ผู้เขียน หัวข้อ: ส่งออกยางสถานการณ์พลิกกลับ ซัพพลายเริ่มน้อยกว่าดีมานด์-จับตาหนี้กรีซชี้ชะตา  (อ่าน 1102 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ส่งออกยางสถานการณ์พลิกกลับ ซัพพลายเริ่มน้อยกว่าดีมานด์-จับตาหนี้กรีซชี้ชะตา

updated: 02 ก.ค. 2558 เวลา 22:00:22 น.
 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



 
 ผู้ส่งออกรายใหญ่ชี้ราคายางเริ่ม ขยับ เหตุความต้องการใช้กับผลผลิตพลิกล็อกกลับมาสูสีกันมากขึ้น จากที่คาดผลผลิตมากเกินความต้องการ ระบุครึ่งปีหลังนี้จะดีขึ้น ด้าน สกย.มั่นใจแผนโค่นยางเพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตปี 2564 กว่า 2.8 ล้านไร่เข้าเป้าแน่ ผลผลิตไทยจะหายไปถึง 1 ล้านตัน จับตาการแก้ปัญหาหนี้กรีซตัวชี้ชะตาราคายางดร.หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่มูลค่ายางพาราส่งออกในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาถึง 34.1% เนื่องจากราคายางลดลงตลอดในช่วงต้นปี 2557-เม.ย. 2558 แต่สถานการณ์ราคายางในครึ่งปีหลังนี้น่าจะกระเตื้องขึ้น เพราะในเดือน พ.ค.ศกนี้เป็นต้นมา ราคายางเริ่มขยับตัวไปในทางบวก ผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มซื้อยางเข้าเก็บสต๊อกที่ลดลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากปริมาณการผลิตยางและความต้องการยางของโลกสิ้นปี 2557 ใกล้เคียงกันมาก จากเดิมที่คาดกันว่าจะล้นความต้องการมาก กอปรกับเกษตรกรเลิกกรีดยางจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการโค่นยางที่บุกรุกป่าและไปปลูกพืชอื่น ๆ เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น ทำให้ราคายางเริ่มกระเตื้องขึ้น

ขณะที่นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า สกย.ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการควบคุมปริมาณการผลิตยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้มีเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการเพื่อโค่นยางเก่าที่ให้ผลผลิตต่ำ แล้วกว่า 457,000 ไร่ คาดว่าสิ้นเดือน ก.ย. 2558 ซึ่งถือเป็นปีแรกของโครงการน่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 500,000 ไร่ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณปีละ 400,000 ไร่ หรือประมาณ 2.8 ล้านไร่ ตลอดระยะเวลาของโครงการคือ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2564

ทั้งนี้ สกย.มั่นใจว่า หลังจากสิ้นสุดโครงการควบคุมปริมาณการผลิตยางพาราในปี 2564 จะมีสวนยางเข้าร่วมโครงการมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้คือ 2.8 ล้านไร่ และเมื่อรวมกับสวนยางที่รัฐบาลจะตามทวงคืนจากนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าอีกประมาณ 1.2 ล้านไร่ ดังกล่าวแล้วนั้น จะทำให้พื้นที่สวนยางที่เปิดกรีดหายไปไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ หรือมีปริมาณยางหายไปจากตลาดมากกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ราคายางในอนาคตมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ก่อนหน้านี้ องค์การศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) เปิดเผยปริมาณผลผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลกในปี 2557 ที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิต 11.696 ล้านตัน ปริมาณการใช้ 11.926 ล้านตัน เทียบกับปี 2556 ผลผลิต 12.041 ล้านตัน การใช้ 11.397 ล้านตัน ความต้องการใช้ที่มากกว่าผลผลิตจึงเริ่มดึงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ให้สูงขึ้นเป็น กก.ละ 56.30 บาท จากการประมูลซื้อขายผ่านตลาดกลางยางหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เทียบกับราคาต่ำสุดช่วงเดือน ต.ค. 2557 ที่ กก.ละ 48.25 บาท

นอกจากนี้ IRSG คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตยางปี 2558 ทั่วโลกจะมี 12.071 ล้านตัน ความต้องการใช้ 12.364 ล้านตัน สต๊อกปลายปี 2558 จะลดลงเหลือ 2.39 ล้านตัน และในปี 2559 ผลผลิต 12.443 ล้านตัน ความต้องการ 12.766 ล้านตัน สต๊อกปลายปี 2559 จะลดลงเหลือ 2.067 ล้านตัน ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีสต๊อกปลายปีสูงถึง 2.915 ล้านตัน ทำให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นและจีนเร่งนำเข้ายางมากขึ้นในช่วงต้นเดือน มิ.ย.ศกนี้

ทางด้านราคาน้ำมันดิบที่ขยับตัวสูงขึ้นในขณะนี้เป็น 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่อนข้างมีเสถียรภาพ เทียบจากช่วงต้นปีราคา 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ต้นทุนถุงมือยางสังเคราะห์คู่แข่งถุงมือยางธรรมชาติมีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นหากมีการแก้ไขปัญหาหนี้กรีซได้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันอาจขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ราคายางธรรมชาติขยับตัวเพิ่มขึ้นได้