ผู้เขียน หัวข้อ: "บิ๊กเอกชน" ส่องเศรษฐกิจไทย ห่วงค่าบาท-ฝากแก้สินค้าเกษตร  (อ่าน 660 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84531
    • ดูรายละเอียด
"บิ๊กเอกชน" ส่องเศรษฐกิจไทย ห่วงค่าบาท-ฝากแก้สินค้าเกษตร



ทิศทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ ทำให้ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่น และประเมินสถานการณ์ลำบาก แม้ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น แต่ทั้งนี้ รัฐบาลต้องผลักดันการลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้า ซึ่งที่ผ่านมายังล่าช้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตาม


"ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเอกชน ขนาดใหญ่หลายแห่ง พบว่าแม้ส่วนใหญ่จะมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตขึ้นกว่าปี 2557 แต่ยังห่วงปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาทจนส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าไทย


นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ประเมินภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ว่าบริษัทยังสามารถดำเนินการตามแผนธุรกิจที่วางไว้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการปรับแผน อย่างซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายลดลง 6-8% แล้วแต่ตัวสินค้า แต่บริษัทเดินกำลังการผลิตเต็มที่ โดยบางส่วนส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งไปได้ดีมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ส่งไปถึงฟิลิปปินส์ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีหลังเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตมาก จีดีพีโต 7-8% ซึ่ง SCG ทำตลาดไว้ค่อนข้างดี


SCG ให้รอดูผลอีก 2 เดือน


สำหรับ ตลาดในประเทศแม้ไตรมาส 4/2557 ดีมานด์วัสดุก่อสร้างและปูนซีเมนต์จะอ่อนตัวลง แต่ถึงเดือน ธ.ค.เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากนั้นช่วงเดือน ม.ค. 2558 แม้จะอ่อนตัวลงอีกครั้ง แต่หลังเดือน ม.ค.จึงกลับมาดีขึ้น ส่วนจะดีต่อเนื่องหรือไม่ต้องมองอีก 2 เดือน เพราะปีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าคงต้องพึ่งภาครัฐ ในเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ที่จะมีเข้ามา


"เห็นได้ชัดเจนว่าช่วงไตรมาส 4/2557 ในส่วนของภาคเอกชน เช่น การสร้างโรงงาน แวร์เฮาส์ โครงการคอมเมอร์เชียลบิลดิ้ง ยังติดลบพอสมควร บ้านก็ติดลบนิดหน่อย แต่ไม่มาก ภาครัฐก็ใช้วัสดุก่อสร้างและซีเมนต์น้อย ปีนี้จึงคาดหวังให้มีการเบิกจ่ายงบฯมากขึ้น คิดว่าจะเริ่มเห็นดีขึ้นชัด ๆ น่าจะปลายไตรมาส 1 ประมาณ มี.ค. และไตรมาส 2 จะดีขึ้น แต่ของเราพอปลายไตรมาส 2 ก็เริ่มพ้นหน้าขาย เพราะฝนตก"


"กานต์" ห่วงค่าบาทแข็ง


นาย กานต์กล่าวว่า ยอมรับว่าปีนี้ที่หลายฝ่ายกังวลมากเป็นเรื่องค่าเงินบาท เพราะโดยข้อเท็จจริงจากที่ติดตามมาตลอด ปี 2557 หากไม่นับเงินดอลลาร์ซึ่งแข็งค่ามากอยู่แล้ว สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดคือ ดอลลาร์ฮ่องกงที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐ เบอร์สองคือเงินบาทไทย ขณะที่เงินยูโรอ่อนลงเยอะ เงินเยนก็เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสกุลเงินในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้า เงินด่องของเวียดนาม รูเปียห์อินโดฯอ่อนค่ามาก มีเพียงเงินเปโซของฟิลิปปินส์ที่แข็งใกล้เคียงกับค่าเงินบาท


"ปีที่แล้วเงินบาทเราแข็งที่สุดกว่าทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเทียบกับเงินสกุลใดก็ตาม ถึงปีนี้แม้ดีขึ้นบ้าง แต่ถัวเฉลี่ยในอาเซียนเรายังแข็งกว่าเขาอยู่ จริง ๆ เรื่องค่าเงินบาทมีคนพูดเยอะ และมีผลกับการส่งออก ผมคิดว่าต้องช่วย ๆ กันดูว่าเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน"นายกานต์กล่าวและว่าหลายประเทศเริ่มกังวล เรื่องเงินฝืด ซึ่งน่ากลัวกว่า เพราะคนไม่กล้าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน เพราะปีที่แล้วทั้งปีไม่ถึง 1% ถือว่าน้อยมาก แต่ภาครัฐต้องมีการใช้จ่ายอย่างที่คาดไว้ แล้วการลงทุนภาคเอกชนจึงจะตามมา คงต้องรอครึ่งหลังของปีจะชัดเจนขึ้น ในอาเซียนจะดีหมด เอสซีจีลงทุนไปในอาเซียนมาก และคิดว่ามาถูกทางแล้ว


"บุญทักษ์" ชี้นโยบายรัฐถูกทาง


นาย บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจของทีเอ็มบี คาดว่าการขยายตัวจีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3.5% การส่งออกขยายตัว 1% ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ติดลบ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนอาจจะไม่โตมากนัก เพราะหนี้ครัวเรือนยังมีมาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปัจจุบันก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากได้ใช้กำลังการผลิต 60% แล้ว ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ


"ตอนนี้ภาครัฐก็ทำ หลายเรื่องเพื่อเป็นการขับเคลื่อนด้านการลงทุนให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งภายในไตรมาส 1-2 นี้ น่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น ส่วนการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางของประเทศก็น่าจะเห็นชัดเจนในราว ๆ ครึ่งหลังของปี"


การดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลในปัจจุบัน จึงเดินมาถูกทาง เพราะเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เศรษฐกิจฟังก์ชั่น (ขับเคลื่อนได้) และมีระบบกลไกตลาดที่ทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา ต่างจากการใช้ประชานิยม ที่รวดเร็วแต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว และไม่ได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


2 โจทย์ใหญ่ต้องเร่งแก้


"เท่าที่ผมดูรัฐบาลนี้ นายกฯ ได้สั่งการทำหลายอย่างที่รวดเร็ว และเป็นสิ่งที่ควรทำมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครทำ เช่น การสร้างนวัตกรรม การผลักดันร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นต้น"


อย่างไรก็ตาม มีโจทย์ยาก 2 เรื่อง ได้แก่ ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง แม้จะเป็นผลดีทำให้จีดีพีขยายตัว 0.2-0.5% ในฐานะที่เป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่ก็มีผลกระทบกับภาคเกษตรซึ่งเป็น 40% ของประชากรไทย และมีสัดส่วนในจีดีพี 10% อีกเรื่องคือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่เงินบาทแข็ง แต่คือเงินบาทแกว่ง และการลดดอกเบี้ยนโยบายโดยหวังให้เป็นเครื่องกระตุ้นระยะสั้น


"ทศ" ยันเซ็นทรัลเดินหน้าลงทุน


ขณะ ที่นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้โดยภาพรวมของกำลังซื้อเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองจะไม่เอื้อ สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลปีที่ผ่านมาเติบโตได้เพียง 6.6% หรือ 2.49 แสนล้านบาท แต่สัญญาณเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น กว่า 40% บวกกับภาพการลงทุนของภาครัฐผ่านหลาย ๆ โครงการซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และกลุ่มเซ็นทรัลยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ผ่านงบฯลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท สำหรับปีนี้ โดยคาดว่ายอดขายจะขยายตัว 2.86 แสนล้านบาท จากการขยายสาขาและดีลการควบรวมกิจการ (M&A) ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา


ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาโต


ด้าน นายนัดดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในยุโรป และญี่ปุ่น คือตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ส่งผลให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดี อัตราการบริโภคของคนไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา


สำหรับไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์นั้นขอจับตาดูสถานการณ์ของประเทศและเศรษฐกิจโลกสัก 6 เดือนก่อน หากทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็พร้อมลงทุนต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง


นาย จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย มองว่า เศรษฐกิจในประเทศน่าจะยังขยายตัวได้ดีตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ โดยภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังเติบโตใช้ได้ แม้ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปจะหดตัว แต่ยังดีที่มีนักท่องเที่ยวจากตลาดเอเชียตะวันออกเข้ามาชดเชย


แอร์เอเชียชี้เศรษฐกิจไทยยังไปได้


สอด คล้องกับความเห็นของนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้ แม้ภาพรวมจะเผชิญภาวะเงินฝืด แต่คนไทยหลาย ๆคนยังมีเงิน พฤติกรรมของคนไทยที่แสดงออกมาคือยังจับจ่ายใช้สอยสินค้าท่องเที่ยวอยู่ เพราะอัดอั้น ไม่ได้ท่องเที่ยวกันมานาน หลังจากปีที่แล้วต้องเผชิญปัญหาการเมือง พอดีมานด์การเดินทางกลับมา การแข่งขันด้านราคาตั๋วเครื่องบินก็ลดลงมาก ปีนี้ไม่น่าจะเห็นภาพการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงเหมือนปีที่แล้ว


นาย ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า ศักยภาพของประเทศไทยยังคงมีสูง เมื่อดูเรื่องของความมีเสถียรภาพ สภาพคล่องของสถาบันการเงิน ตลาดพันธบัตร หุ้นกู้ และตลาดอนุพันธ์ เป็นที่รู้จักของนักลงทุนต่างชาติ ความแตกต่างตรงนี้จึงทำให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนไทยมากขึ้น


"ผมเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ที่ 4-6% โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ดึงดูดนักลงทุนจากทั้งญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกาเข้ามา เป็นความพยายามที่ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือก"


ขณะที่นาย โทนี เฟอร์นันเดส CEO แอร์เอเชีย กล่าวว่า ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตลอด และไม่ได้ทำให้ทัศนคติของตนที่มีต่อประเทศไทยเปลี่ยนไป ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจต่อนักท่องเที่ยว ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจไปอยู่ในมือใครก็ตาม และแน่นอนว่า แอร์เอเชียจะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เปิดเผยว่าการเร่งรัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ประชุมร่วมครม.-คสช. รายงานความคืบหน้าว่าได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5 คณะ ทั้งระดับรัฐบาล คสช. สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง และระดับจังหวัด ให้ทุกคณะช่วยกันทำงาน


"กฎระเบียบปกตินั้นไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาพิเศษในช่วงที่ต้องแก้ด้วยความรวด เร็ว เช่น ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กระทรวงการคลังไปปรับลดขั้นตอนเพื่อให้การเบิกจ่ายทำได้รวดเร็วขึ้น"


 


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์(26 ก.พ 58)