ผู้เขียน หัวข้อ: AFETหยุดซื้อขายข้าว-มันเส้น เหตุคนซื้อน้อย-TFEXไม่สนใจจ่อเลิกขายยาว  (อ่าน 590 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84347
    • ดูรายละเอียด
AFETหยุดซื้อขายข้าว-มันเส้น เหตุคนซื้อน้อย-TFEXไม่สนใจจ่อเลิกขายยาว


โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 5 พ.ค. 2558 06:15


 

 
 บิ๊ก AFET เผยหยุดซื้อขายสินค้าเกษตรหลายรายการ เหตุอยู่ระหว่างรอควบรวมกิจการกับ TFEX แต่คาดหลังควบรวมเสร็จสิ้น จะเหลือขายแค่สินค้ากลุ่มยางเท่านั้น เพราะมีปริมาณการซื้อขายมาก ส่วนข้าวขาว 5% หอมมะลิ 100% ชั้น 2 มันสำปะหลังเส้น และสับปะรดกระป๋อง เลิกซื้อขายชัวร์
นายวิวัฒน์ ตีระวนิชพงศ์ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เปิดเผยถึงกรณีที่ AFET หยุดทำการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรหลายรายการ ทั้งข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2, ข้าวขาว 5%,มันสำปะหลังเส้น สับปะรดกระป๋อง และยางแท่ง STR20 ว่า เนื่องจากขณะนี้ AFET อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการเข้ากับตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (TFEX) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยล่าสุด การยกร่าง พ.ร.บ.ซื้อขายล่วงหน้าของแต่ละองค์กรให้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน จะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่า น่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้
?ตอนนี้ AFET หยุดซื้อขายข้าวขาว 5%, ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2, มันสำปะหลังเส้น, สับปะรดกระป๋อง และยางแท่ง STR 20 ก่อน ยังคงซื้อขายเฉพาะยางแผ่นรมควันชั้น 3 เท่านั้น เพราะอยู่ระหว่างการควบรวม อีกทั้งสินค้าที่หยุดการซื้อขายมีปริมาณการซื้อขายน้อยมาก คาดว่า เมื่อการควบรวมกิจการเสร็จแล้ว TFEX อาจไม่นำเข้ามาซื้อขาย เพราะตลาดไม่สนใจ และปริมาณการซื้อขายน้อย แต่สินค้ากลุ่มยาง น่าจะซื้อขายใน TFEX แน่นอน?
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการควบรวมเสร็จแล้ว จะต้องยกเลิก AFET และให้มีตลาด TFEX เพียงแห่งเดียวในการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ซึ่งตนเสนอให้นำสินค้าข้าวเปลือกเข้ามาซื้อขายใน TFEX ด้วย เพราะตลาดจะมีความสนใจกว่าข้าวสาร อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนได้ เพราะการขายข้าวเปลือกในตลาดล่วงหน้า จะทำให้เกษตรกรรู้ว่าราคาข้าวเปลือกในอนาคตจะขึ้นหรือลง ซึ่งจะลดความเสี่ยงด้านราคาได้ แต่ขณะนี้ไม่แน่ใจว่า TFEX จะสนใจซื้อขายสินค้าเกษตรหรือไม่ ?ผมต้องการเสนอให้ TFEX ซื้อขายสินค้าเกษตรด้วย เพราะถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ยกระดับราคาสินค้า ลดความเสี่ยงด้านราคา และเป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น เพราะการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า จะต้องมีการกำหนดคุณภาพสินค้าด้วย?
นายวิวัฒน์กล่าวต่อว่า การควบรวม AFET และ TFEX มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะเกิดผลดีคือ ขนาดของตลาดใหญ่ขึ้น มีสินค้าหลากหลายเข้ามาซื้อขาย ช่วยลดต้นทุนการซื้อขายให้แก่ผู้ลงทุน ส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกตลาดซื้อขายล่วง หน้าของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากล นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายสัญญาล่วงหน้าได้สะดวกขึ้น จากการใช้ระบบและช่องทางการซื้อขายเดียวกัน อีกทั้งยังวางเงินประกันไว้เพียงแห่งเดียว ทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ การรวมกันของ 2 ตลาดจะมีโอกาสที่ผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการควบรวมยังไม่แล้วเสร็จ ผู้ลงทุนควรเตรียมตัวศึกษากฎระเบียบการซื้อขายใน TFEX โดยบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ของ AFET จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการซื้อขายใน TFEX ทั้งในด้านเอกสารสัญญาและธุรกรรม ส่วนภายหลังการควบรวมแล้ว ผู้ลงทุนใน AFET ยังสามารถใช้บริการซื้อขายล่วงหน้ากับโบรกเกอร์รายเดิมได้ หากโบรกเกอร์รายนั้นเข้าเป็นสมาชิกของ TFEX สำหรับการชำระราคาสินค้า ชำระโดยบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผู้ลงทุนต้องเปิดบัญชีใหม่ เพื่อซื้อขายใน TFEX

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) มีมติให้หยุดการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าชนิดอื่น ยกเว้นยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพราะที่ผ่านมาสินค้าเกษตรอื่นๆ แทบไม่มีการซื้อขายผ่านตลาด AFET อยู่แล้ว โดยเฉพาะข้าว จึงทำให้หลังจากนี้จะไม่มีการประกาศราคาซื้อขายข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ 100% รวมทั้งมันสำปะหลังเส้น และสับปะรดกระป๋องในตลาด AFET แต่กรมการค้าภายในจะประกาศราคาซื้อขายข้าวในตลาดที่มีการซื้อขายจริงทุก สัปดาห์อยู่แล้ว โดยรวบรวมข้อมูลการซื้อขายข้าวระหว่างโรงสีกับชาวนา และผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวจากโรงสี คาดว่า เมื่อรวมกิจการแล้ว น่าจะมีเพียงยางแผ่นรวมควันชั้น 3 ที่จะซื้อขายในกระดานของ TFEX
ผู้บริหารระดับสูงในวงการค้าข้าวกล่าวว่า แทบไม่มีการซื้อขายข้าวใน AFET อยู่แล้ว เพราะนโยบายรัฐบาลส่วนใหญ่มักแทรกแซงราคา หรือกำหนดราคาการรับซื้อข้าว เช่น โครงการรับจำนำข้าว เสมือนว่ารัฐบาลเป็นผู้รับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาสูง และราคามีความมั่นคง แน่นอน จึงไม่จำเป็นต้องใช้กลไกของตลาด AFET

แต่หากย้อนหลังไป จะพบว่ามีการซื้อขายข้าวผ่าน AFET ใน 2 ช่วงคือ ช่วงปี 51 หลังการรัฐประหารที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้น นายเกริกไกร จีระ-แพทย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ได้มีการประมูลข้าวในสต๊อกรัฐผ่าน AFET และช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการเร่งระบายข้าวในสต๊อกเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าข้าวในโครงการรับจำนำ ให้ชาวนา จึงเปิดประมูลผ่าน AFET แต่หลังจากมีการรัฐประหาร ก็ไม่มีการซื้อขายผ่าน AFET อีกเลย ส่วนราคาซื้อขายข้าวที่ AFET ประกาศทุกสัปดาห์ในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นการคำนวณราคาตามทฤษฎี ไม่ใช่การซื้อขายในตลาดจริง แต่ราคาซื้อขายจริง กรมการค้าภายใน จะเป็นผู้ประกาศ.