ผู้เขียน หัวข้อ: ผลเงินไม่ชัด-เมินข้อเสนอภาคเอกชน-หั่นเป้าส่งออกเหลือ2.5%?  (อ่าน 406 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84889
    • ดูรายละเอียด
ผลเงินไม่ชัด-เมินข้อเสนอภาคเอกชน-หั่นเป้าส่งออกเหลือ2.5%


วันพุธ ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.



ผลเงินไม่ชัด-เมินข้อเสนอภาคเอกชน-หั่นเป้าส่งออกเหลือ2.5%


กกร.ผิดหวังทีมเศรษฐกิจ


ภาคเอกชน 3 สถาบัน ผิดหวังทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรม ซ้ำสิ่งที่เอกชนเสนอไม่ได้รับการตอบรับ พร้อมถอดใจหั่นเป้าส่งออก เหลือแค่2-2.5% จากเดิมคาดว่าจะโต 3.5% ส่วนการเบิกจ่ายงบรัฐล่าช้า การบริโภคนิ่ง เอกชนไม่ลงทุน เหลือแค่ภาคท่องเที่ยวที่โต


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ที่ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย
ว่า รวมทั้งได้มีการปรับลดตัวเลขการส่งออกลงเหลือ 2.0-2.5% จากเดิมที่ตั้งไว้ 3.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ และค่าเงิน ส่งผลให้การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมติดลบ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการส่งออก เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้รถของประชาชนโดยเฉพาะรถยนต์ประเภทประหยัดพลังงาน( อีโคคาร์) โดยจากนี้ไปจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการส่งออกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นรายไตรมาสแทนที่จะเป็นรายเดือน


ทั้งนี้ที่ประชุม กกร.ยังเป็นห่วงการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐที่จนถึงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 13 หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยปีที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายได้ถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกันถือว่าน้อยกว่ามาก ดังนั้นจึงมองว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของงบประมาณ(ต.ค.2557-มี.ค.2558)จะอยู่ที่ 30% ของงบทั้งหมดอาจจะไม่ถึง


นายสุพันธุ์กล่าวว่า ดังนั้นควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรจะมีส่วนบรรเทาปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำได้ แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในวงจำกัดเพราะเป็นการกระตุ้นอำนาจซื้อในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในบางภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป และจีนที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกของประเทศต่อไป


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกกร. ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.5% ซึ่งเป็นเป้าเดิมที่วางไว้ต้นปี เนื่องจากปัจจัยจากการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 15.4% นอกจากนั้นการบริภาคภาคเอกชนและการลงทุนของภาคเกชน แม้จะไม่เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ไม่ติดลบ


?ถ้าจะให้คะแนนผลงานรัฐบาลนั้นคงไม่มีการให้คะแนนใดๆ แต่หากมองในแง่ของผลงานรัฐบาลเองถือว่าความตั้งใจรัฐบาลมีค่อนข้างสูง แต่ผลงานที่ดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้นยังถือว่ายังไม่มากนักโดยเฉพาะการดูแลภาวะเศรษฐกิจซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและทุกประเทศก็ประสบปัญหาเช่นกันดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมาแก้ไขเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้หลายเรื่องที่เอกชนเสนอไปก็ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก เช่น การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นวาระแห่งชาติ
ขั้นตอนต่างๆ ยังไม่คืบหน้า?


นอกจากนี้ ประชุมกกร.ได้เห็นชอบตั้งคณะทำงาน1 ชุด เพื่อมาดูแลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายทางด้านธุรกิจเพื่อติดตามความคืบหน้าให้เกิดรูปธรรมเพื่อที่จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะกฎหมายที่สำคัญ7 เรื่อง ได้แก่ 1.กฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ 2.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกันสินทรัพย์จำนอง 3.กฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล 4.กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5.กฎหมายศุลกากร 6.กฎหมายเกี่ยวกับตั๋วเงิน และ 7.กฎหมายล้มละลาย


นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช. คลัง เปิดเผยว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 27 ก.พ. 2558 งบรวมวงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 42.6% เป็นงบประจำ 2.12 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1.01 ล้านล้านบาท หรือ 47.8% และงบลงทุน 4.44 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 8.05 หมื่นล้านบาท หรือ 17.9%


ในส่วนการเบิกจ่ายต้องดูในภาพรวม ไม่ควรดูแต่งบลงทุนอย่างเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ล่าช้า แต่ภาพรวมการเบิกจ่ายไม่ได้ล่าช้ามีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก นอกจากนี้การทำสัญญาผูกพันงบลงทุนปีงบประมาณ 2558 ถึงวันนี้ทำได้ 1.3 แสนล้านบาท หากเทียบกับ 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมาทำสัญญาผูกพันได้เพียง 3-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากเทียบกับช่วงเดียวกัน การทำสัญญาผูกพันงบลงทุนในปีนี้ถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 แสนล้านบาท ไม่ได้ล่าช้าอย่างที่ภาคเอกชนมองกัน


นอกจากนี้ การเร่งเบิกจ่ายไม่ได้มีแต่งบประมาณปี 2558 เท่านั้น ยังมีเงินเหลื่อมปี เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็ง มาตรการเพิ่มรายได้ให้ชาวนาและชาวสวนยาง เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ และ เงินทุนหมุนเวียน รวมกันเป็นวงเงินถึง 3.46 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 1.43 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.3% ของวงเงินทั้งหมด


นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนหมุนเวียนที่มีเหลืออยู่ 95 กองทุน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากการเข้าไปดูฐานะการดำเนินงานพบว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก จึงมีการเรียกคืนให้นำส่งเข้าคลังจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะส่งคืน 2.8 หมื่นล้านบาทภายใน ก.ย. 2558 นี้ ส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านบาท ยังมีปัญหาข้อกฎหมายต้องหารือกับกองทุนเพื่อให้นำส่งเข้าคลังต่อไป ซึ่งจะช่วยลดการกู้เงินเพื่อขาดดุลงบประมาณ




ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า