ผู้เขียน หัวข้อ: ฝ่าวิกฤติยางพาราไทยปี?58: ทางเลือก&ทางรอด ของชาวสวนยาง ท่ามกลางแรงกดดันด้านราคา  (อ่าน 1123 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84928
    • ดูรายละเอียด
ฝ่าวิกฤติยางพาราไทยปี?58: ทางเลือก&ทางรอด ของชาวสวนยาง ท่ามกลางแรงกดดันด้านราคา


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน เรื่อง ฝ่าวิกฤติยางพาราไทยปี?58: ทางเลือก&ทางรอด ของชาวสวนยาง ท่ามกลางแรงกดดันด้านราคา โดยระบุว่า ธุรกิจยางพาราของไทยเผชิญความท้าทายตลอดช่วงปี 2556-2557 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ อันส่งผลกดดันราคายางพาราไทยให้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2558 ราคายางพาราก็อาจยังให้ภาพที่ไม่สดใสนัก ซึ่งจากแนวโน้มแรงกดดันด้านราคาดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของชาวสวนยางไทยที่มีมากกว่า 6 ล้านคน หรือราวร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ทางการมีความพยายามในการบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านอุปทานยางพาราในประเทศ ด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูกยาง โครงการมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Fund) การกระตุ้นความต้องการใช้ยางภายในประเทศของรัฐบาล ที่อาจช่วยพยุงราคายางพารา ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งอาจเป็นทางเลือก และทางรอดของเกษตรกรชาวสวนยาง ในช่วงจังหวะเวลาที่ราคายางพารายังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
แรงกดดันด้านราคา...เร่งขานรับลดพื้นที่ปลูกยางพาราต่อเนื่อง                   
                จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2556-2557 โดยเฉพาะพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีนที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง อันส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการใช้ยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่ได้เร่งตัวสูง ส่งผลกดดันราคายางพาราในประเทศของไทย โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.1 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 26.1 (YoY) สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 51.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 50.9 (YoY)
           จากทิศทางราคายางพาราที่มีแนวโน้มไม่สดใสนัก รัฐบาลจึงได้ขานรับโดยการเร่งลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อลดผลผลิต ด้วยการมีมาตรการในปี 2558 ให้เกษตรกรโค่นต้นยางแก่อายุมากกว่า 25 ปี ซึ่งมีเนื้อที่ราว 3 ล้านไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ดำเนินการแล้วตั้งแต่ตุลาคม 2557) เป้าหมายโค่น 4 แสนไร่ต่อปี[1] แบ่งเป็นการโค่นปีละ 1 แสนไร่ เพื่อส่งเสริมให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ายางพารา และการโค่นอีกปีละ 3 แสนไร่ เพื่อเป็นการปลูกยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงทดแทนยางพันธุ์พื้นเมืองและปลูกในพื้นที่เหมาะสม (Zoning) โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ก็อาจช่วยลดอุปทานยางในประเทศได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังการผลิตยางพาราของไทยในระดับสูง (International Rubber Study Group: IRSG คาดว่า ในปี 2558 ผลผลิตยางพาราของไทยอาจอยู่ที่ 4.17 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 0.024 (YoY)) รวมถึงผลของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้ราคายางพาราของไทยยังคงทรงตัวในระดับต่ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยในปี 2558 อาจเคลื่อนไหวลดลงมาอยู่ในกรอบ 45-48 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.0-16.6 (YoY)       

ทางเลือก & ทางรอดชาวสวนยาง...หากหันไปปลูกพืชอื่น ในช่วงเวลาที่ราคายางยังไม่ฟื้น
??ท่ามกลางภาวะที่แนวโน้มราคายางพารายังคงทรงตัวในระดับต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางคือ การพิจารณาปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ายางพารา อาทิ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน เป็นต้น อันสอดคล้องกับทิศทางการสนับสนุนของรัฐบาลด้วยการเร่งลดพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม โดยการให้เงินชดเชยแก่ชาวสวนยางหากเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ในอัตราไร่ละ 26,000 บาท[2]
 ??หากพิจารณาในแง่ของผลตอบแทนหรือกำไรของชาวสวนยาง ในกรณีที่หันไปปลูกพืชเกษตรอื่น เปรียบเทียบกับการปลูกยางพาราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน[3] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า จากขนาดพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1 ไร่ เท่ากัน เกษตรกรที่ปลูกยางพาราจะขาดทุนจำนวน 3,244 บาทต่อไร่ ในขณะที่หากหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน เกษตรกรจะมีผลตอบแทนกำไรสูงที่สุดราว 3,906 บาทต่อไร่ ตามมาด้วย มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่มีผลตอบแทนกำไรจำนวน 1,114 และ 523 บาทต่อไร่ ตามลำดับ
?? ทั้งนี้ จากการคำนวณข้างต้น ณ จุดที่เกษตรกรที่ปลูกยางพาราขาดทุนจำนวน 3,244 บาทต่อไร่ พบว่า เป็นระดับราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 53.9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาขาดทุนในปี 2557 โดยราคาที่คาดการณ์ไว้ในปี 2558 ยังต่ำกว่า อันแสดงให้เห็นว่า หากชาวสวนยางยังคงปลูกยางพารา ก็อาจต้องประสบกับภาวะการขาดทุนเช่นในปีนี้ที่มากกว่าปีก่อนที่คำนวณไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ระดับราคาที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่ขาดทุนหรือเท่าทุน (กำไรเป็นศูนย์) จะเฉลี่ยอยู่ที่ราคาราว 66.6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งอาจเป็นระดับราคาที่มีความเป็นไปได้น้อยในปีนี้ ท่ามกลางภาวะที่ยางพาราไทยยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน               

วิเคราะห์หลากปัจจัย...ประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกปลูกพืชอื่นทดแทนยางพารา
??ด้วยผลตอบแทนกำไรที่น่าดึงดูดของปาล์มน้ำมันเมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่นในพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่เท่ากัน นับเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวสวนยาง เพื่อใช้ในการพิจารณาปรับเปลี่ยนไปปลูก โดยปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่นิยมปลูกในภาคใต้ คิดเป็นผลผลิตในภาคใต้กว่าร้อยละ 91.4 ของผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ ซึ่งการปลูกปาล์มน้ำมันจะใช้แรงงานเก็บเกี่ยว ระยะเวลาการให้ผลผลิต และการดูแลรักษาสวนน้อยกว่าการปลูกยางพารา ตลอดจนการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐ ก็อาจช่วยหนุนให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ จากความต้องการที่มีรองรับ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล
            นอกจากนี้ ผลตอบแทนกำไรที่รองลงมา คือ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หากชาวสวนยางมีข้อจำกัดในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้ง คุณภาพดิน น้ำ ความสูงต่ำของพื้นที่ และแรงงาน เป็นต้น ดังจะสรุปได้จากความน่าสนใจของพืชเกษตรอื่นที่เป็นทางเลือก ในช่วงภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำจนชาวสวนยางต้องประสบภาวะการขาดทุน ดังนี้
ตารางเปรียบเทียบสภาพตลาดของพืชเกษตรทางเลือกอื่น เมื่อเทียบกับการปลูกยางพารา
พืชเกษตร
ราคาในประเทศเฉลี่ย 2M2558*
แนวโน้มปี 2558
ปัจจัยที่น่าจับตา
ในระยะถัดไป
ปัจจัยหนุน
ปัจจัยเสี่ยง
ยางพารา
แนวโน้มราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ปี 2558 น่าจะปรับตัวอยู่ในระดับต่ำจากการเผชิญความเสี่ยงด้านอุปทานยางโลกในระดับสูง
อุปทานยางโลกที่อยู่ในระดับสูง
ยังคงน่าเป็นห่วง?กดดันราคา
- ผลผลิตยางของไทยและโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง (กลุ่มประเทศ CLMV จะเริ่มเปิดกรีดยางได้ในปี 2559 อีกทั้งจีน ปลูกยางเพื่อใช้เองมากขึ้น) อาจเป็นปัจจัยกดดันราคา
- หากความต้องการใช้ยางของจีนมีมากพอ และราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ดิ่งลงมากนัก ก็อาจช่วยพยุงราคายางของไทย
46.1 บาทต่อกก.
(-26.1 %YoY)
นโยบายรัฐบาลที่เร่งโค่นต้นยางแก่ การจัดโซนนิ่ง และการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ อาจช่วยพยุงราคายางได้บ้างระดับหนึ่ง
 
ภาวะเศรษฐกิจ
โลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ส่งผลต่อสต๊อกยางจีนที่อยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัว อาจยังคงสร้างแรงกดดันด้านราคา
ปาล์มน้ำมัน
แนวโน้มราคาผลปาล์มปี 2558 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี
จากปัจจัยหนุนในประเทศ โดยเฉพาะความต้องการไบโอดีเซล
ความต้องการพลังงานทางเลือกมากขึ้น
แต่การแข่งขันก็มีแนวโน้มรุนแรง
- นโยบายของผู้ผลิตและส่งออกหลักอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่อาจส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มไทย
- หากราคาสินค้าที่ผลิตจากพืชทดแทนในการผลิตไบโอดีเซลเปลี่ยนแปลง อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะพร้าว อาจส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมัน
5.6 บาทต่อกก.
(+4.9 %YoY)
ความต้องการในประเทศที่มีรองรับต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร (น้ำมันปาล์ม) และพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล   - ผลผลิตในประเทศที่ออกสู่ตลาดไม่สม่ำเสมอทั้งปี ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มในบางจังหวะ อาจกระทบต่อราคาในประเทศ
- ต้นทุนการผลิตของไทยยังอยู่ในระดับสูง
มันสำปะหลัง
แนวโน้มราคาหัวมันสำปะหลังสดปี 2558 ค่อนข้างดี
จากความต้องการเอทานอลที่มีรองรับ ทั้งในและต่างประเทศ 
ความต้องการเอทานอลมีต่อเนื่อง
แต่คู่แข่งอย่างเวียดนามเทียบชั้นไทยมากขึ้น
- คู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเวียดนาม มีการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อส่วนแบ่งการตลาดของไทยในจีน
- การแย่งชิงกันระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน (รัฐบาลหลายประเทศส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง) นับเป็นโจทย์สำคัญในการบริหารจัดการด้านผลผลิตมันสำปะหลังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างอาหารและพลังงาน
2.2 บาทต่อกก.
(+2.1 %YoY)
ความต้องการจากจีนที่มีรองรับ ทั้งการบริโภคแอลกอฮอล์ และการผลิตเอทานอล อีกทั้งความต้องการในประเทศเพื่อผลิตเอทานอล อาจช่วยหนุนราคามันสำปะหลังให้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีภัยแล้งในปีนี้ คาดว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี (วัดจากปริมาณน้ำในเขื่อน) โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังสูงสุดกว่าร้อยละ 51.5 อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิต
อ้อยโรงงาน
แนวโน้มราคาอ้อยปี 2558 น่าจะปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ
จากการเผชิญความท้าทายด้านอุปทานอ้อยโลกในระดับสูง
อุปทานน้ำตาลโลกในระดับสูง
และต้องติดตามมาตรการภาครัฐ
อาจเป็นปัจจัยกดดันราคา
ความคืบหน้าของมาตรการภาครัฐในการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ อาจทำให้ราคาน้ำตาลผันผวน (กระทบราคาอ้อยในประเทศ)
841.5 บาทต่อตัน
(-2.8 %YoY)
ความต้องการที่มีรองรับ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร (น้ำตาล) และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอลปริมาณผลผลิตส่วนเกินของน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง กดดันราคาอ้อยของไทย
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ: * ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2558)
            แม้การคำนวณด้านผลตอบแทนกำไรข้างต้น จากการเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นจะให้ผลกำไรเป็นบวก แต่เกษตรกรอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ด้านผลตอบแทนกำไรในการตัดสินใจร่วมด้วย อาทิ ทำเลที่ตั้ง สภาพดิน น้ำ ลม วิถีชีวิตดั้งเดิม/องค์ความรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ สภาพตลาด (ราคา/แหล่งรับซื้อผลผลิต) ต้นทุนการผลิตทั้งต้นทุนคงที่ (ที่ดิน อุปกรณ์ทางการเกษตร) และต้นทุนผันแปร (แรงงาน ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ค่าดูแลสวน) ระยะเวลาคืนทุนของพืชชนิดนั้นๆ รวมถึงแนวโน้มราคาพืชเกษตรในระยะข้างหน้า เป็นต้น ดังนั้น การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นของเกษตรกร จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมข้างต้นด้วย เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งหากคำนึงในด้านผลตอบแทนกำไร ก็เป็นเพียงหนึ่งเหตุผลที่แสดงให้เห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น
            นอกจากนี้ เกษตรกรควรมีเงินทุนสำรองส่วนหนึ่งในช่วงการลงทุนปลูกเริ่มต้น ทั้งต้นทุนคงที่ เช่น ที่ดิน พันธุ์พืช เป็นต้น และต้นทุนผันแปร ในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโต เช่น ค่าแรงงาน ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ค่าดูแลสวน เป็นต้น ซึ่งหากในกรณีที่ชาวสวนยางยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ชาวสวนยางก็ควรทำอาชีพเสริมควบคู่ด้วย อาทิ ปลูกพืชแซม (กล้วย สับปะรด ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว) ระหว่างต้นยางในกรณีต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปี ซึ่งยังไม่ให้ผลผลิต และในกรณีต้นยางอายุมากกว่า 3 ปี ควรมีการปลูกพืชร่วมยาง ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการแสงน้อย เติบโตได้ในสภาพแสงรำไร เช่น สละ ลองกอง มังคุด ไผ่หวาน เป็นต้น ก็อาจช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ในภาวะที่การดำเนินธุรกิจยางพารายังคงขาดทุนในปัจจุบัน
            ทั้งนี้ จากความพยายามของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำในปีนี้ ด้วยการเพิ่มการใช้ยางในประเทศผ่านโครงการส่งเสริมต่างๆ อาทิ การสร้างถนน ลู่ลานกรีฑา ไบค์เลน สนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ยางเคลือบสระ/บ่อกักเก็บน้ำ ยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ เป็นต้น โดยคาดว่า อาจช่วยระบายยางได้ราว 1 แสนตัน ผนวกกับการลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการโค่นต้นยางแก่ ซึ่งคาดว่า อาจลดปริมาณยางได้ราว 1.01 แสนตัน โดยรวมแล้วก็อาจช่วยดูดซับผลผลิตยางได้ทั้งสิ้นราว 2.01 แสนตัน ซึ่งก็อาจหักล้างบางส่วนกับผลของสต๊อกยางไทยที่มีอยู่ราว 3.1 แสนตัน (สต๊อกเก่า 2.1 แสนตัน และสต๊อกจากโครงการมูลภัณฑ์กันชนอีก 1 แสนตัน) และอาจช่วยลดแรงกดดันด้านราคาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ด้วยผลผลิตยางโลกที่อยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัว จึงคาดว่า ราคายางพาราของไทยอาจจะยังไม่เห็นภาพของราคาที่ดีได้ในระยะอันใกล้   
            ท้ายที่สุด ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้น นับเป็นบทเรียนสำคัญของภาคเกษตรไทย ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอุปทานในระดับสูง ขณะที่การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะข้อจำกัดของเกษตรกรแต่ละรายในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นแล้ว การตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการอุปทานผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากต้องเผชิญความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

------------------------------------------
Disclaimer
                รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไปโดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

[1]
ณ มีนาคม 2558 ชาวสวนยางได้ยื่นความจำนงในโครงการโค่นต้นยางแก่เพื่อปลูกทดแทนแล้วจำนวน 42,000 คน คิดเป็นพื้นที่ 3.1 แสนไร่ จากเป้าหมายโค่นต้นยางแก่ 4 แสนไร่ ซึ่งยังเหลือเวลายื่นความจำนงอีก 7 เดือน นับจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) คาดว่า ในปี 2558 จะมีชาวสวนยางเข้าร่วมโค่นต้นยางในโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนไร่

[2] ณ มีนาคม 2558 ชาวสวนยางได้ให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนปลูกปาล์มน้ำมันแล้วจำนวน 16,000 คน และคิดเป็นพื้นที่ราว 1.16 แสนไร่ (เงื่อนไขคือ เกษตรกรต้องมีพื้นที่มากกว่า 2 ไร่ โดยแต่ละไร่ต้องมีต้นยางปลูกกระจัดกระจายโดยเฉลี่ยมากกว่า 25 ต้น และต้นยางต้องมีอายุมากกว่า 25 ปี หรือต้นยางทรุดโทรม/ต้นยางที่ให้ผลผลิตน้อย) โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตโซนนิ่งของรัฐบาลที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของภาคใต้ เช่น เขตจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และระนอง ทั้งนี้ งบประมาณของมาตรการนี้ มาจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)
[3] ในการศึกษาครั้งนี้ จะหยิบยกเพียงพืชเกษตร 3 ชนิดที่นำมาเปรียบเทียบกับยางพาราได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เนื่องจากพืชเกษตรดังกล่าว มีผลตอบแทนที่ดี อีกทั้ง นิยมปลูกมากในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยางพาราก็ปลูกมากในภาคดังกล่าวนี้เช่นกัน




ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย     วันที่   27/03/15   เวลา   16:43:44