ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 851 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84887
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพุธที่  11  มีนาคม  พ.ศ. 2558



ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ทั่วทุกภาคของประเทศมีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีเมฆบางส่วน และมีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เดือนกุมภาพันธ์อินเดียนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0 แตะระดับ 28,806 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวลดลง ส่วนการผลิตยางลดลงร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะที่ 50,000 ตัน ขณะที่การบริโภคยางในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4.0 แตะ 82,500 ตัน


3. เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ขยับขึ้นเพียงร้อยละ 0.8 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี พร้อมนี้ได้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี


- สำนักงานงบประมาณสภาสหรัฐฯ (CBO.) ปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ปี 2558 แต่ปรับลดคาดการณ์ยอดขาดดุลระยะยาวเมื่อเทียบกับการประเมินเมื่อเดือนมกราคม


- นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของสภาแห่งรัฐบาลจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปี 2558 เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของจีนมีความแข็งแกร่งมากที่จะป้องกันความเสี่ยงขาลงได้ ทั้งนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้จะสูงขึ้นกว่าร้อยละ 7.0 เล็กน้อย


- ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ลดต่ำลงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง เนื่องจากดัชนีชี้วัดตัวอื่นยังบ่งชี้ถึงการขยายตัว


- สต๊อคสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนมกราคม ขณะที่ยอดขายลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องใช้เวลาในการชำระสต๊อคสินค้ามากที่สุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อคสินค้าคงคลังภาคค้าส่งประจำเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ส่วนยอดขายภาคค้าส่งลดลงร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 หลังจากหดตัวลงร้อยละ 0.9 ในเดือนธันวาคม


- สมาพันธ์ธุรกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (NFIB) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจขนาดย่อม เพิ่มขึ้น 0.1 จุด อยู่ที่ 98.0 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ท่ามกลางสัญญาณภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งหนุนมุมมองที่ว่าการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.67 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 121.32 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.36 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 48.29 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.71 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ อันเป็นผลมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ราคาน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากการคาดการณ์ว่าสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะสูงขึ้น


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 56.39 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- ลิเบียประกาศปิดบ่อน้ำมัน 2 บ่อทางตะวันออกของประเทศ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีจากกองกำลังของกลุ่มกบฏ


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 210.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.7 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 206.8 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.9 เยนต่อกิโลกรัม


- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 171.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมันกล่าวว่า จะไม่มีการมอบเงินช่วยเหลือให้กรีซจนกว่ากลุ่มสถาบันเจ้าหนี้จะเห็นพ้องกันว่ากรีซได้ยื่นแผนปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่ได้สัญญาไว้ โดยกรีซจะเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจต่อสหภาพยุโรป (EU.) ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF.) พิจารณาในวันนี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่ยอมรับแผนการปฏิรูปดังกล่าว


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะปริมาณยางลดลง โดยคาดว่าผลผลิตน่าจะเหลือประมาณร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับฤดูกาลปกติ อย่างไรก็ตาม ยังคงมียางเก่าที่เก็บในสต๊อคเพื่อเก็งราคาในช่วงฤดูยางผลัดใบ


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมัน โดยเฉพาะตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ หลังจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 8 ปี เมื่อวานนี้ ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลต่อสถานการณ์ด้านการเงินของกรีซ และจีนผู้ใช้ยางอันดับหนึ่งของโลกรายงานข้อมูลที่ส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางที่ลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคายางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา