ผู้เขียน หัวข้อ: Spotlight: เงินหยวนเริ่มมีบทบาทในตลาดน้ำมันโลก หลังซาอุดิอาระเบียเล็งระดมทุนในสกุลเงินหยวน  (อ่าน 310 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84583
    • ดูรายละเอียด
Spotlight: เงินหยวนเริ่มมีบทบาทในตลาดน้ำมันโลก หลังซาอุดิอาระเบียเล็งระดมทุนในสกุลเงินหยวน



สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 1 กันยายน 2560 14:56:36 น.
 
เจ้าหน้าที่อาวุโสของซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่า ซาอุดิอาระเบียกำลังพิจารณาเรื่องการระดมทุนในสกุลเงินหยวน เนื่องจากเห็นว่าจีนและสกุลเงินหยวนเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในตลาดน้ำมันโลก
 
นายมูฮัมหมัด อัล-ตุวัยญิรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนของซาอุดิอาระเบียได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่สกุลเงินหยวนของจีนจะเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก


นักวิเคราะห์ต่างรอดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวน จากทั้งทางซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก และจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
 
นายเจิ้ง ฉวน ผู้จัดการทั่วไปของ อินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) สาขากรุงริยาดห์กล่าวว่า "เมื่อพิจารณาดูแล้ว โครงการส่วนใหญ่ในยุทธศาสตร์การเติบโต "Saudi Vision 2030" ของซาอุดิอาระเบีย ต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล แต่ยังมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างช้า ดังนั้น การระดมทุนในหลากหลายสกุลเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสกุลเงินหยวนนั้น จะทำให้ซาอุดิอาระเบียมีช่องทางในการหาเงินทุนเพิ่มขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนเพื่อรองรับความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาล
 
นอกจากนี้ นายเจิ้งยังเชื่ออีกว่าพันธบัตร "แพนด้าบอนด์ (Panda bonds)" ซึ่งเป็นพันธบัตรสกุลเงินหยวนที่จำหน่ายโดยต่างประเทศและหน่วยงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศจีนนั้น จะเป็นทางออกในเรื่องต้นทุนการใช้จ่าย เพื่อรองรับแผนพัฒนาตามยุทธศาสตร์ "Saudi Vision 2030"
 
เขากล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการทำการค้าได้ หากยอมจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์เป็นสกุลเงินหยวน ซึ่งนั่นจะทำให้ซาอุดิอาระเบียได้รับการต้อนรับจากผู้ส่งออกชาวจีน
- ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบได้ประโยชน์ร่วมกันกันทั้งสองฝ่าย
 
นายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า จีนพร้อมสนับสนุนซาอุดิอาระเบียในการทำให้ยุทธศาสตร์ "Saudi Vision 2030" เป็นจริงขึ้นมา และต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรในขณะที่ซาอุดิอาระเบียกำลังกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ" พร้อมเสริมว่าทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเจรจากันถึงแผนการในการผสานยุทธศาสตร์ Belt and Road เข้ากับยุทธศาสตร์ "Saudi Vision 2030" ของซาอุดิอาระเบีย
 
ด้านนายโรเบิร์ต ซาเวจ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง CCTrack Solutions ในเครือบริษัท Citic Capital ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการบริการจัดการเงินทุน กล่าวว่า "ความพยายามที่จะทำงานร่วมกันในด้านการค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้นของทั้งซาอุดิอาระเบียและจีนนั้น นับเป็นตัวอย่างของการได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย"
 
เขาเน้นว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งซาอุดิอาระเบียกำลังต้องการเปลี่ยนจากการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐ มาเป็นผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่ของจีน ในขณะที่จีนเองก็อยากให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่เป็นสากลมากขึ้น
 
นายซาเวจยังกล่าวด้วยว่า เงินหยวนเป็นทางเลือกใหม่ที่มาแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ และการชำระบัญชีค่าน้ำมันด้วยเงินหยวนอาจเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการควบคุมของสหรัฐ
 
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ระดับความสำเร็จของซาอุดิอาระเบียในการบริหารจัดการด้านการเงินในรูปแบบใหม่นั้น จะเป็นตัวกำหนดว่า จะมีประเทศอื่นๆดำเนินการตามหรือไม่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 01, 2017, 03:49:57 PM โดย Rakayang.Com »