วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักและลมกรรโชกแรงบางพื้นที่ โดยภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ และภาคเหนือมีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกมีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- คณะกรรมการยางอินเดีย กล่าวในรายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมาอินเดียมีปริมาณการผลิตยางพาราลดลงเหลือเพียง 563,000 ตัน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในขณะเดียวกับการนำเข้ายางสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงสุด 454,303 ตัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคายางทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มจะดีขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีความกระตือรือร้นที่จะกลับมากรีดยางอีกครั้ง
3.เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.7 ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับร้อยละ 0.3 เพราะได้แรงหนุนจากการผลิตเครื่องจักรและรถยนต์ และบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ สามารถรับมือภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก
- เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 2 ราย กล่าวเมื่อวานนี้ว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2013 จากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร ก่อนหน้านี้ CPI ขยับขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.1 ในเดือนเมษายน หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในเดือนมีนาคม
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพฯ ยุโรป (EU) เปิดเผยว่า การส่งออกและนำเข้าของยูโรโซนลดลงในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ระบุว่า การส่งออกของยูโรโซนในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 1.778 แสนล้านยูโร ได้ลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้การนำเข้าของยูโรโซนลดลงร้อยละ 8.0 สู่ระดับ 1.492 แสนล้านยูโร
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า การบริโภคขั้นสุดท้ายมีสัดส่วนร้อยละ 84.7 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ในช่วงไตรมาสแรกซึ่งบ่งชี้ว่าความพยายามของรัฐบาลจีนในการผ่อนคลายการพึ่งพาการค้าและการลงทุนนั้นกำลังประสบผล
- กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.8 จากเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการทบทวนขึ้นจากระดับร้อยละ 3.6 ในการรายงานเบื้องต้น
- รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2559 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เพราะได้แรงงานหนุนจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ฟื้นตัว
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 109.12 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.11 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymax ส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 ปิดตลาดที่ 48.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.59 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังจากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ตลาดน้ำมันได้สิ้นสุดภาวะอุปทานล้นตลาดแล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ตลาดลอนดอนเพิ่มขึ้น 0.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปิดตลาดที่ 49.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 166.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ 172.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.3 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 174.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 1.17 ล้านยูนิต
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางทรงตัว เพราะมีปัจจัยลบจากตลาดต่างประเทศที่ชะลอการซื้อ เพื่อรอราคาที่ต่ำกว่าและคาดว่าปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ฝนตกเพิ่มขึ้นในระยะนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาต่ำลง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาท ประกอบกับปริมาณผลผลิตยางที่ยังคงออกสู่ตลาดน้อย ส่วนปัจจัยลบมาจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี และประธานเฟดหลายสาขาออกมาสนับสนุนให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 - 3 ครั้งในปีนี้
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา