'พาณิชย์' ขอความร่วมมือให้จีนเร่งนำเข้าข้าว ยางพารา แก้ส่งออกรังนก
'พาณิชย์' ถกจีน เดินหน้าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ นำร่องทำแผนร่วมมือทางเศรษฐกิจ 5 สาขา ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน คาดสรุปแผนปฏิบัติการชงให้ที่ประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีสองฝ่ายพิจารณาได้ในเดือนธ.ค.นี้ เผยไทยยังได้ขอให้จีนเร่งนำเข้าข้าว ยางพารา และแก้ปัญหาการส่งออกรังนกให้ด้วย
เมื่อวันที่ 29 ก.ย.59 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุนไทย-จีน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26-27 ก.ย.59 ว่า ได้มีการหารือกับนางเกา เยี่ยน รมช.พาณิชย์จีน ถึงความคืบหน้าในการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หลังจากที่ไทยและจีนได้ตกลงต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับเดิม ที่ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 14 สาขา และจะหมดอายุในปี 59 โดยได้ต่ออายุออกไปอีก 5 ปี (ปี 60-64) จึงต้องมีการปรับแผนและแนวทางความร่วมมือให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น จะมีการทำแผนความร่วมมือในระยะแรก 1-2 ปี โดยเน้นความร่วมมือในสาขานวัตกรรมที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน คือ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพลังงาน ส่วนสาขาอื่นๆ จะเพิ่มความร่วมมือในปีต่อๆ ไป
การร่วมมือกับจีนจะเน้นในด้านนวัตกรรมที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน และยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยจากนี้ไป จะมีการหารือในรายละเอียดโครงการ และกิจกรรมความร่วมมือ ทั้งในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล และระหว่างภาคธุรกิจไทย-จีน เพื่อผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการร่วมกัน และจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 ระดับรองนายกรัฐมนตรีไทย-จีน ในเดือน ธ.ค.59 ต่อไป
นายสุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยขอให้จีนเร่งรัดการนำเข้าสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว และยางพารา ภายใต้บันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งประสานการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถส่งออกรังนกไทยไปจีนได้โดยเร็ว และยังมีการหารือเพื่อลดอุปสรรคของนักลงทุนไทยในจีน และอุปสรรคของนักลงทุนจีนในไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนให้กันและกันต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายจีนได้แสดงความสนใจในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ใน 14 สาขา ได้แก่ 1. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน 2. นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว 3. การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ 4. ทรัพย์สินทางปัญญา 5. วิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 6. เกษตร 7. อุตสาหกรรม (สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์) 8. สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 9. เหมืองแร่ 10. พลังงาน 11. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 12. การท่องเที่ยว 13. โลจิสติกส์ 14. การเงิน
(ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2559)