ผู้เขียน หัวข้อ: ม็อบยางสุดทน! 20 มิ.ย.บุกทำเนียบจี้ใช้ ม.44 ฟันพ่อค้าทุบราคา  (อ่าน 956 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ม็อบยางสุดทน!20มิ.ย.บุกทำเนียบจี้ใช้ม.44ฟันพ่อค้าทุบราคา

วันอาทิตย์ ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560, 21.59 น. ที่มา แนวหน้า


 

ชงครม.เห็นชอบขยายวงเงินสินเชือช่วยเกษตรกรสวนยาง1หมื่นล้านบาท เตรียมชดเชยรายได้2หมื่นรายไร่ละ1,500บาทต่อรายๆละไม่เกิน15ไร่ ผู้ว่ากยท.วอนชาวสวนยางอย่าชุมนุม ยิ่งส่งผลราคายางตลาดโลกตก เข้าทางขบวนการทุบราคา ขอให้รออีก1สัปดาห์ราคาจะขึ้นเป็นปกติ ขณะที่"สยยท."เตรียมนำม็อบยางบุกทำเนียบ จี้ใช้ม.44เล่นงานพ่อค้ายางรายใหญ่20มิ.ย.นี้

11 มิ.ย.60 นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีเกษตรกรสวนยางภาคใต้และภาคอีสานได้ประกาศชุมนุมเรียกร้องให้เร่งแก้ราคายางตกต่ำจาก 70 บาท เหลือ  50 บาท และร่วมตัวเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง 4 มาตรการ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.ในวันอังคารที่ 13 มิ.ย.นี้ โดยเฉพาะมาตรการที่เร่งรัดขยายเงินทุนหมุนเวียนให้เกษตรกรกู้ยืม วงเงิน 10,000 ล้านบาท จะสามาถสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับอนุมัติเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรอีก 2 หมื่นรายๆ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ รวม 22,500 บาทต่อราย


นายธีธัช กล่าวว่าทาง กยท.พร้อมรับหนังสือ และรับฟังความเดือดร้อนเกษตรกรทุกประเด็นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ได้ตรวจสอบพบว่าราคายางลดลงรวดเร็วอย่างผิดปกติ เกิดจากมีขบวนการปล่อยข่าวทุบราคา เพื่อทำให้เกิดภาวะราคาผันผวนในตลาดโลก เพราะประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ถ้าตลาดโลกได้รับข้อมูลผิดทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ขณะนี้กำลังตรวจสอบเชิงลึก ว่าเกิดจากฝ่ายใด ซึ่งจากการตรวจสอบปริมาณการใช้ในยางในตลาดโลก กับปริมาณยางที่ออกมาสู่ตลาดยังถือว่ามีความสัมพันธ์กันโดยปริมาณยางที่ออกมาสู่ท้องตลาด เวลานี้ถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้วในข่วงเดียวกัน จึงไม่น่าทำให้มีราคาตกลงรวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้น


"เกิดจากสร้างข้อมูลเท็จทำให้ยางตกต่ำ จนเกิดความตระหนกทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่กล้าซื้อทำให้ราคายางลงไปอีก หลังจากที่ กยท.เรียกผู้ส่งออกรายใหญ่ บริษัท 5 เสือ มาคุยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางเริ่มปรับตัวขึ้น ราคายางรมควันชั้น 3 จาก 51 บาทต่อ กก.ขึ้นมา 59 บาท แล้วขณะนี้ วิงวอนเกษตรกร ผู้ปลูกยาง อย่าวิตกข่าว ต้องยอมรับว่าตลาดซื้อขายล่วงหน้าอิงกับข้อมูลข่าวสาร ถ้ามีกระบวนการทำลายราคา จะทำให้ราคาตก ให้รอสัปดาห์หน้า ราคาจะสูงขึ้นอีก" นายธีธัช กล่าว


ผู้ว่า กยท.กล่าวว่า ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในกลุ่มผู้ส่งออกยางพาราอย่างเป็นระบบ โดยวันนี้ กยท.ทำหนังสือประสานประเทศผู้ผลิตยาง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เรียกประชุมด่วน เลื่อนจากจะประชุมในอีกสามเดือนข้างหน้า มาประชุมปลายเดือนนี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือกับกลุ่มประเทศ ผลลิตยางรายใหญ่ แก้ไขอย่างไร ในเรื่องราคา ผันผวน ต้องทำให้เกิดเสถียรภาพ เพราะที่ผ่านมีกระบวนการทำลายราคา ขอให้เกษตรกรเชื่อมั่นมาตรการที่ กยท.ทำอยู่ หากออกมาชุมนุมจะทำให้ราคาตกไปอีก เพราะจากการหารือกับบริษัทยางส่งออกยังรับซื้อเหมือนเดิม


"กยท.เรียกบริษัท 5 เสือ มาคุยทั้งหมดทำงานร่วมกัน เข้าไปดำเนินการรับซื้อ ให้ชี้แจงเกษตรกร ให้เกิดความเข้าใจไม่อยากให้ตระหนก จะซ้ำเติมเกษตรกรในประเทศ ยิ่งมีข่าวเกษตนกรร้องเรียน ทำให้ราคาซื้อขายร่วงหน้าตก ขบวนการทั้งหมดเอาข้อมูลจากประเทศไทยไปกดราคา ทั้งที่ในตลาดโลกยางขาด แต่มาบอกว่ายางล้น ขอให้รอ 1 สัปดาห์ ราคาขยับสูงขึ้น" ผู้ว่า กยท.กล่าว


รายงานข่าวเปิดเผยว่า มาตรการใช้ยางในประเทศ 1 แสนตัน ในโครงการซื้อยางราคา 45 บาท ได้ยุติโครงการไปแล้ว เนื่องจากราคายางเกิน กยท.จึงยกเลิกส่วนจะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร


สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง ซึ่งเป็นมาตรการเดิม แต่มีการขยายเวลาโครงการ ได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ มาแล้วที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยต้องเสนอผ่าน ครม.ก่อน จึงมีผลนำไปใช้ได้ ประกอบด้วย 1.มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยรับภาระดอกเบี้ยไม่เกิน 3% คาดการณ์ว่าจะสามารถดูดซับผลผลิต ออกจากระบบได้ 2 แสนตัน ในปี 60


2.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการ พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.60 ออกไปอีก 1 ปี 3.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ออกไปอีก 90 วัน และ 4.มาตราการขยายระยะเวลาโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.63


ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศ (สยยท.) เปิดเผยว่า สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมตัว 9 องค์กร โดยในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ จะมาทั่วประเทศประมาณกว่า 100 คน เพราะประสบความเดือดร้อนต้องให้นายกฯ ช่วยเหลือเร่งด่วนจากปัญหาขายยางขาดทุนหนัก


นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตกรสวนยาง 4 มาตรการ ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นมาตรการเดิมๆ ที่ไม่ได้ทำให้ราคายางขึ้นแต่อย่างใด เรียกว่าเป็นมาตรการเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้นายกฯใช้มาตร 44 เล่นงานพ่อค้ายางรายใหญ่ ที่ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทุบราคายางในประเทศเราเอง ไม่ใช่จากตลาดโลกผันผวน พ่อค้ายางพวกนี้ มียางในมืออยู่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถต่อรองตลาดโลกได้ ซึ่งรัฐบาลควรบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยางยึดใบอนุญาตซื้อขายได้ทันที อีกทั้งผู้ว่าฯ กยท.ต้องเร่งประชุมเพื่อแก้ไขปัยหาดังกล่าวด้วย


ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มิ.ย.เวลา 14.00 น.ทางกลุ่มฯ จะมีการประชุมกันที่สมาคมสื่อเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และจะสรุปประเด็นเรียกร้องทั้งหมดเสนอนายกฯ ในวันที่ 20 มิ.ย.เวลา 10.00 น.ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล

อ้างถึง
http://www.naewna.com/local/274916