ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 938 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84897
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่  9  มีนาคม  พ.ศ. 2559

ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ทั่วทุกภาคของประเทศมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ภาคใต้มีอุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ต้นยางให้ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ประกอบกับอยู่ในช่วงยางผลัดใบหลายพื้นที่หยุดกรีด

2. การใช้ยาง


- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์เดือนมกราคมอยู่ที่ 147,651 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 11.67 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 3.3 ส่วนยอดการส่งออกรถยนต์เดือนมกราคมอยู่ที่ 93,714 คัน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกจากยอดการผลิตรวมร้อยละ 93.14 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.38

3. เศรษฐกิจโลก


- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า นานาประเทศจะต้องออกมาตรการร่วมกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับต่ำ ซึ่งได้สร้างความกังวลครั้งใหม่ต่อภาวะเศรษฐกิจ

- สำนักงานคณะรัฐมนตรีรายงานว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 2.4 จุด อยู่ที่ 40.1 จุด โดยปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 และนับเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ท่ามกลางผลประกอบการที่ซบเซาของภาคธุรกิจ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

- สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐฯ (NFIB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดย่อมลดลง 1 จุด อยู่ที่ 92.9 จุดในเดือนกุมภาพันธ์

- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส

- กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมันรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากเดือนก่อน หลังจากตัวเลขที่ปรับทบทวนหดตัวลงร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคม โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นร้อยละ 0.5

- สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานว่ายอดส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 8.218 แสนล้านหยวน ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.0 อยู่ที่ 6.123 แสนล้านหยวน

- รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2558 โดยระบุว่า GDP ในช่วงเวลาดังกล่าวหดตัวลงร้อยละ 1.1
เมื่อเทียบเป็นรายปี ดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลงร้อยละ 1.4

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.09 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 112.50 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.30 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายนปิดตลาดที่ 36.50 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่าสต๊อคน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สัญญาน้ำมันดิบยังลดลงหลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลการค้าที่อ่อนแอ

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายนปิดที่ 39.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.19 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ออกรายงานเตือนว่า การร่วงลงของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะเป็นปัจจัยกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 164.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 171.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 5.8 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 145.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 4.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- รัฐมนตรีน้ำมันของไนจีเรียเปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และรัสเซีย จะประชุมในวันที่ 20 มีนาคม 2559 เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลักดันราคาน้ำมันขึ้น หลังจากที่ทรุดตัวลงก่อนหน้านี้

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางปรับตัวลดลงจากแรงเทขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุนในตลาดล่วงหน้า หลังจากที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการบั่นทอนราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายยังมีความเชื่อมั่นว่าราคาไม่ปรับลดลงมากในระยะนี้ เพราะปริมาณยางมีน้อย ราคาอาจจะปรับสูงขึ้นได้อีก จึงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมัน ประกอบกับได้รับปัจจัยลบจากรายงานยอดส่งออกของจีนลดลงร้อยละ 20.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการแข็งค่าของเงินเยนและเงินบาท อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคายางปรับตัวลดลงในกรอบจำกัด



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 09, 2016, 11:58:20 AM โดย Rakayang.Com »