วยแก้ปัญหา ถ้าเกษตรกรอยู่อย่างเงียบๆ รัฐคงไม่เหลียวแล
มาทายกันไหมว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พรรคไหนจะครองใจคนใต้.......

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 23, 2018, 10:05:10 AM โดย Rakayang.Com »