ผู้เขียน หัวข้อ: ยางสกลฯน้ำตาคลอ ยางก้อนดิ่งโลละ17บ. ไม่มีเงินให้ลูกไปร.ร.-ต้องเอารถซ่อนในสวนกันถูกยึด  (อ่าน 589 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ยางสกลฯน้ำตาคลอ ยางก้อนดิ่งโลละ17บ. ไม่มีเงินให้ลูกไปร.ร.-ต้องเอารถซ่อนในสวนกันถูกยึด
วันที่ 04 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2558 เวลา 12:08:08 น


http://www.matichon.co.th/online/2015/11/14466099291446609986l.jpg height=339


ชาวสวนยางพารา ต.วัฒนา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร กว่า 100 คน เข้าพบนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวัฒนา เพื่อขอให้สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวยาง จากราคารับซื้อยางก้อนถ้วย ที่ตกต่ำอย่างหนักเหลือเพียงกิโลกรัมละ 17 บาท วอนรัฐช่วยเหลือโดยเพิ่มราคาให้อยู่กิโลกรัมละ 35-37 บาท แต่ละรายมีหนี้สินพอกพูน 5-6 แสนบาท

วันที่ 4 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมเทศบาลตำบลวัฒนา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ชาวสวนยางกว่า 100 คน ใน 9 หมู่บ้าน นำโดย นายยศ ยืนนาน อายุ 66 ปี และ นายทองสาย แสนภักดี อายุ 59 ปี ตัวแทนชาวสวนยาง ต.วัฒนา อ.ส่องดาว  รวมตัวกันเข้าพบ นายสุบรรณ ผ่องกมล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวัฒนา นายบุบผา เกษอาด รองนายกเทศมนตรี เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ โดยการสะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของชาวสวนยาง 976 ราย ในพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 10,148 ไร่ ในเขต ต.วัฒนา

เนื่องจากราคายางรับซื้อยางพาราก้อนถ้วยในพื้นที่ขณะนี้ ตกลงอย่างหนัก เหลือเพียงกิโลกรัมละ 17-18 บาท เท่านั้น หลายครอบครัวกำลังมีปัญหาด้านรายรับรายจ่าย ทั้งค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงาน หนี้สิน ธ.ก.ส.กองทุนหมู่บ้านที่หยิบยืมมา แต่ละรายมีหนี้สินพอกพูนถึงรายละ 2-5 แสนบาท ตั้งแต่ราคาผลผลิตตกต่ำ


โดยในการพูดคุยชาวสวนยางได้พูดถึงปัญหาความเดือดร้อน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อฝากผ่านนายกเทศมนตรีตำบลวัฒนาและสื่อมวลชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความเดือดร้อนให้รัฐบาลได้ยินว่า ขณะนี้ ชาวสวนยางต่างกัดก้อนเกลือกินอยู่อย่างทุกข์ยาก เพราะว่าอดทนและรอคอยมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลแต่ว่ายังไร้วี่แวว ส่วนการช่วยเหลือที่ผ่านมานั้นเป็นแค่นโยบายบรรเทาระยะสั้นเท่านั้น

ในขณะที่เมื่อต้นปี ราคายางก้อนถ้วยยังรับซื้อ กิโลกรัมละ 35-37 บาท นั่นก็ว่าลำบากแล้ว แต่ขณะนี้ ราคายางในพื้นที่เหลือเพียงกิโลละ 17-18 บาท เท่านั้น มีบางวันเหลือ 16 บาทก็มี ในเบื้องต้นชาวบ้านพยายามช่วยเหลือกันโดยการรวมกลุ่มในการกำหนดราคาและป้องกันการโกงน้ำหนัก แต่ก็ยังเดือดร้อนอยู่ดีเพราะราคาขายยางไม่ได้แม้แต่ค่าขนม 1 ถุงให้บุตรหลานได้กิน


นายทองสาย แสนภักดี อายุ 59 ปี เจ้าของสวนยาง 30 ไร่ กล่าวว่าในการรวมกลุ่มเพื่อมาพูดคุยกันครั้งนี้เป็นการมาสะท้อนปัญหาให้ผู้นำได้รับทราบถึงความเดือดร้อน ตอนนี้ทุกคนต่างพูดไม่ออก ต่างพากันอึดอัดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ พวกตนรับทราบและเข้าใจดีถึงสถานการณ์ยางพาราของโลกและในประเทศ แต่ขอได้พูดบ้าง เพราะอกจะแตกตายกันแล้ว

กรีดยางทุกวันนี้ก็ต้องจำใจกรีดขาย เพราะไม่มีอาชีพอื่น บางคนตื่นมาแทบจะไม่มีเงินให้บุตรหลานไปโรงเรียนก็มี สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจต่ออาชีพชาวสวนยางเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แต่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้เท่านั้นที่เดือดร้อน พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคอีสานก็เดือดร้อนและลำบากเช่นกัน จึงอยากเสนอให้ทางรัฐบาลมีกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรชาวสวนยาง หากราคายางตกต่ำ โดยกำหนดราคารับซื้อให้เป็นราคากลางโดยรัฐดูแลควบคุม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพึ่งจากรัฐบาลอย่างเดียว โดยรัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือกิโลกรัมละ 10-15 บาท หากช่วงไหนที่ราคายางต่ำกว่าราคากลาง และอยากสอบถามถึงโครงการการแปรรูปยางพาราใช้ในประเทศอยากเห็นมีการทำอย่างจริงจัง เช่น ทำถนน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนจะนำแนวทางไปใช้เลยมีแต่การวิจัย


ด้านนายยศ ยืนนาน อายุ 66 ปี เจ้าของสวนยาง 40 ไร่ กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.ส่องดาว ส่วนมากทำการปลูกยางเกือบร้อยละ 80 และกรีดยางแบบก้อนถ้วยขาย เนื่องจากสภาพพื้นที่ เป็นที่ดอนจะปลูกข้าวก็ลำบากเลยพากันปลูกยางกันหมด หวังว่าจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในอนาคตได้ดูแลครอบครัวส่งบุตรหลานเรียนตอนนี้ลำบากที่สุด แม้จะพยายามดิ้นรนทุกอย่างแล้วแต่ก็ไม่พอใช้จ่ายอยู่ดี เราพยายามจะประหยัดแต่ยังมีรายจ่ายในการซื้อปุ๋ย จ้างคนมากรีด เพราะลำพังจะกรีดเองไม่ไหวอายุมากแล้วเฉพาะของตนก็มีที่ยางกว่า 40 ไร่

แล้วสิ่งหนึ่งอยากสะท้อนให้รัฐได้ยิน ชาวสวนยางพยายามอดกลั้นอดทนทุกอย่างแล้ว หวังว่าราคายางจะดีขึ้นแต่กลับลดลงเรื่อยๆ หากลดลงอีกจะพากันอดตายอย่างแน่นอน ตอนนี้อยากให้รัฐหาทางช่วยเหลือชาวสวนยาง ไม่ขออะไรมากแต่อยากขอให้ขยับราคายางก้อนถ้วยขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 35-37 บาทเท่าเดิมเหมือนต้นปีที่ผ่านมา ตอนนี้รถก็ถูกยึด ส่วนที่ถูกตามยึดก็ต้องคอยเอารถไปหลบๆ ซ่อนๆ ในสวนยาง เพราะหากถูกยึดไปจะไม่มีรถขนยางไปขาย


ด้าน นายสุบรรณ ผ่องกมล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวัฒนา กล่าวว่า ทราบและเข้าใจปัญหาดีในการที่พี่น้องชาวสวนยางได้มาพูดคุยกัน อย่างน้อยก็จะได้ทราบถึงความเป็นอยู่และจะได้ผ่านเสียงสะท้อนไปถึงผู้ใหญ่ใน บ้านเมืองได้ยิน ส่วนตนในฐานะผู้นำขณะนี้กำลังคิดจะหาทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการหาอาชีพสร้างรายได้เสริมไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งเร็วๆนี้ทางรัฐบาลกำลังเตรียมการช่วยเหลืออยู่ขณะนี้ทางเทศบาลกำลัง เตรียมพร้อมในด้านการประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนเกษตรกรสวนยางที่มีเอกสาร สิทธิเพื่อรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล