วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนตกบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ขณะที่สภาพอากาศที่แห้งแล้งและอยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง
2. การใช้ยาง
- บริษัทวงศ์บัณฑิต จำกัด เซ็นต์สัญญาขายยาง 1.10 แสนตันให้ 3 ผู้นำเข้าจากจีน ตามโครงการจับคู่ธุรกิจยางของกระทรวงพาณิชย์ ช่วยกระตุ้นตลาดและราคายางในระยะสั้น ขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ยางโลกปี 2559 ลดลงเหลือ 12 ล้านตัน และเชื่อว่าทิศทางราคายางดีขึ้นหลังจาก 3 ประเทศจับมือลดการส่งออกร้อยละ 15 นาน 6 เดือน
3. เศรษฐกิจโลก
- สภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เริ่มจัดการประชุมในวันเสาร์นี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรีจีนประกาศปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงสู่ระดับร้อยละ 6.5 - 7.0 จากร้อยละ 7.0 ของปีที่แล้ว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า ยอดค้าปลีกในยูโรโซนเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในสหภาพยุโรป (EU) จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ
- ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐฯ (ISM) พบว่า ภาคบริการของสหรัฐฯ มีการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ 53.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 และลดลงจาก 53.5 ในเดือนมกราคม
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากแผนการลงทุนด้านธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน
- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้
ยูโรโซน ลดลงเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 53.0 จาก 53.6 ในเดือนมกราคม ซึ่งมาร์กิต คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนไตรมาสแรกปีนี้จะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเพิ่มความหวังที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มีนาคม 2559
ภาคบริการอิตาลี เพิ่มขึ้นแตะ 53.8 จาก 53.6 ในเดือนมกราคม
ภาคบริการฝรั่งเศส อ่อนแรงลงแตะ 49.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จาก 50.3 ในเดือนมกราคม
ร่วมกับไฉซินเปิดเผยว่า ภาคบริการของจีนลดลงสู่ 51.2 จาก 52.4 ในเดือนมกราคม บ่งชี้ว่าแนวโน้มในการเติบโตของภาคบริการของจีนได้ชะลอความแรงลง โดยกิจกรรมธุรกิจขยายตัวเพียงเล็กน้อย
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.43 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.08 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 113.33 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.50 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายนปิดตลาดที่ 34.57 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.09 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะสามารถตกลงกันได้ในประเด็นการปรับลดกำลังการผลิต
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายนปิดที่ 37.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 518 ล้านบาร์เรล โดยทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.6 ล้านบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 164.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 6.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 172.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 7.3 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 137.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 4.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า อัตราว่างงานไตรมาส 4 ปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.1 อยู่ที่ร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส โดยจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 2.860 ล้านคนในช่วงสิ้นปีที่แล้ว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้กระทรวงระบุว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 6,000 ราย อยู่ที่ 278,000 ราย ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดต่างประเทศที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตยางที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งซื้อเพื่อส่งมอบ ก่อนที่จะขาดแคลนยาง เพราะหลายพื้นที่หยุดกรีดแล้ว
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียว เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวและยังได้แรงหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มีนาคม 2559 รวมถึงปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาล ขณะที่นโยบาย 3 ประเทศผู้ผลิตยางจับมือลดการส่งออกร้อยละ 15 นาน 6 เดือน และโครงการจับคู่ธุรกิจยางของรัฐบาลก็ช่วยกระตุ้นตลาดได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา