ผู้เขียน หัวข้อ: "เยี่ยม"กระทุ้งรัฐดูแลยาง ระบุราคาร่วงลงหนัก30% แตะ 45 บาท/กก. ในช่วงเวลา 2 เดือน ชี้แนวโน้มราคาลงต่อเนื่อง  (อ่าน 927 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83274
    • ดูรายละเอียด
"เยี่ยม"กระทุ้งรัฐดูแลยาง ระบุราคาร่วงลงหนัก30% แตะ 45 บาท/กก. ในช่วงเวลา 2 เดือน ชี้แนวโน้มราคาลงต่อเนื่อง





นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ อดีตประธานผู้บริหารบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด เปิดเผยว่า ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2558 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 45.11 บาท/กก.ลดลง 30% ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือนจากเดือนมิ.ย.ราคาอยู่ที่ 64.44 บาท/กก. แม้ผลผลิตยางพาราในประเทศในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้จะลดลงจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกันถึง 2.1% และการลดลงของราคายางในประเทศขณะนี้ยังไม่ใช่จุดต่ำสุด ยังมีแนวโน้มไหลลงต่อเนื่อง

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางพารามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกชะลอตัวอย่างรุนแรงทำให้ความต้องการซื้อยางพาราไปใช้ผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลงอย่าง ต่อเนื่องเหลือ 41 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนส.ค.จากที่เคยอยู่ในระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนมิ.ย.ปีก่อน

นอกจากนี้ราคายางพาราถูกนำเข้าไป ซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้ากรุงโตเกียว เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่นักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรหรือซื้อขายกระดาษมากกว่าการเข้าไปซื้อขายจริง เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนในตลาดส่งมอบจริงยางพารา

ตัวแปรหลักที่นักเก็งกำไรพิจารณาในการซื้อขายสัญญายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้า คือการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้ากับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนญี่ปุ่นเป็นสำคัญที่จะถูกนำไปในการกำหนดราคาส่งมอบยางพาราในตลาดส่งมอบจริงทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง จึงมีผลทำให้ราคายางสังเคราะห์มีราคาถูกลง

การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำในตลาดส่งมอบจริงขณะนี้ยังแก้ไขได้ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขและป้องกันไม่ให้ราคายางพาราในประเทศไทยตกต่ำอีกในอนาคต เพียงแต่ร่วมมือกับ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งรวมกับไทยจะเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก

ทั้ง 3 ประเทศ ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย มีผลผลิตปีละประมาณ 12 ล้านตัน โดยประเทศ ไทยผลิตยางพาราเป็นอันดับที่ 1 ของโลกคือ 4 ล้านตัน อันดับที่ 2 คืออินโดนีเซียผลิตได้ประมาณ 3 ล้านตัน และอันดับที่ 3 คือ เวียดนามผลิตได้ประมาณ 1 ล้านตัน ทั้งสามประเทศผลิตยางพาราป้อนตลาดโลกมากกว่า 65%

ขณะเดียวกันทั้ง 3 ประเทศจะต้องจับมือตั้งตลาดยางพาราส่งมอบจริงและออกกฎหมายให้ราคายางพาราที่จะส่งออกต่างประเทศต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การแปรรูปและการตลาด ผู้ส่งออกทุกรายต้องขายยางพาราออกนอกประเทศผ่านตลาดยางพาราที่ทั้ง 3 ประเทศจัดตั้งเท่านั้น โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะดำเนินมาตรการได้

"ควรร่วมมือกับรัฐบาล 3 ประเทศ ดำเนินมาตรการจดทะเบียนควบคุมพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อผลิตยางพาราให้มีปริมาณสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดโลก จัดตั้งกองทุนบริหาร สต็อกยางพาราร่วมกัน จัดตั้งตลาดซื้อขายส่งมอบ จริงยางพาราร่วมกันและออกกฎหมายให้ราคาส่งออกต้องไปต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การแปรรูปและการตลาดซึ่งเกษตรกรชาวสวนยาง โรงงานแปรรูปและผู้ส่งออกต่างได้รับประโยชน์ทั่วหน้าและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราปลายน้ำอย่างจริงจัง"

ทั้งนี้หากเร่งดำเนินการ จะช่วยลดภาระการ อุดหนุนราคา เพราะ 3 ประเทศเป็นผู้กำหนดราคายางพาราในตลาดโลกโดยไม่ต้องไปกังวลว่า ราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าจะขึ้น จะลง เงินเยน เงินหยวนจะอ่อนหรือแข็งค่า ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นลงอย่างไร เศรษฐกิจโลกจะเติบโตหรือชะลอตัว

"ทุกอย่างอยู่ที่นโยบายที่จริงใจของรัฐบาลและการมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ด้านยางพาราเป็นที่ยอมรับ ของอุตสาหกรรมยาง ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้นำนโยบาย มาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไปบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิผล"--จบ--

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ