ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 917 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84531
    • ดูรายละเอียด
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่  28  กรกฎาคม  พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- อิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกเกือบทั่วไปและตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ หลายพื้นที่สภาพอากาศเอื้อต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า จำนวนการผลิตรถยนต์เดือนมิถุนายนมีจำนวน 151,698 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.11 และได้ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือเพียง 2,050,000 คัน จากเดิม 2,150,000 คัน โดยยังคงเป้าการส่งออกไว้ที่ 1,200,000 คัน แต่ลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศเหลือ 850,000 คัน เป็นผลจากเศรษฐกิจภายในประเทศซบเซา
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า บริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของจีนมีผลกำไรเดือนมิถุนายนลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.8857 แสนล้านหยวน หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ในเดือนพฤษภาคม- สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมันเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมันเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 108.0 จาก 107.5 ในเดือนมิถุนายน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 107.5- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน หลังจากลดลง 2 เดือนติดต่อกัน และภาคธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยรายงานระบุว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในเดือนมิถุนายน จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคมภาวะธุรกิจโดยทั่วไปปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยระบุว่า ดัชนีการผลิตประจำเดือนกรกฎาคมขยับขึ้นสู่ระดับ -4.6 ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ดัชนียังคงต่ำกว่า 0 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 34.85 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ- เงินเยนอยู่ที่ 123.13 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.53 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกันยายนปิดตลาดที่ 47.39 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันที่สูงเกินไป หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมทั้งการคาดการณ์ว่าอิหร่านอาจจะผลิตและส่งออกน้ำมันได้มากขึ้นเมื่อยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านมีผลบังคับใช้- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกันยายน ปิดที่ 53.47ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 190.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนธันวาคม อยู่ที่ 199.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 4.4 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 158.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 4.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสรายงานว่า เดือนมิถุนายนจำนวนคนว่างงานในประเทศอยู่ที่ระดับ 3,553,500 คน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 1,300 คนจากเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวนคนว่างงานปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.7
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาลงด้วย แม้ว่าหลายโรงงานยังมีความต้องการซื้อเพราะผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของทุกปี ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังคงเงียบ จะซื้อเท่าที่จำเป็นและในราคาต่ำกว่าราคาตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ ถ้าราคาสูงกว่าหรือเท่ากันก็จะไม่ซื้อ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปัจจัยภายนอกไม่เอื้อต่อราคายาง โดยเฉพาะตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน และการแข็งค่าของเงินเยน ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก หลังจากรายงานภาคการผลิตหดตัวต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาดูทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม 2558ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา