ผู้เขียน หัวข้อ: บัฟเฟอร์ฟันด์เข้าซื้อยาง1หมื่นตัน เหตุเกษตรกรร้องเรียน-"อำนวย"ทบทวนมาตรการ  (อ่าน 905 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84905
    • ดูรายละเอียด
บัฟเฟอร์ฟันด์เข้าซื้อยาง1หมื่นตัน เหตุเกษตรกรร้องเรียน-"อำนวย"ทบทวนมาตรการ


วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2015 เวลา 09:04 น.



"อำนวย" เตรียมให้ "บัฟเฟอร์ฟันด์" เข้าซื้อยางรอบเก็บตกปีการกรีด 2557/2558 โดยตรงจากเกษตรกร คาดรับซื้อไม่เกิน 1 หมื่นตัน พร้อมทบทวนมาตรการยางรับฤดูเปิดกรีดใหม่ให้มีปัญหาน้อยที่สุด เผยสต๊อกยางทั่วประเทศสิ้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมากว่า 1.24 แสนตัน


 


นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปิดรับซื้อยางรอบเก็บตกหรือหลังปิดกรีดยางโดยโครงการมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ฟันด์) เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนร้องเรียนเรื่องยางที่ยังตกค้างหลังบัฟเฟอร์ฟันด์หยุดรับซื้อไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนั้น ได้สั่งการให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราระดับจังหวัดรวบรวมบัญชีรายชื่อเกษตรกรและปริมาณยางที่ค้างอยู่ของจังหวัดนั้นๆ ส่งมาที่องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เพื่ออนุมัติงบประมาณรับซื้อโดยตรง ซึ่งราคาจะเท่ากับที่บัฟเฟอร์ฟันด์เคยรับซื้อ คือ ยางแผ่นดิบที่ราคา 58.55 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 63.15 บาท/กก. เบื้องต้นประเมินว่าปริมาณรวมทั้งหมดไม่เกิน 1 หมื่นตัน


นายอำนวยกล่าวต่อว่า ด้านปัญหาพื้นที่ในโกดังเก็บยางของ อ.ส.ย.ในภาคใต้ เต็มจนต้องมีการขนส่งมาเก็บในภาคตะวันออก เมื่อเปิดกรีดฤดูกาลใหม่ในเดือน พ.ค.นี้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอีก เพราะจะทยอยส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อของบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ เป็นการรับซื้อและส่งออกทันที ต่างจากปีก่อนที่หยุดส่งสินค้าไป เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบราคาในประเทศ


"ในอีก 1 เดือนครึ่งนี้เราจะทบทวนมาตรการยางต่าง ๆ หากใครมีข้อเสนอใด ๆ ก็ตามขอให้เสนอมาได้เลย เพื่อให้นโยบายรัฐปีกรีด 2558/2559 มีปัญหาน้อยที่สุด" นายอำนวยกล่าว


ทางด้าน น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการตลาดกลางยางพารา จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ยางประมูลได้ของ อ.ส.ย. ในโครงการบัฟเฟอร์ฟันด์ที่เคยตกค้างอยู่ ได้จัดการขนส่งหมดเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งในตลาดกลางภาคใต้อีก 2 แห่ง ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา และที่ จ.สุราษฎร์ธานี ด้านการรับซื้อโดยตรงรอบเก็บตกของโครงการบัฟเฟอร์ฟันด์ ทุกจังหวัดมีการตรวจสต๊อกยางที่จะจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถทำการซื้อขายและส่งมอบเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค.นี้


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า หลังฤดูปิดกรีดยางปี 2557/2558 ณ วันที่ 5 มี.ค. 2558 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการสรุปข้อมูลด้านอุปสงค์ อุปทานยางทั่วประเทศ แยกเป็นรายภาคดังนี้ คือ ภาคใต้ มีอุปทาน (การผลิต) 166,062.07 ตัน มีอุปสงค์ความต้องการเพียง 44,425.31 ตัน จึงมีสต๊อกปลายเดือน ก.พ. 2558 เท่ากับ 121,636.76 ตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุปทาน 32,735.37 ตัน อุปสงค์ 29,796.37 ตัน สต๊อกปลายเดือน ก.พ. 2558 เท่ากับ 2,939 ตัน ภาคเหนือไม่มีรายงานอุปทาน อุปสงค์และสต๊อกปลายเดือน ภาคกลาง อุปทาน 5,583 ตัน อุปสงค์ 5,583 ตัน รวมทุกภาค 69 จังหวัด มีอุปทาน 204,380.44 ตัน อุปสงค์ 79,804.68 ตัน สต๊อกปลายเดือน ก.พ. 2558 เท่ากับ 124,575.76 ตัน


 


จะเห็นได้ว่าสต๊อกปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระจุกตัวในพื้นที่ภาคใต้สูงถึง 1.21 แสนตัน ในขณะที่ราคายางแผ่นรมควันมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 58.75 บาท/กก. และราคาน้ำยางสดมีค่าเฉลี่ยที่ 42.92 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการผลิตในส่วนต้นน้ำยังมีสัดส่วนของการผลิตเป็นน้ำยางสด ร้อยละ 42.41 ผลิตเป็นยางก้อนถ้วยร้อยละ 33.24 ผลิตเป็นยางแผ่นดิบร้อยละ 14.99 และอื่น ๆ ร้อยละ 9.37 ในส่วนกลางน้ำมีการผลิตเป็นน้ำยางข้น ร้อยละ 21.06 ยางแท่งร้อยละ 37.20 ยางแผ่นรมควันร้อยละ 27 และอื่น ๆ เช่น ยางคอมพาวนด์ หรือยางผสมสารเคมีร้อยละ 14.7


 


จากโครงสร้างอุตสาหกรรมมีจำนวนผู้ขายผลิตผลขั้นต้นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ซื้อในระดับกลางน้ำจะมีจำนวนน้อยราย หรือกล่าวได้ว่าโครงสร้างการตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่ลักษณะตลาดผู้ซื้อน้อยราย






ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 26 มีนาคม 2558)